‘อานันท์’ ห่วงธรรมาภิบาลรัฐอ่อนแอ ปลุก ‘ผู้นำ-คนไทย’ เลิกเป็น ‘แกะโง่’
วันที่ 12 มิ.ย. สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จัดงานประชุม IOD's 2nd National Director Conference 2013 ในหัวข้อ การวิวัฒนาการภาวะผู้นำ (Board Leadership Evolution) ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายกกรรมการ ธ.ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงาน เรื่อง "ความท้าทายการกำกับดูแลกิจการที่ดีในประเทศไทย" (Thailand's Governance Challenge)
นายอานันท์ เริ่มต้นกล่าวถึง ภาพรวมการมี 'บรรษัทภิบาล' ในการกำกับดูแลกิจการทั้งในภาครัฐ เอกชน โดยยกกรณีวิกฤติเอเชีย เมื่อปี 2541 ว่าเป็นความล้มเหลวของการสร้างสถาบันทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่มีนโยบายที่อ่อนแอ การพัฒนาด้านต่างๆ ไม่เป็นรูปธรรม บรรษัทภิบาลที่อ่อนปวกเปียก สิ่งที่ตามมาคือ ความมืดมนของประเทศไทย
กระทั่งปัจจุบัน ช่องว่างระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมยังมีอยู่ การพัฒนาบรรษัทภิบาล และการเติบโตในบริษัทจดทะเบียนยังไปไม่ได้ไกลนัก ทั้งในบริษัทขนาดใหญ่แบบกลุ่มครอบครัว รัฐวิสาหกิจ บริษัทขนาดกลาง และกลุ่มเอสเอ็มอี
แต่กลับมี แนวโน้มที่น่ากังวลมากขึ้นในแง่ 'ธรรมาภิบาลของรัฐ' ที่อ่อนแอลง การแข่งขันเพื่อการพัฒนาและดำเนินการต่างๆ ของรัฐน้อยลง เนื่องจากมีการแทรกแซงทางการเมือง เล่นพรรคเล่นพวก มีความพยายามสร้างอาณาจักร สร้างนโยบายที่พัฒนาแบบไม่ยั่งยืน เนื่องจากไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และรัฐเป็นหลัก
จึงจะเห็นได้ว่า... การพยายามผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสร้างความสมดุล เป็นธรรมทางสังคมจึงไม่สำเร็จได้ง่าย ไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตาม
ทั้งนี้ นโยบายทางการเมืองก็เป็นไปในทาง 'ขั้วเดียว' และเป็นนโยบายที่ไม่ได้ดีกับคนไทย และประเทศไทย
แต่เป็นการแสวงหาอำนาจ ความมั่นคง และผลประโยชน์ต่อตนเอง ไม่ว่าจะต้องสูญเสียผลประโยชน์ของรัฐมากเพียงใด ทำให้ความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้นบน ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างมีมากขึ้น และเกิดความไม่สงบทางการเมืองมากขึ้นเช่นกัน
ด้านนักวิชาการพูดกันมากเรื่องการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การเมือง แต่ทางสังคม มักไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่ขณะนี้เราทั้งหลายกำลังอยู่ในโลกที่ซับซ้อน ดังนั้น การพัฒนาไม่ว่าทางใดก็ตาม รัฐบาลจะต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน ดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อลดความไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะรัฐบาลกับประชาชน
ต้องมีการกระจายอำนาจ ส่งเสริมการจัดการตนเอง ลดขั้นตอนของภาครัฐ เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้นในการบริหารจัดการประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ
'ภาวะผู้นำ' ก็มีบทบาทสำคัญในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต แต่ก็เป็นการเติบโตแบบ 'ไม่ยั่งยืน' ด้วยเพราะมาจากนโยบายที่ใช้เงินทุนของรัฐแบบไม่มีการตรวจสอบ
ทั้งที่ในอดีต การกระทำเช่นนี้ของรัฐเคยส่งผลเชิงลบมาแล้ว และครั้งนี้ก็มีโอกาสเกิดผลเช่นนั้นขึ้นได้อีกในอนาคต
"ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และใช่เรื่องที่จะนิ่งนอนใจ ควรจะทบทวนบทเรียนกรณีสหรัฐอเมริกา และยุโรปไว้เป็นบทเรียน ไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลตัดสินใจดำเนินนโยบาย หรือสร้างหนี้สาธารณะที่สูง อย่างไม่มีความพยายามจัดการการคลังให้มีวินัย"
ความล้มเหลวดังกล่าวนี้ ควรจะนำไปสู่การสร้างสถาบันที่มีบรรษัทภิบาลเข้มแข็ง จะนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อปิดกั้นการเอื้อประโยชน์ต่อพรรคพวกอย่างไม่ยุติธรรมและเกิดการคอร์รัปชั่นตามมา อันเป็นสูตรสำเร็จของความหายนะในประเทศ
การสร้างความเข้มแข็งในกิจการ ต้องเกิดขึ้นทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชนและประชาสังคม ร่วมคิด หาแนวทางส่งเสริมการสร้างสรรค์สังคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะภาครัฐต้องยึดหลักธรรมาภิบาล ที่มี 3 เสาหลัก ได้แก่
1.รัฐบาลต้องยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ในการบริหารจัดการ ดำเนินนโยบายต่างๆ แต่เน้นย้ำว่าต้องเป็น 'ประชาชนที่แท้จริง' เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีตัวอย่างนโยบายที่ผ่านมาที่ยึดความต้องการ หรือสร้างขึ้นเพื่อคนบางกลุ่ม
2.มีการตัดสินใจบริหาจัดการที่เปิดเผย โปร่งใส ซึ่งเป็นเรื่องน่าตลก ที่รัฐบาลไม่สามารถให้ข้อมูลในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเองได้ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนจะยอมรับ ยอมจำนนไม่ได้ว่าประชาชนในประเทศนี้จะไม่มีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลเหล่านี้อย่างถาวร
3.ระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสการตรวจสอบจากทุกระดับในสังคม
อีกประเด็นที่สำคัญ คือ ทุกคนในสังคมควรจะต้องรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี แล้วกล้าเปิดเผยออกมา...
เมื่อ 60-70 ปีก่อน ก็เคยมีเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น 'แกะโง่' ที่ไม่กล้าพูดความจริงมาแล้ว จะทำอย่างไรที่จะแสดงให้เห็นว่า ทุกคนไม่ยอมจำนนต่อคำกล่าวหานี้
ในฐานะที่ผมเป็นประธานบอร์ด ผมเห็นว่า 'ภาวะผู้นำ' ต้องทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะในยามนี้ที่ประเทศอยู่ในทางแยกของความหายนะ
สิ่งที่ทำได้คือสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น ในการกำกับดูแลกิจการทุกระดับให้ได้ อันจะเป็นศูนย์กลางที่จะยึดไม่ให้เกิดการล่มสลายในทุกระดับชั้นของสังคม