อุเทนถวายนัดทวงคำตอบจุฬาฯเรื่องขัดเเย้งที่ดิน 14 มิ.ย.
ตัวแทนคณะพิทักษ์สิทธิ์เพื่อการศึกษาอุเทนถวาย แถลงข่าว “ทวงกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทาน” ชี้แจงข้อมูล เอกสาร หลักฐาน โต้กลับคำชี้แจงของจุฬาฯ ยันจะไม่ย้ายออก ศุกร์นี้ (14 มิ.ย.) ตบเท้าทวงถามความคืบหน้า
(13 มิ.ย.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย คณะพิทักษ์สิทธิ์เพื่อการศึกษาอุเทนถวาย (คพศ.) จัดแถลงข่าว “ทวงกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทาน” เพื่อชี้แจงข้อมูล เอกสาร หลักฐาน ที่คัดค้านกับคำชี้แจงของจุฬาฯ กรณีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของวิทยาเขตอุเทนถวายปัจจุบัน ให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อยืนยันที่จะไม่ย้ายออก คืนที่ดินให้จุฬาฯ ตามที่ กยพ.มีมติชี้ขาดมาก่อนหน้านี้
ตัวแทนคณะพิทักษ์สิทธิ์เพื่อการศึกษาอุเทนถวาย กล่าวชี้แจงในประเด็นที่สำคัญดังนี้ คือ ประเด็น มติชี้ขาดตามรายงานการประชุม คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กพย.) วิทยาเขตอุเทนถวายไม่เคยได้มีส่วนร่วมในการไต่สวนชี้แจงรายละเอียดต่อ กยพ. โดยประเด็นที่ชี้ขาดคือความเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมาย แต่อุเทนถวายพูดถึงความชอบธรรมในการอยู่ในพื้นที่ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6
ส่วนเรื่องการยื่นฎีกาครั้งที่ 2 สำนักราชเลขาธิการตีเรื่องกลับและยืนตามคำวินิจฉัยของ กยพ. โดยที่การยื่นถวายฎีกาทั้งสองครั้ง ยังไม่เคยมีพระบรมราชวินิจฉัยลงมาเลย
ประเด็นเรื่องหนังสือส่งเงินเช่าที่ดิน พ.ศ.2478 ที่จุฬาฯใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่า อุเทนถวายมีสถานภาพเป็นผู้เช่าที่ดินจากจุฬาฯมาตั้งแต่อดีตนั้น เหตุใดเอกสารจึงไม่ระบุตำแหน่งสถานที่ตั้ง และจำนวนพื้นที่ของที่เช่า ส่วนสัญญาเช่าหลักที่ระบุสถานที่ตั้ง ขาดพื้นที่เช่า ระยะเวลาเช่า สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯไม่เคยพูดถึงเลย
ตัวแทน คพศ.กล่าวถึงการที่ทางจุฬาฯชี้แจงว่า อุเทนถวายได้จัดเตรียมพื้นที่แห่งใหม่ที่บางปิ้ง รองรับการย้ายออกแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ทางจุฬาฯดำเนินการประสาน หาพื้นที่กับกรมธนารักษ์เอง แต่กล่าวอ้างว่า อุเทนถวายได้จัดเตรียมสถานที่แล้ว ในขณะที่วิทยาเขตอุเทนถวายไม่เคยดูเรื่องสถานที่ตั้งแห่งใหม่ อีกทั้งรูปแบบอาคารและงบประมาณจากภาครัฐ ก็ยังไม่เคยดำเนินการแต่อย่างใด
ตัวแทน คพศ. กล่าวย้ำถึงเจตจำนงของการเคลื่อนไหวทวงคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินในครั้งนี้ด้วยว่า อุเทนถวายอยู่ด้วยความชอบธรรม เพราะใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการศึกษามายาวนานกว่า 80 ปี ไม่มีการแฝงเร้นนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ จุดยืนที่ชัดเจนคือเราให้บริการด้านการศึกษา และจะไปก็ต่อเมื่อกระทำขัดพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 คือใช้ที่ดินไม่เป็นไปเพื่อการศึกษา
“ถ้าทางจุฬาฯ ต้องการจะพัฒนาพื้นที่ของวิทยาเขตอุเทนถวายเพื่อเป็นศูนย์นวัตกรรม จุฬาฯควรพิจารณาพื้นที่ส่วนอื่นของที่ดิน ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม หรือมีแผนจะพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมก่อน แทนที่จะมาสร้างบนพื้นที่สถานศึกษาที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานอย่างอุเทนถวาย เพราะตามพระราชประสงค์ดั้งเดิมของรัชกาลที่ 6 ทรงต้องการให้ที่ดินตรงนี้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น” ตัวแทน กพศ. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย.) เวลาประมาณ 13:00 น. จะมีการเดินขบวนประกอบด้วยนักศึกษากว่า 1 พันคน เดินขบวนไปยังสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการหาทางออกร่วมกันระหว่างจุฬาฯ กับวิทยาเขตอุเทนถวาย หลังจากครบ 90 วันในการยื่นหนังสือไปเมือวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา
ล่าสุดมีรายงานข่าวด้วยว่า ทางผู้บริหารของจุฬาฯ ก็จะเปิดชี้แจงถึงการที่จะมีคำตอบต่อหนังสือที่ศิษย์เก่าอุเทนถวายนำไปยื่นดังกล่าวเช่นกัน วันพรุ่งนี้ เวลา 9:30 น.
ทั้งนี้ หลังการแถลงข่าว มีการเสวนา “เหลียวหลังแลหน้า สู่ 1 ศตวรรษ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย คุณค่าที่ควรอยู่”
ผศ.สืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กล่าวว่า พบข้อมูลหลักฐานทางกฎหมายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ได้กำหนดชัดเจนให้ที่ดินบริเวณที่ตั้งของจุฬาฯ เป็นที่ราชพัสดุ ต่อมาเมื่อจุฬาฯออกนอกระบบ พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 ในมาตรา 16 ได้ระบุเรื่องที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ดังต่อไปนี้ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุและให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย โดยแบ่งเป็นที่ดินที่มหาวิทยาลัยได้มาตามพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (พ.ศ.2482) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เหมือนเป็นการออกกฎหมายเพื่อสำทับว่า พื้นที่นั้นไม่ใช่ของพระมหากษัตริย์ แต่เป็นของจุฬาฯ
"การทวงคืนพื้นที่จากจุฬาฯ จึงทำเพื่อทวงคืนความชอบธรรมและเพื่อปฏิบัติตามพระราชปณิธานพระมหากษัตริย์ที่ทรงมอบที่ดินตรงนี้เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา อยากถามจุฬาฯว่า เป็นธรรมหรือเปล่าที่จะมาบอกให้เราออกจากตรงนี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ที่ของเขา" ผศ.สืบพงษ์กล่าวและว่า หลังจากนี้จะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อหารือถึงการดำเนินการขั้นต่อไป ส่วนนักศึกษาและกลุ่มศิษย์เก่าที่มีการดำเนินการเคลื่อนไหว ก็ถือเป็นสิทธิของเขา แต่ตนได้กำชับให้ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายและไม่เกิดความรุนแรง
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า น่าสังเกตว่าฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีความไม่ชอบมาพากล นับตั้งแต่ พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน พ.ศ.2482 ที่ออกในช่วงเผด็จการ จอมพล ป. เป็นนายก และเป็นอธิการบดีจุฬาฯ ตนเห็นว่าการออกกฎหมายยกที่ดินให้จุฬาฯฉบับนี้ ค่อนข้างเป็นการก้าวล่วงพระราชประสงค์และพระราชอำนาจของรัชกาลที่ 6 เกินไป และกระทำกันอย่างปิดบัง ซ่อนเร้น ต่อมาการออก พ.ร.บ. จุฬาฯ ในปี 2551 ก็สะท้อนความไม่แน่ใจของจุฬาฯ ต่อสถานภาพเจ้าของที่ดินของจุฬาฯ จึงต้องเขียนมาตราที่กำหนดให้ที่ดินอุเทนถวายเป็นของจุฬาฯโดยสมบูรณ์ ดังนั้นตามหลัก ถ้าเห็นว่ากฎหมายไม่ถูกต้องชอบธรรม ก็สามารถแก้ได้ ต้องผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมายให้ได้
ด้านนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะศิษย์เก่าอุเทนถวาย กล่าวว่า จุฬาฯกับอุเทนถวายควรอยู่ด้วยกัน เพราะต่างก็เป็นสถานศึกษาที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมา ในฐานะศิษย์เก่าก็อยากให้อุเทนถวายอยู่คู่จุฬาฯไปตราบนานเท่านาน ทั้งนี้ไม่ยอมรับอย่างยิ่งหากจุฬาฯจะนำพื้นที่ไปทำประโยชน์เชิงพาณิชย์