เสพติด 'จำนำข้าว' เลิกไม่ได้ ชาวนา-โรงสี เสนอทางลง อย่าใช้นโยบายเดียว ทำทั้งประเทศ
สมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร ระดมความเห็นปรับปรุงจำนำข้าว ออกแบบวิธีกันการโกงความชื้น ปรับปรุงใช้พันธุ์ข้าวมีคุณภาพสูง แยกทำนโยบายกลาง - อีสาน คนละนโยบาย จี้รัฐลดทิฐิ เลิกแยกพวก กล้าปรับนโยบาย
เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2556 การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศชุมชน ณ อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ มีเวทีเสวนาระดมความเห็น "ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนโยบายรับจำนำข้าว" โดยมี ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ร่วมเสวนา
รัฐไร้ประสิทธิภาพรระบายข้าว
ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้พิสูจน์ชัดแล้วว่านโยบายรับจำนำข้าวในแบบที่รัฐบาลทำอยู่ไปต่อไม่ไหว การซื้อแพง ขายถูกทำให้ขาดทุนมาก และไม่ได้ดึงราคาตลาดโลกได้จริงอย่างที่เคยกล่าวอ้าง แม้รัฐบาลที่มาจากความชอบทำจะมีสิทธิ์กระจายรายได้ออกไป แต่ไม่มีสิทธิ์ทำนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพ จนก่อความสูญเสีย หรือมีต้นทุนการจัดการที่สูงเกินไป ดังนั้น รัฐบาลควรจะถอย โดยอาจใช้ระบบโควตา เช่น โควต้าครัวเรือน หรือ 30% ของผลผลิตแต่ละจังหวัด เชื่อมโยงกับตัวชาวนา
"ประเด็นที่คนไม่ค่อยคิดกัน เรื่องการขายข้าว หรือระบายข้าวต้องมีฝีมือพอสมควร เช่น พ่อค้ารายนี้ขายเก่งตลาดไหน แอฟริกา อิหร่าน ฮ่องกง แต่พอรัฐบาลงุบงิบ ให้กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเลิกขายข้าวมากว่า 20 ปี มาทำหน้าที่ขายข้าวเอง ขณะเดียวกันต้องพึ่งเอกชนบางรายให้ขายข้าวให้ ซึ่งเอกชนรายนั้น นอกจากไม่ได้ขายข้าวเก่งทุกตลาดแล้ว บางครั้งอาจไม่เก่งสักตลาดก็เป็นได้ จนวันนี้ทำให้รัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการระบายข้าว"
ช่วยอย่างไรไม่ให้กระทบการส่งออก
ขณะที่นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายจำนำข้าวยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุง ประเด็นสำคัญประการแรก ต้องหาทางออกให้เจอระหว่างการลงทุนงบประมาณ การขาดทุนและความอยู่รอดของเกษตรกร จะวางเกษตรกรไว้ตรงไหน
ในฐานะโรงสีข้าว นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า มีความเห็นเป็น 2 ด้าน คือ 1.อยากให้ดำเนินโครงการต่อ ที่ไม่ต้องแข่งขัน ลงเงินลงแรง และ 2.อยากค้าขายในระบบปกติ ที่ต้องการลอยตัวจากนโยบาย
"จำนำ ข้าวเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะช่วยเกษตรกร แต่จะช่วยอย่างไรไม่ให้กระทบการส่งออก เพราะข้าวเป็นพืชการเมืองในหลายประเทศ มีส่วนแบ่งตลาดไม่มาก ประเทศใดลดลงจะถูกประเทศอื่นเข้ามาเติม ดังนั้น การตั้งกำแพงราคา ทำให้ผลิตแล้วส่งออกไม่ได้ จะเห็นได้ว่าผู้ส่งออกบางรายในบ้านเราเบนเข็มไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน แล้ว"
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อผลเสียของโครงการอยู่ที่คนเสียภาษี ต้องยอมรับว่า ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย แต่ก็ต้องให้เกษตรกรอยู่ได้ จึงควรทำจำนำควบคู่กับประกันรายได้ โดยอาจจะใช้ชื่อื่นแทนประกันรายได้แต่ยึดหลักการเดิม ทั้งนี้ ยังมีวิธีช่วยเหลือเกษตรกรอีกหลายวิธี เช่น ชดเชยค่าผลิต ค่าเก็บเกี่ยว ค่าแรง โดยใส่ไปในบัญชีแล้วปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน แต่หากจะคิดและทำแบบเดิม ปัญหาข้าวจะมากขึ้น ตลาดข้าวไทยจะเดินต่อไม่ได้
หยุดหว่านนโยบายเดียวแล้วใช้ปฏิบัติทั่วประเทศ
ด้านนายอุบล กล่าว ถึงนโยบายข้าว ไม่ควรใช้นโยบายเดียวแล้วใช้ปฏิบัติไปทั่วประเทศ เพราะนโยบายจำนำข้าวอาจเหมาะสมกับชาวนาภาคกลาง ด้วยได้ประโยชน์สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง แต่สำหรับชาวนาภาคเหนือกับภาคอีสานไม่เหมาะ เพราะทำนาได้ครั้งเดียว เป็นข้าวแห้ง ฉะนั้นนโยบายจำนำแบบยุ้งฉางยังพอทำได้ โดยรัฐไปอุดหนุนดอกเบี้ยแทนชาวนา เป็นต้น
"รัฐบาล ควรจะมีนโยบายที่ทำให้เกษตรกรเข้มแข็ง ทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างเกษตรกรและระดับชั้นอื่นเปลี่ยนแปลงในทาง ที่ดี นอกจากนโยบายเฉพาะหน้า ที่ได้มาซึ่งคะแนนเสียงแล้ว จะต้องมีนโยบายเพื่อความยั่งยืนด้วย โดยภาครัฐต้องอุดหนนุนเกษตรกรที่ต้องการจะเปลี่ยนแผนการผลิต ไม่ควรส่งเสริมการผลิตเชิงเดี่ยว ไม่ควรจะมีนโยบายเพื่อพืชชนิดใดชนิดเดียว ควรเป็นนโยบายพัฒนาชุมชน ส่งเสริมการผลิตที่หลากหลาย"
เสนอแก้ปัญหา โกงความชื้น
ขณะที่นายประสิทธิ์ กล่าว ถึงจุดอ่อนของนโยบายที่ต้องแก้ไขคือ การที่โรงสีบางโรงกำหนดความชื้นสูง เช่น กำหนดที่ 22% จากมาตรฐาน 20% ทำให้ชาวนาเสียเปรียบ ต่อรองไม่ได้ ถูกปิดประตูตีแมว ขณะที่กระบวนการรับใบประทวนและจ่ายเงินที่ยาวนานเกินกำหนดหลายเท่า สิ่งเหล่านี้จุดอ่อน จุดเสียที่แก้ได้ แต่รัฐบาลไม่เคยใส่ใจแก้ และไม่เคยให้ตัวแทนเกษตรกรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)
"จำนำ ข้าวยกเลิกไม่ได้ ถอยหลังไม่ได้ ต้องช่วยชาวนาให้อยู่ได้ต่อไป แต่รัฐบาลไม่ขาดทุนหรือขาดทุนน้อยที่สุด โดยมีข้อเสนอ 3 แนวทาง คือ เลิกจำนำทุกเม็ด มาเป็นแบบครัวเรือน ตั้งงบครัวเรือน เช่น 4 แสนบาท หรือหากถึงทางตันจริงๆ ต้องลดราคาเหลืออย่างน้อยที่สุด 10,000 บาท ในอัตราความชื้น 25-27% หากเป็นเช่นนี้เชื่อว่า ชาวนารับได้" นาย ประสิทธิ์ กล่าว และว่า รัฐอาจทำ 2 ระบบ คือ เปิดรับจำนำภาคกลาง โดยลดราคาลงเหลือ 13,000 บาท ส่วนภาคอีสานหรือภาคเหนือที่ทำนาน้อย ได้ผลผลิตน้อยจำนำไม่คุ้ม ให้ใช้ระบบประกันรายได้ อาจอยู่ที่ราคา 13,000 บาท โดยไม่กำหนดขอบเขตพื้นที่ขายข้าว แต่ให้ชาวนาขึ้นทะเบียนแจ้งจำนวนข้าวไว้
"ทางเลือกที่เสนอนี้จะทำให้ประเทศชาติ และชาวนาอยู่ได้ หากรัฐบาลยอมปรับปรุงนโยบาย แต่รัฐบาลต้องลดทิฐิ ลดความเห็นแก้ตัว เลิกแยกพวก ไม่ต้องกลัวเสียศักดิ์ศรี ชาวบ้านพร้อมยอมรับการปรับนโยบาย หากรัฐบาลจะไม่ปรับปรุง ต้องแถลงให้ชัดว่าจะมีนโยบายอย่างไรต่อไป แต่รัฐบาควรยอมรับความจริง และให้ที่มีผู้ส่วนได้ส่วนเสียในโครงการไปเสนอความเห็นเพื่อทางออกทั้งของ ประเทศและชาวนา"