"โพสต์-บีอาร์เอ็น" กับทางออกดับไฟใต้
ข้อดีของการเปิดเวทีแบบถี่ยิบของ ศอ.บต.เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อการพูดคุยเจรจากับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งนำโดยกลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ ก็คือ ทำให้คณะผู้แทนพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยได้ฟัง "เสียงจริง" ของประชาชนในพื้นที่แท้ๆ โดยไม่ต้องใช้การคาดเดาหรือหลงไปกับข้อเสนอของบางกลุ่มบางพวกที่ตั้งธงเอาไว้ล่วงหน้า
และ "เสียงจริง" ของประชาชนก็ค่อนข้างชัดแล้วว่าไม่ได้เห็นคล้อยตามข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อของกลุ่มนายฮัสซันที่เสนอผ่านคลิปวีดีโอทางเว็บไซต์ยูทูบและเสนอผ่านโต๊ะพูดคุยมาก่อนหน้านี้
ที่น่าแปลกใจก็คือ ข้อเรียกร้องที่ให้ปล่อยตัวนักโทษหรือผู้ต้องขังคดีความมั่นคง และยกเลิกหมายจับแบบ "เหมาเข่ง" ที่ว่ากันว่า "โดนใจ" คนในพื้นที่นั้น กลับถูกปฏิเสธอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะจาก 2 กลุ่มหลักที่มีอิทธิพลทางความคิดค่อนข้างสูงอย่าง "กลุ่มนักศึกษา" และ "กลุ่มโต๊ะอิหม่าม" (ผู้นำศาสนาประจำมัสยิด ; ข้อมูลจากเวทีที่ จ.นราธิวาส)
ส่วนข้อเรียกร้องที่บีอาร์เอ็นขอเคลมว่าเป็นตัวแทนชาวปาตานี และเป็น "องค์กรปลดปล่อย" ไม่ใช่ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" ก็มีการตั้งข้อสังเกตกันพอสมควรเกี่ยวกับนัยยะที่แฝงอยู่
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ "ลดความรุนแรง" ซึ่งทุกฝ่ายทุกเวทีเห็นตรงกัน และตรงกับผลสำรวจทัศนคติ หรือ "โพลล์" ของประชาชนชายแดนใต้ที่แย้มกันมาก่อนหน้านี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ชาวบ้านอยากเห็นจากโต๊ะเจรจาคือ ดำเนินการลดความรุนแรง
"เสียงจริง" เหล่านี้น่าจะพอเป็นกำลังใจให้คณะพูดคุยเจรจาได้บ้าง โดยเฉพาะแกนนำหลัก 3 คน อย่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะสองคนหลังที่แทบไม่ได้หยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะต้องลงพื้นที่ร่วมเวทีที่จัดขึ้นแทบทุกสัปดาห์
และ "เสียงจริง" ที่่ว่านี้ หากนำไปสรุปเรียบเรียงดีๆ ก็จะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่นำไป "ยัน" และ "กดดัน" กลุ่มนายฮัสซันกลับไปได้บ้าง หลังจากที่คณะพูดคุยฝ่ายไทยเสียรังวัดมาตลอด โดยเฉพาะในประเด็น "ลดความรุนแรง"
แม้เป้าหมายของบีอาร์เอ็นจะค่อนข้างชัดว่าไม่ได้ต้องการสันติภาพในบริบทเดียวกับรัฐไทย ซ้ำยังซ่อนนัยความต้องการแบ่งแยกดินแดนเอาไว้ จนน่าจะ "คุยกันไม่รู้เรื่อง" ดังที่เคยเขียนวิเคราะห์ไว้ในคอลัมน์นี้ แต่ถึงวันนี้ก็ชัดเจนว่าจุดยืนของบีอาร์เอ็นไม่ใช่จุดยืนของคนชายแดนใต้ทั้งหมด
ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาให้กับคนในพื้นที่โดยตรงเพื่อ "ปลดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม" คือสิ่งที่ต้องเร่งทำโดยด่วน เพราะจากการเปิดเวทีรับฟังความเห็นและข้อเรียกร้องต่างๆ จากประชาชน ทำให้ทราบข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าปัญหาพื้นฐานต่างๆ ที่ประชาชนเคยเรียกร้องเอาไว้ รัฐแทบจะทำไม่สำเร็จเลยสักเรื่องเดียว ทั้งๆ ที่หลายเรื่องหลายปัญหาพูดกันมาเกือบ 10 ปีแล้ว
เช่น เวทีรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนของ นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังมีเสียงเรียกร้องให้บรรจุบัณฑิตแพทย์ที่เป็นเด็กในพื้นที่และจบการศึกษามาจากตะวันออกกลางให้ได้ปฏิบัติงานตามโรงพยาบาลในพื้นที่ในฐานะแพทย์ เพราะที่ผ่านมาบัณฑิตเหล่านี้แทบไม่มีงานทำ เนื่องจากวุฒิการศึกษาไม่ได้รับการรับรองในเมืองไทย ทำให้บัณฑิตแพทย์หลายคนต้องกล้ำกลืนเป็นลูกจ้างโรงพยาบาลในพื้นที่เพียงเพื่อให้มีงานทำ รับเงินเดือนไม่กี่พันบาท ทั้งๆ ที่หากข้ามฝั่งไปมาเลเซียจะมีเงินเดือนหลักแสน เรื่องแบบนี้ได้ยินเสียงบ่นมาเป็นสิบปี และศูนย์ข่าวอิศราเคยทำสกู๊ปตีแผ่เมื่อปลายปี 2548 แต่ผ่านมาถึงปีนี้ ปี 2556 ก็ยังมีเสียงร้องเรียนกันอยู่
และปัญหาสำคัญที่พูดกันทุกเวที คือ การอำนวยความยุติธรรมและการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ซึ่งสร้างบาดแผลให้กับคนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง
ข้อมูลจากกลุ่มนักศึกษา ระบุว่า ปรากฏการณ์ในพื้นที่ทุกวันนี้จริงๆ คือปรากฏการณ์ "โพสต์-บีอาร์เอ็น" เพราะหลายมิติไม่ได้เกี่ยวกับการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นโดยตรง แต่เป็นการจับปืนขึ้นสู้ของคนอีกจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ
สอดคล้องกับผู้ที่เคยติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่แม้ศาลจะยกฟ้องคดีไปนานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังคงตกเป็นผู้ต้องสงสัยทุกงาน ทุกที่ ทุกเวลา ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านด่านยังถูกเรียกตรวจเหมือนเป็นคนร้าย คนกลุ่มนี้มีมากมายตามจำนวนหมายที่เคยออก พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยตรงกับคนในพื้นที่ ไม่ต้องรอไปคุยกับบีอาร์เอ็นก่อน
นี่คือข้อเสนอที่น่าสนใจ เพราะคนในพื้นที่ต่างหากที่ "เล่นจริง-เจ็บจริง" และควรได้รับการดูแลทันที โดยไม่ต้องไปลุ้นว่าคนที่ไปหลบอยู่มาเลเซียแล้วแถลงผ่านยูทูบจะสามารถสั่งการใครได้จริงหรือเปล่า
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สามแกนหลักในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย (จากซ้าย) พล.อ.นิพัทธ์ พล.ท.ภราดร และ พ.ต.อ.ทวี
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย ปกโฟกัส หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 11 มิ.ย.2556 ด้วย