ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 60 ล้านไร่ กรมชลฯหวังไต่อันดับโลก
ครบรอบ 111 ปีกรมชลประทานตั้งเป้าขยายพื้นที่เพิ่มอีก 30.4 ล้านไร่ เน้นสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย เผยปัจจุบันเพิ่มได้เฉลี่ยปีละ 2 แสนไร่ ระบุหลายโครงการพัฒนาสะดุดเพราะประชาชนคัดค้านมาก
ภาพจาก http://image.free.in.th/z/ie/jdtn2.jpg
(10 มิ.ย. ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมชลประทานแถลงข่าวผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำในรอบ 111 ปี ที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน
ว่าที่ร้อยตรีไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้มากขึ้นจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยจะมีการพัฒนาแหล่งน้ำและการเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำ ตามแผนยุทธศาสตร์ในระดับต่าง ๆ 11 โครงการ อาทิ การสร้างอ่างเก็บน้ำ 2,363 แห่ง การสร้างฝาย 1,877 แห่ง ประตูระบายน้ำ 549 แห่ง สถานีสูบน้ำ 1,676 แห่ง การพัฒนาแหล่งน้ำประเภทแก้มลิง 1,471 แห่ง เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งเก็บกักน้ำรวมทั้งประเทศ 76,899 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วนถึงปีละ 73,788 ลบ.ม. โดยสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 29.6 ล้านไร่ หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนพัฒนาทั้งหมด จะขยายพื้นที่ชลประทานได้ทั้งสิ้นประมาณ 30.4 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำได้อีกกว่า 26,603 ล้าน ลบ.ม. รวมแล้วจะทำให้ประเทศไทยมีแหล่งเก็บกักน้ำ 102,973 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มเป็น 60 ล้านไร่
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า กรมชลประทานเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้เฉลี่ยปีละสองแสนกว่าไร่ โดย ปี 2556 เพิ่มได้ 196,000 ไร่ ปี 2557 จะเพิ่มได้อีกประมาณ 270,000 ไร่ และปี 2558 จะเพิ่มได้อีกประมาณ 380,000 ไร่
อย่างไรก็ตาม การโครงการพัฒนาต่าง ๆ มีอุปสรรคหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ สังคม-ภาคประชาชน สิ่งแวดล้อม แต่ละปีกรมชลประทานเสนองบประมาณไปเกือบหนึ่งแสนล้านบาท ได้รับมาเพียงสามถึงสี่หมื่นล้านบาท หรือหลายโครงการที่มีความพร้อมไม่สามารถดำเนินการได้เพราะประชาชนในพื้นที่คัดค้าน เช่น โครงการเขื่อนท่าแซะ โครงการลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ที่ยังมีปัญหามาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองก็มีส่วนอย่างมาก ที่ทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำไม่เป็นไปตามแผน
ว่าที่ร้อยตรีไพเจน กล่าวถึงโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำกว่าสองพันโครงการ ที่อยู่ในแผนของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ใช้วงเงินกว่าสองแสนล้านบาทด้วยว่า ในจำนวนนี้ มีอยู่กว่า 20 โครงการ ที่คาบเกี่ยวกับงานของกรมชลประทาน เช่น โครงการเขื่อนแม่วงก์ จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 290,000 ไร่ โครงการในลุ่มน้ำยม จะได้ประมาณหกถึงเจ็ดแสนไร่
ส่วนหลายโครงการของ กบอ. ที่น่าจะได้รับการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ จะสามารถเดินหน้าจนสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหนนั้น รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลที่จะมีมาตรการชดเชยที่เหมาะสมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องในโอกาสครบรอบสถาปนา 111 ปี กรมชลประทานได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะในส่วนของนิทรรศการ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก และกิจกรรมที่เปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชม 5 ฐาน อาทิ ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กิจกรรมเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับงานชลประทาน การจำหน่ายสินค้าการเกษตร และบริการแจกพันธุ์กล้าไม้ และบริการสุขภาพฟรี งานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน 2556 ณ กรมชลประทาน สามเสน