จากเวทีในพื้นที่ถึงเวทีเจรจา กับข้อเสนอแก้ปัญหา "โพสต์ บีอาร์เอ็น"
ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีการจัดเวทีถี่ยิบในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะเวทีของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ที่มีข้อเสนอต่อโต๊ะพูดคุยสันติภาพ
กระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น ริเริ่มขึ้นนับจากวันลงนามกับตัวแทนรัฐบาลไทย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในข้อตกลงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 นับจากวันนั้นมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการมาแล้ว 2 ครั้ง และไม่เป็นทางการอีก 1-2 ครั้ง
หลังการพูดคุยอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2556 ศอ.บต.จัดเวทีแทบทุกสัปดาห์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ ภายใต้หลักคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและประชาสังคมทุกกลุ่ม โดยมีแกนนำคณะพูดคุยสันติภาพทั้ง พล.ท.ภราดร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมรับฟังอย่างพร้อมเพรียงเกือบทุกเวที
ยิ่งจัดหลายเวที ยิ่งได้ข้อเสนอที่หลากหลายและแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ "ทีมข่าวอิศรา" สรุปประเด็นมานำเสนอดังนี้
5 ข้อบีอาร์เอ็นมีทั้งรับได้-รับไม่ได้
เวทีพบปะกับกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบันในพื้นที่ เรียกรวมๆ ว่ากลุ่ม "ดรีมเซาท์" ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี วันเสาร์ที่ 8 มิ.ย.2556 ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ซึ่งฝ่ายความมั่นคงยืนกรานว่า "ยอมรับไม่ได้" แต่กลุ่มนักศึกษามองว่า น่าจะพอรับได้บางข้อ แต่บางข้อก็ไม่ควรยอมรับ กล่าวคือ
1.การยกระดับให้มาเลเซียเป็น "คนกลาง" ในการพูดคุยเจรจา หรือ mediator แทนการเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" หรือ facilitator ในปัจจุบัน
ประเด็นนี้เห็นว่าสามารถยอมรับได้ เพราะบทบาทของมาเลเซียแม้จะถูกกำหนดให้เป็นผู้อำนวยความสะดวก ในทางปฏิบัติจริงย่อมแสดงบทบาทเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยไปในตัวอยู่แล้ว การยอมรับข้อเรียกร้องนี้จึงน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า เนื่องจากมาเลเซียได้รับการยอมรับจากกลุ่มบีอาร์เอ็น ในขณะที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียก็มีสัมพันธ์อันดีต่อกัน
2.การให้รัฐไทยยอมรับว่าการพูดคุยครั้งนี้เป็นการพูดคุยระหว่างชาวปาตานีที่นำโดยบีอาร์เอ็น กับรัฐบาลไทย (สยาม)
ประเด็นนี้เห็นว่ายังไม่สามารถยอมรับได้ เพราะแม้บีอาร์เอ็นจะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดในพื้นที่ก็ตาม แต่ในพื้นที่ยังมีผู้เห็นต่างกลุ่มอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้เปิดเผยตัว ดังนั้นต้องมีการรับฟังความเห็นให้ทั่วถึงก่อน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่เป็นมลายู
3.การให้โอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) ตัวแทนชาติอาเซียน และองค์กรพัฒนาเอกชน มีบทบาทในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
ประเด็นนี้เห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าบทบาทขององค์กรต่างประเทศจะเป็นไปในลักษณะใดและมีฐานะใด เพราะนัยแห่งภาษาตีความได้ 2 อย่าง คือ "ผู้สังเกตการณ์" หรือ "สักขีพยาน" ซึ่งทั้งสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในแง่ของบทบาท
4.การปล่อยตัวผู้ต้องขังและยกเลิกหมายจับ
ประเด็นนี้เห็นว่าไม่สามาถยอมรับได้ เนื่องจากมีผู้ต้องขังบางส่วน ที่กระทำความผิดจริง ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่ในส่วนของผู้ไม่ได้กระทำความผิด หรือถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม กลุ่มนี้สามารถปลดปล่อยได้ และต้องได้รับการชดเชยตามสิทธิอย่างเหมาะสม
ประเด็นนี้ เสนอเพิ่มเติมว่าต้องมีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ (ตำรวจ ทหาร กรณีใช้กฎหมายพิเศษ) ส่วนการตัดสินที่ผิดพลาดต้องมีการยอมรับและขอโทษต่อผู้ที่ถูกคุมขังในส่วนนี้
5.การให้ยอมรับว่าบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรปลดปล่อย ไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ประเด็นนี้เห็นว่าต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนว่า "การปลดปล่อย" กับ "การแบ่งแยก" มีเป้าหมายอย่างไร หากมีเป้าหมายในลักษณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถยอมรับได้ เพราะต้องมีรูปแบบการปกครองที่ชัดเจนที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้กำหนดอนาคตของตนเองว่าจะดำรงวิถีชีวิตแบบใด และประชาชนในพื้นที่ยอมรับได้หรือไม่
วันเดียวกัน ยังมีเวทีที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในเขตเทศบาลนครยะลา ในหัวข้อ "รู้การพูดคุยอย่างเสรี...สู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ เพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืน" โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในระดับจังหวัดและอำเภอ กำนันทุกตำบล ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อิหม่ามประจำมัสยิด เจ้าอาวาส ผู้แทนมูลนิธิต่างๆ ผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ผู้แทนหน่วยทหารในพื้นที่ ผู้กำกับการสถานีตำรวจทุกพื้นที่ของ จ.ยะลา องค์กรภาคเอกชนและประชาสังคม กลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมรวมกว่า 1,000 คน
เปิดพื้นที่ปลอดภัย-ปลดเงื่อนไข "โพสต์ บีอาร์เอ็น"
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิ.ย. ที่ห้องโถง อาคารเอนกประสงค์ ศอ.บต. นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นและรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนทุกกลุ่มตามนโยบายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.กปต.
ในเวทีดังกล่าวได้มีการแสดงความเห็นเรื่องการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วย
ดันย้าล อับดุลเลาะ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรง โดยเฉพาะในเรื่องความคิด รัฐต้องเปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกภาคส่วน และทุกระดับได้พูดคุยกันอย่างเปิดเผยทุกเรื่อง
"แม้พวกผมจะเป็นเยาวชนแต่ก็เข้าใจปัญหาดี อย่างผมถูกกดทับทางความคิด แต่ไม่มีพื้นที่ให้ได้ระบายหรือถ่ายทอดสิ่งที่คิดอยู่ได้ ปัญหาแบบนี้ทำให้คนบางกลุ่มไปหาพื้นที่ของตนเอง บางคนเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อจัดการปัญหาในแบบที่ตนเองคิดว่าทำได้"
"ผมคิดว่าการแก้ปัญหาสามจังหวัดต้องเปิดพื้นที่เสรีทุกระดับให้ได้พูดในสิ่งที่ตัวเองคิด ไม่ใช่แค่เวที ศอ.บต. หรือ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) หรือของภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่ควรมีฟรีโซน เซฟตี้โซน (พื้นที่เสรี ปลอดภัย) ไม่ว่าจะเป็นร้านน้ำชา ร้านกวยเตี๋ยว ร้านค้า ทุกที่ที่ประชาชนอยู่ พวกเขาต้องสามารถคุยได้ทุกเรื่อง"
"อย่างเรื่องกฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ในพื้นที่ รัฐเชื่อว่ากฎหมายพิเศษเป็นแนวทางหาตัวผู้กระทำผิดได้ แต่จากการศึกษาพบว่ากฎหมายพิเศษกลับทำให้เกิดเงื่อนไขความรุนแรงระลอกใหม่ขึ้นมา ที่เราเรียกว่า 'โพสต์ บีอาร์เอ็น' (บริบทหลังจากการเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็น) หมายความว่าไม่ใช่บีอาร์เอ็นโดยตรง ไม่ใช่ผู้ที่จับปืนสู้กับรัฐโดยตรง แต่เมื่อเขาถูกกระทำจากกฎหมายพิเศษ จากความไม่เป็นธรรม เขาจึงต้องจับปืนสู้กับรัฐ เพราะรัฐไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับเขาได้"
"เพราะฉะนั้นรัฐตองเปิดพื้นที่ให้พวกเขาสามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ทุกระดับความคิด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่เขาคิด ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจการ เรื่องการจัดการตนเอง เมื่อเปิดพื้นที่ให้เขาคิดได้ พูดได้ มันจะนำไปสู่การปฏิบัติจริง ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะหายไป ความเป็นธรรมก็จะกลับคืนมาสู่บ้านเรา"
อดีตผู้ติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (หมายเชิญตัวที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) จาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า สิ่งที่หลายคนเรียกร้องอยู่ตอนนี้คือการ ขอให้รัฐยกเลิกข้อมูลของผู้ที่ติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหมาย ป.วิอาญา (ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) ที่ศาลตัดสินแล้วว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะการที่มีข้อมูลในบัญชีที่อาจจะเรียกได้ว่าบัญชีดำ ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง แม้แต่จะเดินทางไปกับ ศอ.บต. ยังถูก ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) กักตัวเพื่อตรวจสอบเป็นชั่วโมง ทำให้รู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพไม่มีเลย เราไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์จริงอย่างที่ศาลตัดสิน ยังเป็นคนที่มีปัญหาอยู่
"ยิ่งปัจจุบันเรื่องนี้เป็นหนึ่งใน 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น คิดว่ารัฐทำได้เลยและทำได้ก่อนที่จะมีใครมาเรียกร้อง เป็นสิ่งที่ทำได้ทันที ไม่ต้องรออำนาจจากใคร ถ้ารัฐทำจะแสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา และคนที่ได้รับประโยชน์คือชาวบ้าน คือประชาชน จะได้หันมามองรัฐในด้านดีๆ บ้าง เพราะการโดนหมายหรือมีชื่อในบัญชี ไม่ใช่แค่เจ้าตัวเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ทุกคนในครอบครัวต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย" อดีตผู้ติดหมาย พ.ร.ก.กล่าว
ถือเป็นมุมมองและข้อเสนอที่แหลมคม น่าสนใจ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับรัฐว่าจะให้ความสำคัญเดินหน้าแก้ไขแบบจริงๆ จังๆ เมื่อไหร่...เท่านั้นเอง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 วงรับฟังความคิดเห็นโดย นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (ภาพโดย นาซือเราะ เจะฮะ)
2 เวทีใหญ่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)