13 มิ.ย.วัดใจบีอาร์เอ็นลดรุนแรง จับตากระแส "ชาตินิยมมลายู" ลาม!
การพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่นัดพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ มีโอกาสไม่น้อยเหมือนกันที่จะเป็นการพูดคุยครั้งสุดท้ายภายใต้เงื่อนไขและบริบทปัจจุบัน
ด้วยกระแสกดดันจากสังคมเพราะความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ได้ลดระดับลงแม้แต่น้อย ทำให้ไม่เฉพาะฝ่ายการเมืองอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) เท่านั้นที่พูดหลายครั้งทำนองว่า "หากคุยครั้งที่ 3 แล้วยังไม่ดีขึ้นก็ต้องเปลี่ยนกลุ่มคุย"
ทว่าแม้แต่ "แกนหลัก" ในคณะพูดคุยบางรายก็ยังบอกว่า หากเที่ยวนี้ยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจจากทางฝั่งบีอาร์เอ็นเรื่องลดความรุนแรง ก็คงต้องหยุด หรืออย่างน้อยก็ต้องปรับวิธีการกันขนานใหญ่
"การพูดคุยวันที่ 13 มิ.ย.ถือเป็นครั้งสำคัญที่จะชี้ทิศทางกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ เลยทีเดียว พูดตรงๆ เราถูกสังคมไทยกดดันหนักมาก ทนโดนด่าไม่ไหวแล้ว" หนึ่งในแกนหลักของคณะพูดคุยสันติภาพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงกดดันจากสังคมคือ "จุดอ่อน" ข้อสำคัญของการพูดคุยเจรจาแบบ "เปิดเผย" ที่รัฐบาลชุดนี้ตัดสินใจริเริ่มกระบวนการ จึงถือเป็นแรงกดดันที่ต้องยอมรับ เพราะต้องประเมินล่วงหน้าได้อยู่แล้ว
นอกจากนั้นยังมีปัญหาใหญ่ตามที่ สุนัย ผาสุก นักสิทธิมนุษยชนชื่อดัง ให้ข้อมูลไว้ในเวที "ถอดรหัสบีอาร์เอ็น กับอนาคตการพูดคุยสันติภาพ" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อ 11 มิ.ย. ว่าด้วยโครงสร้างปัจจุบันของขบวนการบีอาร์เอ็นที่ไม่ได้มี "ผู้นำเดี่ยว" แต่เป็น "สภาองค์กรนำ" ซึ่งหมายถึงการนำเป็นหมู่คณะ แนวทางและแนวคิดก็มิได้เป็นเอกภาพ เช่นเดียวกับองคาพยพภายในที่แตกตัวออกเป็นหลายกลุ่ม หลายขั้ว โดยเฉพาะขั้วที่คุยด้วยยากที่สุด คือขั้วแนวคิดสุดโต่ง มุ่งเรื่องเอกราชอย่างเดียว
สุนัย ฟันธงว่าแม้การพูดคุยเจรจาจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่การพูดคุยกับบีอาร์เอ็นให้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วทันใจ เป็นเรื่องยากจริงๆ
แต่เมื่อเลือก "เปิดหน้าเจรจา" มาแล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งข้อมูลสำคัญที่คณะพูดคุยฝ่ายไทยเตรียมนำไปใช้ "ยัน" กับบีอาร์เอ็น ก็คือ ข้อมูลที่ได้รับจากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งจัดโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
โดยเสียงจากประชาชนในพื้นที่จากหลากหลายเวทีที่จัดมา ค่อนข้างชัดแล้วว่าไม่ได้เห็นคล้อยตามข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อของกลุ่มนายฮัสซันที่เสนอผ่านคลิปวีดีโอทางเว็บไซต์ยูทิวบ์และเสนอผ่านโต๊ะพูดคุยมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ให้ปล่อยตัวนักโทษหรือผู้ต้องขังคดีความมั่นคง และยกเลิกหมายจับแบบ "เหมาเข่ง" ที่ว่ากันว่า "โดนใจ" คนในพื้นที่นั้น กลับถูกปฏิเสธอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะจาก 2 กลุ่มหลักที่มีอิทธิพลทางความคิดค่อนข้างสูงอย่าง "กลุ่มนักศึกษา" และ "กลุ่มโต๊ะอิหม่าม" (ผู้นำศาสนาประจำมัสยิด)
ส่วนข้อเรียกร้องที่บีอาร์เอ็นขอเคลมว่าเป็นตัวแทนชาวปาตานี และเป็น "องค์กรปลดปล่อย" ไม่ใช่ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" ก็มีการตั้งข้อสังเกตกันพอสมควรเกี่ยวกับนัยยะที่แฝงอยู่
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ "ลดความรุนแรง" ซึ่งทุกฝ่ายทุกเวทีเห็นตรงกัน และตรงกับผลสำรวจทัศนคติ หรือ "โพลล์" ของประชาชนชายแดนใต้ที่สรุปออกมาแล้วว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ชาวบ้านอยากเห็นจากโต๊ะเจรจาคือ "ดำเนินการลดความรุนแรง"
นี่คือ "คำตอบสุดท้าย" ที่คณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยเตรียมไปเพื่อท้าทายบีอาร์เอ็น อย่างน้อยก็ให้แสดงศักยภาพ "ลดเหตุรุนแรง" ให้ได้ในช่วงเดือนรอมฎอน (ต้นเดือน ก.ค.ถึงต้นเดือน ส.ค.) หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมปีนี้ ตามข้อเสนอของสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ก็ต้องมารอลุ้นว่าบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ จะรับข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลไทยหรือไม่
และหากมองข้ามช็อตไปถึงสถานการณ์หลังวันที่ 13 มิ.ย. หรือการพูดคุยเจรจารอบ 3 ก็ต้องบอกว่ารัฐไทยยังอยู่ในฐานะ "ตั้งรับ" และค่อนข้างเสียเปรียบไม่น้อยทีเดียว ไม่ว่าสุดท้ายจะล้มโต๊ะเจรจากับกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ หรือไม่ก็ตาม
เพราะการเปิดตัวเจรจากับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นการยอมรับครั้งแรกของฝ่ายรัฐไทยว่ามีขบวนการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนตั้งรัฐใหม่อยู่จริง ด้านหนึ่งได้สร้างกระแสตื่นตัวในพื้นที่ ทั้งเรื่องการเจรจาสันติภาพ และทางออกของปัญหาชายแดนภาคใต้ในมิติทางการเมือง มีการผลักดันให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" จาก "องค์กรเสียงดัง" หลายๆ องค์กรในพื้นที่
และที่เป็นกระแสค่อนข้างมาก ซึ่งฝ่ายความมั่นคงกำลังจับตาด้วยความวิตกกังวลก็คือ การรณรงค์เพื่อขอสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง หรือ self determination ซึ่งเป็นสิทธิที่ระบุไว้ในกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สำหรับชาติพันธุ์ที่เคยตกเป็นอาณานิคม ประเด็นนี้มีการรณรงค์กันในพื้นที่อย่างกว้างขวาง เชื่อมโยงกับคำเรียกขานที่บีอาร์เอ็นเรียกรัฐไทยว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม"
กรณีตัวอย่างที่อาจมองให้เห็นถึงพลังที่หนักแน่นขึ้นในพื้นที่ และฉวยหยิบบางเรื่องราวมาสร้างกระแส "ชาตินิยมมลายู" ต่อ ก็เช่น เหตุลอบวางระเบิด "ปืนใหญ่พญาตานีจำลอง" ที่กรมศิลปากรเพิ่งนำไปติดตั้งที่หน้ามัสยิดกรือเซะ อ.เมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง ตั้งโชว์ได้เพียง 11 วันก็โดนระเบิด ท่ามกลางกระแสต่อต้านของคนในพื้นที่บางส่วนเพราะต้องการปืนใหญ่พญาตานีกระบอกจริงที่ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหมกลับคืนมามากกว่า
เมื่อกระแสลุกลามออกไป ก็มีบางฝ่ายที่เลือกใช้ความรุนแรงวางระเบิดและติดป้ายผ้าโยงกับข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น ด้วยการ "ทวงสิทธิความเป็นเจ้าของ" ทั้งเจ้าของปืนและเจ้าของดินแดน
นี่คือประเด็นละเอียดอ่อนที่นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าโต๊ะเจรจาจะยังคงอยู่หรือถูกล้มไป...
และนับจากนี้รัฐไทยพลาดไม่ได้อีกแล้ว!
------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายผ้าจำนวนหนึ่งที่ถูกนำไปแขวนตามสถานที่ต่างๆ หลังเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดปืนใหญ่พญาตานีจำลอง โดยมีเนื้อหาระบุว่า "ปืนศรีปาตานี (พญาตานี) กระบอกนั้นไม่ใช่ของแท้ การปกครองของรัฐไทยเป็นการปกครองที่โกหก"