ตามคาด! อิตัลไทยกวาด 5 โมดูลจัดการน้ำ เค วอเตอร์ คว้า 'แก้มลิง-ฟลัดเวย์'
เปิดซองคะแนนบริษัทยื่นประมูลชิงเค้กบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน อิตัลไทยกวาด 5 โมดูล แสนล้าน 'เค วอเตอร์' ได้โครงการยักษ์ แก้มลิง ฟลัดเวย์ 1.62 แสนล้าน 'ธงทอง' เผยเตรียมเจรจา ก่อนนำเข้า ครม.18 มิ.ย.นี้
เช้าวันที่ 10 มิถุนายน ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ในโครงการประมูลระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ได้สั่งให้มีการขนย้ายตู้เซฟที่บรรจุกล่องซองเอกสารเสนอเทคนิคและราคาของบริษัทเอกชน จากห้องทำงานของนายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล รักษาการ เลขาธิการ สบอช. ที่ห้องทำงานตึกแดง 1 (สอบช.) มายังตึกสันติไมตรี เพื่อเปิดซองราคาที่บริษัทเอกชนเสนอให้สื่อมวลชนรับทราบและเผยแพร่
จากนั้น ศ.พิเศษธงทอง ได้ประกาศผลคะแนนของกลุ่มบริษัทที่ได้รับคะแนนเกิน 80 คะแนน และได้คะแนนสูงสุด ในแต่ละโมดูล จากทั้งหมด 10 โมดูล ได้แก่
โมดูล เอ1 อ่างเก็บน้ำ ตามทีโออาร์กำหนดเพดานงบประมาณไว้ 50,000 ล้านบาท บริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ITD หรือ Italian-Thai Development Public Company Limited (ITD) เสนอราคาไว้ 49,999 ล้านบาท
โมดูล เอ 2 พื้นที่ปิดล้อม ตามทีโออาร์กำหนดเพดานงบประมาณไว้ 26,000 ล้านบาท บริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ITD เสนอราคาเต็มเพดานอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท
โมดูล เอ 3 แก้มลิง ตามทีโออาร์กำหนดเพดานงบประมาณไว้ 10,000 ล้านบาท บริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด คือ บริษัท K Water เสนอราคาไว้ 9,999 ล้านบาท
โมดูล เอ 4 ปรับปรุงลำน้ำ ตามทีโออาร์กำหนดเพดานงบประมาณไว้ 17,000 ล้านบาท บริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด คือบริษัท ITD เสนอวงเงินเต็มเพดานอยู่ที่ 17,000 ล้านบาท
โมดูล เอ 5 Floodway ตามทีโออาร์กำหนดเพดานงบประมาณไว้ 153,000 ล้านบาทบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด คือ บริษัท K Water เสนอวงเงินเต็มเพดานที่ 153,000 ล้านบาท
โมดูล เอ 6 และ โมดูล บี 4 คลังข้อมูล ตามทีโออาร์กำหนดเพดานงบประมาณไว้ 4,000 ล้านบาท บริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด คือ บริษัท Loxley เสนอราคา 3,997 ล้านบาท
โมดูล บี 1 อ่างเก็บน้ำ ตามทีโออาร์กำหนดเพดานงบประมาณไว้ 12,000 ล้านบาท บริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด คือบริษัท ITD เสนอราคาไว้ 11,999 ล้านบาท
โมดูล บี 2 พื้นที่ปิดล้อม ตามทีโออาร์กำหนดเพดานงบประมาณไว้ 14,000 ล้านบาท บริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด คือบริษัท Summit SUT เสนอราคาอยู่ที่ 13,933 ล้านบาท
โมดูล บี 3 ปรับปรุงลำน้ำ ตามทีโออาร์กำหนดเพดานงบประมาณไว้ 5,000 ล้านบาท บริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด คือบริษัท ITD เสนอวงเงินเต็มเพดาน 5,000 ล้านบาท
สรุปโดยรวมแล้ว กลุ่มบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุดถึง 5 โมดูล คือ บริษัท ITD ซึ่งมีราคาที่เสนอรวม 109,999,627,000 บาท ขณะที่บริษัท K Water ที่ได้คะแนนสูงสุดเพียง 2 โมดูล แต่ก็เป็นโครงการใหญ่และเป็นที่จับตามองทั้ง 2 โมดูล และมีมูลค่ารวมแผนงานที่เสนอรวม 162,999,990,000 บาท
ส่วนบริษัท Summit SUT และบริษัท Loxlay ได้เพียงบริษัทละ 1 โมดูล อย่างไรก็ตามผลดังกล่าวนี้ยังไม่ได้สิ้นสุดจนกว่าจะผ่านการเจรจาต่อรอง
สำหรับการเจรจาต่อรองราคาในลำดับต่อไป ศ.พิเศษธงทอง กล่าวว่า หลังจากนี้จะประชุมกับคณะทำงาน เพื่อกำหนดวิธีการต่อรองราคา ที่จะเป็นไปตามเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่กรมบัญชีกลางและสำนักบริหารหนี้สาธารณะบันทึกไว้ รวมถึงพิจารณาความเสี่ยงและเทคนิคต่างๆ และมีฝ่ายกฎหมาย ผู้แทนกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องร่วมเจรจาด้วย โดยเริ่มต้นการต่อรองจากบริษัทที่ได้รับคะแนนสูงสุดก่อน หากต่อรองราคาไม่เป็นผลสำเร็จก็จะเปิดซองราคาบริษัทในลำดับถัดไปและดำเนินการต่อรองไปเรื่อยๆ แต่หากท้ายที่สุดไม่มีบริษัทใดผ่านการต่อรองก็จะทำรายงานให้ กบอ.พิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ อาจจะเริ่มต่อรองราคากับบริษัทต่างๆ ได้เย็นวันนี้ หรือเช้าวันพรุ่งนี้ และคาดว่าจะใช้เวลา 3 วัน การต่อรองจะเสร็จสิ้น และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กบอ.ในวันที่ 14 มิ.ย. เพื่อเสนอรายงานให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ให้ทันกรอบ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่สิ้นสุด 30 มิ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายมณฑล ภานุโภคิน กรรมการผู้จัดการ เค.วอเตอร์ ประเทศไทย ได้เดินทางมารอเจรจาต่อรองกับคณะกรรมการคัดเลือก และให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงผลคะแนนว่า มีความพอใจที่ได้รับคะแนนสูงใน 2 โมดูล คือ แก้มลิง และฟลัดเวย์ แต่ในส่วนคลังข้อมูลที่มีความถนัดแต่ไม่ได้ก็พร้อมให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่ล็อกซเล่ย์
"ขณะนี้เตรียมข้อมูล ดูแนวทางน้ำไว้บ้างแล้ว เพียงรอความชัดเจน โดยยึดแนวคิดตามกรอบทีโออาร์เป็นหลักแต่จะนำมีเทคนิคใหม่มาทำงานให้รวดเร็วขึ้น และหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ส่วนกลุ่มโครงการที่ได้รับที่ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นโครงการใหญ่และอาจมีปัญหาเรื่องมวลชนนั้น เนื่องจากมวลชนอาจยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน จากนี้หากเค วอเตอร์ได้รับคัดเลือกแล้วจะนำข้อมูลแถลงต่อภาคประชาชน และพัฒนาร่วมกับประชาชน โดยเฉพาะคณะกรรมการลุ่มน้ำที่มีการประสานมาบ้างแล้วให้เข้ามามีส่วนร่วมให้ข้อมูลและความเห็น มุ่งเน้นด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เชื่อว่าหากเปิดเผยข้อมูลทำความเข้าใจ จะทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา"