"สมเกียรติ"เขียนเฟซบุ๊คเตือนสื่ออย่าใช้ "รัฐไทย" ตามบีอาร์เอ็น
นับตั้งแต่มีปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เริ่มมีการสื่อสารเชิงโต้แย้งในแง่ความชอบธรรมของบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทยจากกลุ่มขบวนการที่ไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของรัฐบาลไทย
คำว่า "รัฐไทย" จึงถูกนำมาใช้บ่อยครั้งเพื่อเรียก "ฝ่ายไทย" ที่ไม่ใช่แค่ "รัฐบาลไทย" แต่หมายถึงองคาพยพต่างๆ ของไทย รวมทั้งสังคมไทย หรืออาจจะหมายถึง "ประเทศไทย" ด้วย
ยิ่งฝ่ายไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของรัฐบาลไทยเปิดตัวว่าคือกลุ่ม "บีอาร์เอ็น" จากการทำข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับผู้แทนรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ก็ยิ่งมีการใช้คำว่า "รัฐไทย" บ่อยขึ้น
ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง และอดีตสมาชิกวุฒิสภา เขียนข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว "สมเกียรติ อ่อนวิมล / Somsiat Onwimon" เมื่อ 16 มิ.ย.2556 โดยใช้หัวข้อว่า "ประเทศไทย" ใหญ่กว่า "รัฐไทย" แสดงความไม่เห็นด้วยหากสื่อมวลชนไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องเลือกใช้คำว่า "รัฐไทย" แทน "ประเทศไทย" ดังนี้
เมื่อจะหมายถึง "ประเทศไทย" หรือ "ราชอาณาจักรไทย" สื่อมวลชนไทยต้องไม่ใช้คำว่า "รัฐไทย" ตามนิยามของกลุ่ม BRN แต่ควรใช้คำว่า "ประเทศไทย" จึงจะถูกต้อง เพราะเหตุผลดังนี้ :
1. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 นิยามคำว่า "ประเทศ" เป็นคำนาม แปลว่า "บ้านเมือง" หรือ "แว่นแคว้น" ส่วนนิยามศัพท์ตามกฎหมาย พจนานุกรมฯก็แปลว่า "ชุมนุมแห่งมนุษย์ซึ่งตั้งมั่นอยู่ในดินแดนอันมีอาณาเขตแน่นอน มีอำนาจอธิปไตยที่จะใช้ได้อย่างอิสระ และมีการปกครองอย่างเป็นระเบียบเพื่อประโยชน์ของบรรดามนุษย์ที่อยู่ร่วมกันนั้น, รัฐ ก็เรียก" (หน้า 661)
2. ส่วนคำว่า "รัฐ" พจนานุกรมฯ นิยามว่า เป็นคำนาม แปลว่า "แคว้น เช่นรัฐปาหัง, บ้านเมือง เช่นกฎหมายสูงสุดของรัฐ, ประเทศ เช่นรัฐวาติกัน" (หน้า 941)
3. ตามพจนานุกรมฯ แม้จะอธิบายว่า "รัฐ" จะหมายถึง "ประเทศ" ก็ได้ แต่ "รัฐ" จะมีขนาดเล็กกว่า "ประเทศ" หากใช้โดยเปรียบเทียบ ดังที่ยกตัวอย่างรัฐปาหัง และ รัฐวาติกัน (ราชบัณฑิตยสถานมีเหตุผลอันใดไม่ปรากฏที่เลือกยกตัวอย่างรัฐปาหังของมาเลเซียในพจนานุกรมไทย ซึ่งมีปัญหาเรื่อง "รัฐปัตตานี" กับพวกกลุ่มแยกดินแดนที่อยู่ในการปกป้องของมาเลเซีย ณ เวลานี้)
4. คำว่า "ประเทศ" เป็นภาษาสันสกฤต และใช้ในภาษาฮินดีในประเทศอินเดียปัจจุบัน
5. พจนานุกรม The Oxford Hindi-English Dictionary เรียบเรียงโดย R.S. McGregor นิยามคำ "ประเดช/ประเทศ" (Pradesh) ว่า "a mandate" และ คำว่า "ประเดชิค" (Pradeshik) ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ ก็อธิบายความหมายว่า หมายถึง “1. Regional; having to do with a state; provincial. 2. Territorial (as national rights) (หน้า 669) ในประเทศอินเดียปัจจุบันนิยมใช้คำว่า "ประเทศ" (Pradesh) ตามหลังชื่อรัฐต่างๆ เช่น อุตรประเทศ (Uttar Pradesh / รัฐทางเหนือ), มัธยประเทศ (Madhya Pradesh / รัฐภาคกลาง), หิมาจัลประเทศ (Himachal Pradesh / รัฐหิมาจัล / รัฐแถบเทือกเขาหิมาลัย) เพราะรัฐเหล่านี้มีประวัติความเป็นมาและมีขนาดรวมทั้งเอกลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมใหญ่ไพศาลเทียบเป็นประเทศได้ สำหรับแคว้นหรือรัฐใหญ่ เช่นแคว้นเบงกอลตะวันออก ของชาวเบงกาลีมุสลิม แยกออกมาเป็น "เบงกอลประเทศ" (Bengal Pradesh) หรือ "บังกลาเดช / บังคลาเทศ" (Bangladesh) คือประเทศบังคลาเทศในปัจจุบันนี้นั่นเอง
6. "ประเทศไทย" (Thailand) หากจะอยากเขียนใหม่ว่า "ไทยประเทศ" / "Thai Pradesh" ก็ย่อมได้ ซึ่งหมายถึงไทยทั้งประเทศที่อำนาจการปกครองรัฐของรัฐบาลไทยครอบคลุมดินแดนทั้งหมดที่มีอยู่ตามเส้นกั้นพรมแดน ตามแผนที่ปัจจุบัน รวมถึงดินแดนที่ในสมัยโบราณอาจเคยเป็นแคว้นอิสระหรือเมืองโบราณ เช่น ล้านนา, ชากังราว, ปัตตานี แต่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย หรือ "ประเทศไทย" แล้ว คำว่า "ประเทศ" ที่ไทยยืมมาใช้จากภาษาสันสกฤต จึงมีความหมายเป็นประเทศใหญ่สมบูรณ์ มากกว่าเป็นเพียง "รัฐไทย"
7. คำว่า "รัฐไทย" ที่กลุ่ม BRN แยกดินแดนปัตตานีใช้เรียกประเทศไทยนั้น มีความหมายว่าเป็นอำนาจการปกครองของไทย ที่เป็นเพียง "รัฐไทย" ที่ไม่รวมถึง "รัฐปัตตานี" ซึ่งพวก BRN ต้องการแยกดินแดนอิสระจากประเทศไทย ดังนั้นสำหรับพวก BRN "รัฐไทย" จึงไม่เท่ากับ "ประเทศไทย" แต่เท่ากับ "ประเทศไทย" ลบ "จังหวัดปัตตานี" เหลือเป็น "รัฐไทย"
8. "รัฐไทย" จะมีขนาดพื้นที่เล็กลงไปเรื่อยๆในอนาคต หากจังหวัดปัตตานี แยกออกไปเป็น "รัฐปัตตานี"; จังหวัดเชียงใหม่ แยกออกไปเป็น "รัฐล้านนา"; จังหวัดกำแพงเพชร แยกออกไปเป็น "รัฐชากังราว" หรือจังหวัดสุพรรณบุรี แยกออกไปเป็น "รัฐอู่ทอง"
9. หากสื่อมวลชนไทยใช้คำว่า "รัฐไทย" ตามนิยามของกลุ่ม BRN จึงเท่ากับเป็นการรับรองการแยกดินแดน "จังหวัดปัตตานี" ออกจากประเทศไทยไปเป็น "รัฐปัตตานี"
ในอนาคตอันไกลข้างหน้า เขตแดนราชอาณาจักรไทย จะลดเล็กลง หรือเพิ่มใหญ่ขึ้น ก็มิอาจทราบได้ล่วงหน้า ขึ้นอยู่กับประชาชนชาวไทยจะช่วยกันปกป้องดูแลแผ่นดินไทยให้เข้มแข็งเจริญมั่งคั่งยั่งยืนต่อไป
แต่เฉพาะเวลานี้ เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนไทย, นักรัฐศาสตร์, นักภาษาศาสตร์, นายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี, นักการเมือง, ตลอดจนข้าราชการไทย จะต้องช่วยกันปกป้องอธิปไตยของเขตแดนไทยด้วยการใช้ภาษาที่ถูกต้อง เรียกชื่อประเทศไทยของตัวเองให้ถูก
เรียก "ราชอาณาจักรไทย" จะสมบูรณ์งดงาม และทรงพลังที่สุด
เรียก "ประเทศไทย" ก็ถูกต้อง หนักแน่น เป็นทางการ
อย่าเรียก "รัฐไทย" จะดี
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล (ภาพจากเฟซบุ๊ค) https://www.facebook.com/somkiat.onwimon?fref=ts