วสท.เตือนครม.อนุมัติโครงการน้ำต้องรอบคอบ ชี้โมดูลA5เสี่ยงล้มมาก
วสท.แถลงย้ำ 7 ข้อทักท้วง จี้รบ.ทบทวน ชะลอบางโมดูล ออกโรงเตือน ครม.พิจารณาโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านต้องรอบคอบ -รับผิดชอบยกคณะ ย้ำชัด โมดูล A5 เสี่ยงเสียหายมากสุด
วันที่ 17 มิถุนายน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดแถลงความเห็นต่อโครงการระบบการบริหารจัดการทรัพยาดรน้ำอย่างยั่งยืนฯ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยมี นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายก วสท. รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ศ.ดร.เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ ที่ปรึกษานานก วสท. และนายประเสริฐ โพธิวิเชียร นักวิชาการอาวุโส ร่วมแถลง
นายสุวัฒน์ กล่าวว่า วสท.มีกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากงานส่วนใหญในโครงการเกี่ยวกับวิศวกรรม ซึ่ง วสท.เห็นต่างกับรัฐบาล จึงอยากให้ ครม.พิจารณาโครงการด้วยความมรอบคอบ เนื่องจากในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ ศาลปกครองจะอ่านคำพิพากษาที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้ จึงเป็นกังวลว่าโครงการอาจสะดุดได้
"หาก ครม.พิจารณาอย่างรอบคอบจะเป็นประโยชน์ในการอ่านคำพิพากษา แต่หากโครงการไม่เรียบร้อย ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น ประชาชนจะขาดความเชื่อมั่นในโครงการอื่นๆ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทจะดำเนินการยากขึ้น"
นายสุวัฒน์ กล่าวต่อว่า เท่าที่ติดตามเทคนิค วิธีการในโครงการฯ ไม่เห็นว่ามีเทคโนโลยีใดใหม่ หรือวิเศษเกินกว่าที่วิศวกรไทยทำได้
"วสท.อยากเห็นความสำเร็จของโครงการแบบที่เป็นไปตามหลักวิศวกร ซึ่งมีกรอบวางไว้ชัดเจนแล้ว ทั้งนี้ โครงการที่ผ่านมาที่มีปัญหาส่วนใหญ่ไม่ใช่ปัญหาด้านวิศวกรรม แต่เป็นปัญหาด้านนโยบาย การไม่ฟังเหตุผล ไม่ตรงไปตรงมาในการดำเนินโครงการ"
อย่างไรก็ตาม วสท.จะไม่เข้าไปร่วมเป็นที่ปรึกษาในโครงการฯ เพราะอยากเป็นองค์กรกลางที่คอยติดตาม ตรวจสอบ และแสดงความเห็นต่อโครงการเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วสท.มีความกังวลในกรณีว่าหาก ครม.อนุมัติโครงการ มีการลงนามในร่างสัญญาแล้ว ตามกรอบวิศวกรรมผู้รับเหมามีสิทธิ์เบิกเงินล่วงหน้า หากเบิก 15% เท่ากับ 5 หมื่นล้านบาท โดยที่ยังไม่ได้ศึกษากระทบทางสิ่งแวดล้อม มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ไม่ได้ และรัฐจะเป็นผู้เสียประโยชน์
ด้านรศ.ดร.สุวัฒนา กล่าวว่าถึงประเด็นที่ วสท.ทักท้วงว่า รัฐบาลควรรับฟังจากผู้มีประสบการณ์ ทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพใน 7 ประเด็น กล่าวคือ
1.การดำเนินการที่ผิดขั้นตอน ขาดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของระบบลุ่มน้ำที่สัมพันธ์กันแต่ละโมดูล และหากเกิดกรณีต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ที่ทำให้ไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ จะมีผลต่อระยะเวลาของสัญญา ซึ่งหากมีการเรียกร้องค่าชดเชย ราคาเสนอสูงสุด (Gurantee Maximum Price : GMP) ไม่สามารถรวมค่าชดเชยนี้ได้
2.การใช้ design and built ควรจะใช้กับโครงการที่มีความชัดเจน ผ่านการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบด้านต่างๆ และรับฟังความเห็นประชาชน และสามารถควบคุมราคาและระยะเวลาการก่อสร้างได้ จึงไม่ควรนำมาใช้ในโครงการนี้ โดยเฉพาะโมดูล A5
3.ระยะเวลาดำเนินโครงการของโครงการขนาดใหญ่ทั้ง 9 โมดูล ในกรอบเวลา 3-5 ปีนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้
4.โครงการย่อยในโมดูลต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่หน่วยงานประจำดำเนินการไว้แล้วตามแผนงบประมาณปกติ ไม่ได้มีโครงการใหม่ แต่ที่ดำเนินการต่อไม่ได้เนื่องจากติดปัญหาด้านสังคม มวลชน ไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิคแต่อย่างใด
5.ความสัมพันธ์ในแต่ละโมดูลยังไม่ได้พิจารณาแบบบูรณาการ
6.การดำเนินโมดูล A5 เป็นการดำเนินงานที่สุ่มเสี่ยงต่อความสำเร็จมากที่สุด เนื่องจาก การผันน้ำข้ามลุ่มฝั่งตะวันตกเป็นเรื่องอ่อนไหวเชิงวิศวกรรม เชิงพื้นที่ และความขัดแย้งของประชาชน โครงการผันน้ำฝั่งตะวันตกหากก่อสร้างไม่เสร็จนอกจากจะไม่แล้วเสร็จแล้ว จะไม่ช่วยบรรเทาอุทกภัยได้ รวมถึงจะมีปัญหาในการเวนคืนที่ดิน
7.การคัดเลือกผู้รับจ้าง เปิดซองราคาไม่ใช่กระบวนการของหาจ้างผู้รับเหมา จึงเป็นที่มาให้ราคาโครงการที่นำเสนอสูงเกือบเท่ากรอบวงเงินกู้
วสท.จึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารโครงการฯ ทบทวนและชะลอในบางโมดูลที่ไม่มีความชัดเจน และมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง รวมถึงโครงการที่มีแนวโน้มขัดต่อระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง และอาจขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
ด้านนายคมสัน กล่าวว่า การที่รัฐบาลไม่หยิบยกความเห็นประชาชน และนักวิชาการไปพิจารณา มองเห็นถึงความริบหรี่ของโครงการ รัฐบาลควรตอบข้อสงสัยและทำความกระจ่างให้เกิดขึ้น พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า โมดูลทั้งหมดมีการวางแผนประเมินองค์รวมแล้วหรือไม่ เพราะมีแต่การเตรียมจะศึกษาในรายโครงการย่อยๆ ไม่เช่นนั้นแผนนี้จะไม่สามารถแก้ปัญหาองค์รวมได้ หรือแก้ได้แต่จะก่อปัญหาใหม่ขึ้นมา เนื่องจากเป็นการเปลี่นนแปลงทิศทางน้ำ
ขณะเดียวกัน มีรายงานด้วยว่า เครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านแผนจัดการน้ำ กบอ. ที่ประกอบด้วย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย Thaiflood.com และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์ "จับตา ผ่าทุจริต แบ่งเค้กโครงการน้ำ 9 โมดูล 3 แสนล้าน" ภายหลังได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ทบทวนขั้นตอนให้ถูกต้อง ซึ่งล่าสุด กบอ. เดินหน้าโครงการ และมีการประกาศรายชื่อเอกชนที่ได้รับงานและจะนำเข้า ครม.ในวันที่ 18 มิถุนายนนี้
ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล 14.30 น.วันนี้ โดยตั้งข้อสังเกตถึงรูปแบการจัดซื้อจัดจ้างนี้มีลักษณะเป็นการ "แบ่งเค้กที่ลงตัว" ทุกบริษัทต่างได้รับงาน ต่างจากการจัดซื้อจัดจ้างทั่วไป เหมือนเป็นการเอื้ออำนวยต่อการสมยอม โดยกำหนดราคาสูง และเป็นกระบวนการที่แสดงให้สาธารณชนเห็นว่า เกิดการแข่งขันขึ้นจริง และหาก ครม.อนุมัติโครงการ จะเกิดนิติสัมพันธ์ในโครงการขนาดใหญ่ที่ยังมีความคลุมเครือ ซึ่ง ครม. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งคณะ