กมธ.สิ่งแวดล้อม วุฒิฯ เล็งใช้ พ.ร.บ.ออกคำสั่งฯ เรียก กบอ.เข้าแจงโครงการน้ำ
'ปลอดประสพ' เลื่อนแจง กมธ.สิ่งแวดล้อมฯ ปมโครงการบริหารจัดการน้ำ อ้างเจรจาราคาเอกชน 'ปรเมศวร์' เผยศาลปกครองตอบรับเตรียมตัดสินข้อร้องเรียน สมาคมต่อต้านโลกร้อน 27 มิ.ย.นี้
วันที่ 11 มิ.ย. มีการประชุมคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ที่รัฐสภา โดยมีนายบุญส่ง โควาวิสารัช ประธาน กมธ.ฯ เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วย นายสุรจิต ชิรเวทย์ รองประธานกมธ.ฯ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการกฎหมายอิสระ และคณะอนุกรรมการมาตราการป้องกันการทุจริต ป.ป.ช. นายปรเมศวร์ มินศิริ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ไทยฟลัด ร่วมประชุมพิจารณาโครงการบริการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำฯ
โดยที่ กมธ.ได้ทำหนงสือเชิญนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) มาร่วมตอบคำถามเพื่อความชัดเจนของโครงการ อาทิ แต่ละโมดูลจะสามารถดำเนินการเชื่อมโยงการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่
ซึ่งนายปลอดประสพ ได้มอบหมายให้นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) มาชี้แจงแทน แต่ก่อนการประชุมก็ได้ส่งหนังสือมาชี้แจง กมธ.ว่าขอเลื่อนเข้าร่วมการประชุมไปก่อน เนื่องจากติดภารกิจเจรจาต่อรองราคากับกลุ่มบริษัทที่มีคะแนนผ่านการคัดเลือกประมูลโครงการออกแบบแนวคิดบริหารจัดการน้ำฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล
นายบุญส่ง กล่าวว่า จากนี้ กมธ.อาจทำหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมอีกครั้ง โดยอาจใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ออกคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เรียกมาชี้แจงข้อมูลต่อไป
ขณะที่นายปรเมศว์ กล่าวถึงกระบวนการของ กบอ.นอกจากจะดำเนินการอย่างผิดขั้นตอน มีความไม่ชัดเจนเรื่องราคากลาง ที่กรมบัญชีกลางเคยออกประกาศให้เปิดเผยราคากลางผ่านเว็บไซต์ ทั้งโครงการที่ก่อสร้างและไม่ก่อสร้างแล้ว ยังผิดรัฐธรรมนูญที่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรับฟังความเห็นประชาชนก่อนด้วย
"หากวันที่ 18 มิ.ย.นี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติรายงานผลการคัดเลือกกลุ่มบริษัทที่ผ่านการประมูลออกแบบก่อสร้างฯ เท่ากับว่า ผลเป็นที่สิ้นสุด จะต้องมีการเซ็นสัญญาดำเนินโครงการต่อไป ดังนั้น หากจัดรับฟังความเห็นประชาชนหรือทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปภายหลังจากนั้นก็ไม่มีประโยชน์ เพราะข้อเสนอแนะหรือผลการศึกษาก็จะแก้ไขใดๆ ในตัวสัญญาไม่ได้" นายปรเมศว์ กล่าว และว่า เมื่อมีการเปิดซองราคาและเจรจาต่อรองราคาเท่ากับว่า รัฐและเอกชนเริ่มมีนิติสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังนั้น ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ศาลปกครองได้แจ้งว่า จะตัดสินพิจารณาข้อร้องเรียนที่ก่อนหน้านี้ สมาคมต่อต้านสภาะโลกร้อนได้ยื่นร้องเรียนต่อศาปกครองให้รัฐบาลใช้กระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการ แต่ช่วงนั้นไม่มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐและเอกชน
ด้านนายแก้วสรร กล่าวว่า โครงการการบริหารจัดการน้ำมีสิ่งที่ละเมิดสิทธิประชาชนชัดเจน คือ การไม่รับฟังความเห็นประชาชน แต่ใช้อำนาจในการเลือกพื้นที่ ปรับทิศทางน้ำโดยไม่ถามความเห็นชอบ และละเมิดเรื่องการรับรู้ ทวงถามข้อมูลการดำเนินงาน ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
"การดำเนินการเดินหน้าไปขณะที่ยังไม่มียุทธศาสตร์น้ำที่ชัดเจน แต่เร่งรัดที่จะหาเครื่องมือมาบริหารจัดการน้ำ ทั้งเขื่อน และแก้มลิง หวังว่าจะใช้ "สินค้า" ทางวิศวกรรมมาบริหารจัดการมาสร้างความยั่งยืนอย่างบูรณาการคงไม่ได้ ทั้งนี้ เห็นด้วยว่าหลายโครงการเป็นเรื่องที่ควรก่อสร้างนานแล้ว เช่น บึงสีไฟ แต่ไม่ใช่จับทุกโครงการมารวมกันเช่นนี้ กระบวนการแนวคิดจึงผิดทั้งหมด และมองไม่เห็นว่าจะบริหารจัดการ ติดตาม ตรวจสอบโครงการทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร"
ล่าสุด นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.สำนักนายกฯ กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลถึงการเจรจาต่อรองราคากับกลุ่มบริษัทเอกชนว่า วันนี้ได้เชิญเอกชน 2 รายเข้าเจรจา ได้แก่ บ.ล็อกซเลย์ และซัมมิท เอสยูที ทั้งนี้ ได้ชี้แจงด้วยว่า
หากการเจรจาต่อรองราคาเสร็จสิ้นแต่ไม่สามารถได้ราคาที่เหมาะสม หรือไม่ทันกรอบเวลาของ พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ก็จะไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างในโมดูลนั้นๆ แต่จะประกวดราคาใหม่ตั้งแต่ต้น ด้วย "งบประมาณปกติ" เพราะเกินกรอบกำหนดเวลาแล้ว