ปัญหาเชิงนโยบาย “ภัยเงียบ” กระทบความมั่นคงทางอาหาร
สังคมไทยกำลังเผชิญ “ภัยเงียบ” ของความไม่มั่นคงทางอาหารที่คืบคลานเข้ามาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ความเปราะบางตรงนี้มิใช่แค่การก้าวเข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์ที่มีการเคลื่อนย้ายการค้าการลงทุนอย่างเสรีเท่านั้น แต่ทว่า การดำเนินนโยบายของรัฐเอง ก็สร้างผลกระทบร้ายแรงในระบบเกษตรกรรมและอาหารด้วยเช่นกัน รวมไปถึงการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ให้น้ำหนักกับการพัฒนาอุตสาหกรรม เหนือภาคเกษตรกรรม
มิตินโยบายพลังงานกับการคุกคาม “พื้นที่อาหาร”
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจภายในงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2556 ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ โดยลบล้างสิ่งที่เราเคยเชื่อๆ กันมาแต่เดิมว่า “ภาคใต้” เป็นภาคที่มีความมั่นคงทางด้านอาหารสูง
แต่สำหรับวันนี้ไม่ใช่แล้ว...
“ปัจจุบันภาคใต้ 14 จังหวัด นอกจากมีพลังงานไฟฟ้าไม่พอใช้ ยังปลูกข้าวไม่พอกินอีกด้วย เพราะมีตัวเลขชี้ชัด เหลือเพียงแค่ นครศรีธรรมราช และพัทลุง ที่สามารถปลูกข้าวพอกินสำหรับคนภายในจังหวัด”
ดร.เดชรัต ยังให้ตัวเลขยืนยันอีกว่า ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพารา ซึ่งเป็นพืชกระแสหลักของภาคนี้ เพิ่มขึ้นจาก 68.8% เป็น 72.5%
หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5 แสนไร่ ...เรียกว่า เกือบ 3 ใน 4 ของพื้นที่ภาคใต้ ปลูกพืช 2 ชนิดนี้
ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าว มังคุด ส้มเขียวหวาน และพืชผลอื่นๆ ลดลง
ทั้งยังมีข้อมูลการสำรวจความมั่นคงทางด้านอาหาร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่พบว่า “คนใต้” ผลิตอาหารเองได้เพียง 6.9% (มากกว่าคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น) ที่เหลือต้องไปซื้อมาจากภาคอื่น ๆ มาบริโภค
ประเด็นนี้ แม้หลายคนอาจจะแย้ง ไม่เป็นไร ภาคใต้เศรษฐกิจดี แต่ ดร.เดชรัต บอกว่า อย่าลืมภาคใต้ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า คนจน อยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่า จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารอย่างแน่นอน
“เรากำลังอยู่ในยุคที่อาหารมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ แล้วใครเดือดร้อนมากที่สุด ในเมื่อคนที่รวยที่สุดในประเทศใช้เงินเพื่อการบริโภคอาหารแค่ 11% ของรายได้ แต่กลุ่มคนที่จนที่สุดใช้เงินเพื่อการบริโภคอาหารถึง 47% ของรายได้ ฉะนั้น นโยบายพลังงานกับการคุกตามพื้นที่อาหาร จึงเป็นภัยเงียบที่ไม่ได้มาในแบบชนิดที่ว่าขาดแคลนอาหาร จนต้องยื้อแย่งกัน แต่จะมาในลักษณะราคาอาหารค่อยๆ แพงขึ้น โดยไม่รู้ตัว”
“ผลไม้” เป็นหนึ่งในตัวอย่าง ที่นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ หยิบยกขึ้นมาเพื่อฉายภาพให้เห็นว่า ช่วงระยะเวลาแค่ 2 ปี (ปี 2553 – 2555) พื้นที่ปลูกผลไม้ลดลงไปกว่า 300,000 ไร่ และเปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจแทน เช่น ปาล์มน้ำมันและยางพารา รวมถึงนโยบายรับจำนำข้าวก็มีส่วนเพิ่มพื้นที่ทำนาด้วย
ฉะนั้น ตัวเลขปริมาณผลไม้ที่มีอยู่จะยิ่งลดลงไปอีกในอนาคต หนีไม่พ้นกระทบต่อราคาผู้บริโภคต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มขึ้น ทางกลับกันเกษตรกรชาวสวนผลไม้กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นนิดเดียว เขาเหล่านั้นขาดแรงจูงใจด้านราคา จนต้องหันไปปลูกพืชพลังงาน พืชเศรษฐกิจ แทน...
ยังไม่นับรวมวิกฤติความมั่นคงทางอาหารจากการสูญเสียพื้นที่ผลิตอาหารจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตร ถูกคุกคามจากการสร้างเขื่อน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรมพลังงานในรูปแบบอื่นๆ
มิตินโยบายทางการเกษตรกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
ขณะที่รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ แสดงความเห็นถึงนโยบายรัฐที่บิดเบือน และสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร โดยยกตัวอย่าง “นโยบายจำนำข้าว” ที่ไปอิงพืชชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไปนั้น ทำให้โครงสร้างทางการเกษตรไทยเสียหาย จนเกิดพฤติกรรมคนล้มสวนหันไปปลูกข้าว
ความไม่สมดุลด้านนโยบายของรัฐ แทนที่กลไกการจัดการพืชผลทางการเกษตรจะเข้ามาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร แต่กลับถูกละเลย ไปเน้นหนักในเรื่องของประชานิยมมากกว่านั้น นักวิชาการจากสถาบันคลังสมองของชาติ ชี้ว่า ณ วันนี้ ความมั่นคงด้านอาหารของประเทศจึงตกอยู่ในภาวะสั่นคลอน
"ความมั่นคงด้านอาหาร ต้องคิดถึง Food Safety Good Quality และความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วย ไม่ใช่อะไรก็ได้ ขอให้เก็บเกี่ยวได้เร็ว ประหยัดเวลา ข้าวคุณภาพดีๆ ก็จะหายไปจากระบบ"
ยิ่งพลิกดูงบวิจัยเรื่องข้าวด้วยแล้ว เขาเชื่อว่า ได้ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี แต่โครงการรับจำนำข้าวใช้เงินไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี !
นี่คือความไม่สมดุลที่เกิดขึ้น สังคมกำลังเผชิญความไม่มั่นคงด้านอาหารที่มาจากนโยบายด้านการเกษตร
มิตินโยบายบายบริหารจัดการน้ำ
ไม่ต่างจาก ดร.แมน ปุโรทกานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ที่มองเห็นนโยบายบริหารจัดการน้ำ ทำให้พื้นที่ผลิตอาหารลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งนโยบายบริหารจัดการน้ำมีมุมมองที่ต่างกัน ทั้งมอง น้ำ = สินค้า, น้ำ=ปัจจัยการผลิต และ น้ำ=ปัจจัยพื้นฐานของชีวิต
“มุมมองเกี่ยวกับเรื่องน้ำเปลี่ยนไป จากเดิมน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ปัจจุบันกลายเป็นปัจจัยการผลิต และเป็นสินค้าที่โอนขายสิทธิ์กันได้ ซึ่งการมองเช่นนี้นับเป็นปัญหาต่อการใช้น้ำในการผลิตอาหาร ทำให้ผู้ที่ใช้น้ำเพื่อชีวิตเช่น ประมงรายย่อยมีปัญหา โดยที่ระดับนโยบายเข้าไม่ถึงคนกลุ่มนี้”
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ระบุว่า มุมมองต่อเรื่อง "น้ำ อาหาร พลังงาน" ต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และมีผลกระทบต่อกัน ฉะนั้น นโยบายต่างๆ ที่ออกมาหากขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนระดับท้องถิ่น ขาดการเชื่อมโยงทั้ง 3 ส่วนก็จะสร้างปัญหากับท้องถิ่นได้ เช่น หากมีปาล์มเพิ่มขึ้น ใช้น้ำมากขึ้น พืชอาหารก็ลดลง ความเสี่ยงอื่นๆ ก็จะตามมา
“จะเห็นว่า นโยบายการจัดการน้ำ ที่ค่อนข้างลำเอียงมากับกาขยายตัวของเมืองเกิดทุกที่ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการจัดลำดับความสำคัญ สัดส่วนการใช้น้ำ ที่มีต่อภาคการเกษตร พื้นที่ผลิตอาหาร ยังอยู่ในลำดับท้ายๆ” ดร.แมน แสดงความเห็นทิ้งท้าย