ผู้เชี่ยวชาญชี้ นโยบายมุ่งเพิ่มผลผลิต ก่อวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร
ปธ.เครือข่ายอาหารแห่งสหราชอาณาจักร ชี้อนาคตความมั่นคงด้านอาหารอยู่ที่เกษตรรายย่อย ฉะนโยบายรัฐมุ่งเพิ่มผลผลิต- บ.ยักษ์ใหญ่ผูกขาดที่ดิน มอมเมา ปชช.จนละเลยด้านสังคม สิ่งแวดล้อม
วันที่ 14 มิถุนายน ในงานสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2556 การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศชุมชน ที่จัดโดยมูลนิธิชีววิถี ร่วมกับแผนงานความมั่งคงทางอาหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ มีการปาฐกถานำเรื่อง 'ปัญหาของระบบเกษตรและอาหารกับทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นธรรม' โดย นายแพทริค มัลเวนี ประธานเครือข่ายอาหารแห่งสหราชอาณาจักร (The UK Food Group-UKFG)
นายแพทริค เริ่มต้นกล่าวว่าปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวด้านอาหารที่ทำให้เกิดความหลากหลายพันธุ์พืช อันจะนำมาซึ่งรูปแบบของอาหารใหม่ๆ โดยที่ระบบอาหารในปัจจุบันมี 2 ระบบ คือ ระบบที่ตอบสนองกลุ่มทุน และระบบที่ตอบสนองประชาชน ซึ่งจะเชื่อมโยงความเป็นท้องถิ่น ระดับย่อยไปสู่ภูมิภาคและระดับโลก
"แม้ระบบอาหารจะมีหลายระดับ แต่ระดับท้องถิ่นเป็นระดับที่สำคัญที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับชุมชน ท้องถิ่น และเชื่อมกับระดับชาติที่จะนำไปกำหนดนโยบายที่สอดรับกับระดับท้องถิ่น"
นายแพทริค กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีเมล็ดพันธุ์อยู่ 70% แต่ยังไม่รวมส่วนของเกษตรกร และกลุ่มประมงชายฝั่ง ที่ถูกโครงการต่างๆ ของผู้มีอำนาจในสังคมที่วางนโยบายจนขาดการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร ผู้บริโภค แต่ผลของนโยบายเหล่านั้น ทำให้ประชาชนลืมไปว่าอาหารส่วนมากมาจากท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีภัยคุกคามในระบบเกษตร ทั้งภาวะฝนแล้ง การสูญเสียดินกว่า 20 ตันต่อเฮกเตอร์ต่อปี และการครอบครองผูกขาดที่ดินหลายพื้นที่
ในแง่ของความหลากหลายของพืชพันธุ์ นายแพทริค ระบุว่า มีเพียงไม่กี่ชนิด ไม่หลากหลาย ที่พบมาก ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด มันฝรั่ง ถั่วเหลือง และข้าว ในระบบเกษตรให้ความสำคัญกับพืชพันธุ์เพียง 105 ชนิดเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงมีความหลากหลายของพืชอีกถึง 7,000-30,000 ชนิดทั่วโลก
"เมื่อใช้พันธุ์พืชจำนวนน้อย ทำให้ประชาชนรู้จักบริโภคพืชไม่กี่ชนิด แต่เกษตรกรหลายประเทศกำลังพยายามสร้างความหลากหลายทางภูมิภาคในภาคเกษตรกลับคืนมา แต่ทำได้ยากเนื่องจากติดขัดทั้งกฎหมาย ระบบทรัพย์สินทางปัญญา อำนาจของบริษัทยักษใหญ่ ระบบสัญญาทางการค้า เทคโนโลยีที่จำกัด ระบบสถาบันทางการเงินที่ให้ความสำคัญกับบริษัทขนาดใหญ่มากกว่าประชาชน" นายแพทริค กล่าว และว่า ปัจจุบันมี 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ครอบครอง ผูกขาด ไล่กว้านซื้อเมล็ดพันธุ์พืชทั่วโลกมาครอบครองถึง 60% ได้แก่ บริษัทมอนซานโต และบริษัทซินเจนตา อีกทั้งยังมีวิกฤตด้านนโยบายที่มุ่งเพิ่มผลผลิต ทำให้ผู้คนหลงลืมประเด็นทางสังคม และสิ่งแวดล้อม และท้ายที่สุดผลกระทบสุทธิทำให้สิทธิด้านอาหารแย่ลงไป
"ที่ผ่านมามีวิกฤตการณ์เกิดขึ้นมากมาย กระทั่งปัจจุบันวิกฤตที่ยังคงอยู่คือ อำนาจของบริษัทขนาดใหญ่ที่ครอบครองหลายพื้นที่อยู่ และเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาในระบบอาหาร"
นายแพทริค กล่าวว่ามีหลายวิธีในการเพิ่มผลผลิต เช่นระบบเกษตรนิเวศน์ ที่คำนึงถึงทั้งพืชผล เรื่องดินและนิเวศน์ทั้งระบบ ที่จะมีประสิทธิภาพ ยั่งยืนและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 30-100% ซึ่งได้ผลผลิตมากกว่าการตัดต่อพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ ที่เป็นวิธีการพยายามเพิ่มผลผลิตแบบไม่ยั่งยืน
"การลงทุนเรื่องตัดแต่งพันธุกรรมบางประเทศใช้งบสูงถึง 47 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตพันธุ์ข้าวโพดที่ทนฝนแล้ง และใช้อีกกว่า 1 หมื่นดอลลาร์เพื่อพัฒนาระบบไร่นาที่ทนต่อฝนแล้ง ทั้งที่พืชตัดแต่งพันธุ์ไม่ได้ช่วยกลุ่มคนในภาวะอดอยาก จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องลงทุนเพื่อการตัดแต่งพันธุกรรมมากขนาดนั้น หรืออาจจะเป็นเพราะว่านักวิจัยชอบเล่นของเล่นก็ได้"
นายแพทริค กล่าวอีกว่า ระบบเกษตรนิเวศน์จะเป็นอนาคตระบบเกษตรที่ยั่งยืน และสามารถผลิตอาหารให้ประชาชนทั้งโลกได้ ซึ่งคือระบบที่มีความหมายเดียวกับ ระบบเกษตรอินทรีย์ ระบบเกษตรยั่งยืนใช้ปัจจัยน้อย หรือประมงพื้นบ้านที่ล้วนเป็นระบบที่มีความยั่งยืน สอดคล้องกับระบบนิเวศน์แต่ละพื้นที่
"ความมั่นคงด้านอาหาร ต้องมาจากการตัดสินใจนโยบายด้านอาหารที่มุ่งถกเถียงเพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืนเพื่อคนทั้งโลก ให้อำนาจสำคัญอยู่ที่ประชาชน ระบบอาหารจะยั่งยืนได้ อำนาจและสิทธิต้องอยู่ในมือประชาชน แก้ปัญหาผู้ที่ครอบครองระบบอาหารให้ได้"
นายแพทริค กล่าวด้วยว่า ล่าสุดองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ได้ตั้งคณะกรรมการที่ให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ความหลากหลายทางอาหารและระบบเกษตรของโลก โดยที่ภาคประชาสังคมได้เสนอว่า
1.ต้องการให้มีการลงทุน เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย หรือระดับครัวเรือนที่ผลิตอาหารแบบการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับการดำเนินชีวิต 2.อนาคตของการผลิตอาหารต้องอยู่ในมือของเกษตรรายย่อย ทั้งในประเทศไทย แอฟริกาและทั่วโลก
โดยที่การเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเช่นนี้ ในประเทศไทยควรจะผลักดันไปให้ถึงจุดนั้น เพราะภาคประชาสังคม นั่นคือ เกษตรกรเป็นผู้ผลิตหลัก เป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลก และต้องเป็นเช่นนี้ต่อไป