เปิดแนวทาง "ไม่กินอาหารด้วยความโง่เขลา" ยึดหลัก 4 อ. เพิ่มอายุยืน
เชื่อว่าใครหลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “You are what you eat” หรือ “กินอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น” กันมาบ้าง แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายของประโยคนี้จริง ๆ จนกว่า สิ่งที่เป็นผลพวงจากการกินจะเกิดขึ้นกับตัวเอง
ในงานวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2556 จึงมีการจัดเสวนา “กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยมี นพ.วีรฉัตร กิติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และคุณเพียงพร ลาภคล้อยมา ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติบำบัดกับการเยียวยา ผู้เรียบเรียงหนังสือเรื่อง ”ธรรมชาติบำบัด” ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ว่าเราควรจะกินอยู่อย่างไรให้เป็นผลดีกับสุขภาพตัวเอง
กว่า 25 ปีมาแล้ว ที่ เพียงพร ลาภคล้อยมา เลิกกินเนื้อสัตว์เด็ดขาด หลังตรวจพบเนื้องอกขนาดเท่ากำปั้น ในมดลูก! เคราะห์ดีที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นเนื้อร้าย แต่ก็จำเป็นต้องเอาออก
“ก่อนการรักษาได้ถามหมอว่า “เพราะอะไรเราถึงเป็น?” หมอถามกลับมาว่า คุณใช้ชีวิตยังไง กินอยู่ยังไง ก็อธิบายให้หมอฟังทั้งหมด หมอบอก ต่อไปนี้ต้องไม่ทำอย่างที่เคยเป็น” เพียงพรเล่าย้อนสาเหตุที่ทำให้เธอเปลี่ยนวิถีการกินมาเป็นมังสวิรัติ
เพียงพรขยายความถึงวิถีชีวิตของเธอต่อว่า ก่อนหน้านั้น เป็นคนชอบและมีความสุขกับการกินมาก ถึงขนาดถ้ารู้ว่าที่ไหนมีอะไรอร่อย ๆ จะตามไปกินหมดทุกที่ กับอีกอย่างคือเห่อกับการมีอะไรใหม่ ๆ ตามกระแสเหมือนคนอื่น ทำให้ต้องทำงานหนักหาเงินไปซื้อหา ร่างกายจึงแบกรับความกดดัน เมื่อรู้ว่านี่คือที่มาของเนื้อร้ายก้อนนั้น จึงต้องเลิกสองสิ่งนี้ในเวลาต่อมา
ชีวิตต้องพลิกกลับ 180 องศา หันมาดูแลตัวเองด้วยการไม่กินเนื้อสัตว์ แม้ในช่วงแรก ๆ จะรู้สึกโดดเดี่ยวจากสังคมรอบข้าง แต่ก็ต้องทำ ทุกวันนี้คุณเพียงพรจึงไม่กินเนื้อสัตว์ใหญ่เลย แต่มีกินบ้าง จำพวกปลาหรือสัตว์น้ำตัวเล็ก ๆ และยังได้พบอีกว่าอาหารการกินเพื่อสุขภาพ ยังต้องเว้นจากอาหารที่เป็น “ของขาว” ด้วย เช่น แป้งขัดขาว น้ำตาลทราย และที่สำคัญคือข้าว
เพราะคุณเพียงพรถือว่า อาหารใดก็ตามที่เราทำให้ขาวนั้น จะไร้ประโยชน์แถมยังอาจมีมลพิษต่อร่างกายเราอีกด้วย เช่น ข้าวขาว ก็เพราะถูกขัดสีเยื่อโปรตีนที่มีประโยชน์ถึง 8 ชนิดออกไปแล้ว จึงเหลือแต่แป้งที่ขาว ร่ายกายคนเราต้องการโปรตีนที่สำคัญ 9 ชนิด โดย 8 ชนิดดังกล่าวมีอยู่ในข้าวกล้องแล้ว ข้าวทุกมื้อที่เธอกินจึงเป็นข้าวกล้อง และกินข้าวเพียงแค่ “มื้อละหนึ่งกำปั้น” คือ “กินเท่าหัวใจตัวเอง” ส่วนโปรตีนที่เหลืออีกหนึ่งชนิดไปหาเติมจากธัญพืชชนิดอื่น
“ทุกวันนี้ที่ยังทานอยู่ก็คือข้าวโพด แต่ต้องเลือกข้าวโพดที่ไม่ต้องสวยนะ เพราะข้าวโพดที่สวยคือจีเอ็มโอ ให้เลือกข้าวโพดที่เมล็ดไม่มีระเบียบ ความไร้ระเบียบของมันคือความปลอดภัยของเรา ถ้าเขาจัดระเบียบมาสวยไม่มีรอยอะไรกัดแทะเลย นั่นแหละชีวิตเราสั้นลง”
ในการกินอาหารแต่ละมื้อ แต่ละวัน คุณเพียงพรบอกว่า สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ อาหาร 4 ประเภท ดังนี้คือ อาหารที่กินเพื่อชำระล้างร่างกาย อาหารที่กินเพื่อการเยียวยา อาหารที่กินเพื่อให้พละกำลัง และอาหารที่มีมลพิษ ดังที่ได้กล่าวไปคืออาหารที่ฟอกขาว ไม่ควรกินอย่างยิ่ง
วิธีการกินที่ต้องเลือกในทุกขั้นตอน ดูเหมือนจะยุ่งยาก แต่ทั้งหมดที่ทำไปนั้น คุณเพียงพรบอกว่า “เราแค่ไม่อยากกินอาหารด้วยความโง่เขลาเท่านั้นเอง เพราะเราไม่รู้ว่าเวลาของชีวิตเรามันเหลือแค่ไหนแล้ว”
อีกมุมหนึ่งของชีวิตคือการทำงาน อดีตข้าราชการกรุงเทพมหานครอย่างคุณเพียงพร บอกว่า สำหรับเธอการทำงาน จะไม่หักโหม ถือคติ “ทำงาน อย่าให้งานทำเรา” แต่จะทำงานให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่สติปัญญาจะทำได้
ทำให้ในที่ชีวิตรับราชการมา 25 ปี ได้สองขั้นเพียงครั้งเดียว! แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เมื่อได้สุขภาพชีวิตที่ดีกลับคืนมา
นอกจากอาหารดีแล้ว การออกกำลังกายก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณเพียงพรมองว่า ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เป็น “โรคแน่นิ่ง” ไม่ยอมออกกำลังกาย คือทั้งวันนั่งทำงานนิ่ง ๆ พอกลับไปบ้านก็นั่งนิ่ง ๆ อยู่หน้าจอโทรศัพท์ เพราะฉะนั้นต้องขยับร่างกายบ้าง เช่น ยืดแข้งยืดขา นวดไหล่ ใช้บันไดแทนลิฟท์ นอกจากนี้ คนทำงานต้องอย่าลืมดื่มน้ำ ทำงานหนักแค่ไหนก็ต้องบริโภคน้ำให้พอ เพราะน้ำจะช่วยขับเอาของเสียจากที่ร่างกายเผาผลาญขณะทำงานออกไป
ขณะที่ นพ.วีรฉัตร กิติรัตนไพบูลย์ กล่าวเสริมถึงปัจจัยที่ทำให้อายุยืน โดยจากผลการวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า องค์ประกอบที่จะช่วยให้คนเราอายุยืนได้ ประกอบด้วย 4 อ.
อาหาร ควรกินอาหารสดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะทั้ง ผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ และอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งคืออาหารที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่ต้องเก็บไว้นาน หรือแช่แข็งแล้วต้องเอามาอุ่นด้วยไมโครเวฟก่อนกิน
ออกกำลังกาย เป็นสิ่งแน่นอนว่าการจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ต้านทานโรคได้ก็ต้องออกกำลังกายด้วยวิธีต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ง่ายที่สุดก็คือการเดินเยอะ ๆ
อารมณ์ ควรรักษาอารมณ์ของตัวเองให้แจ่มใส อย่าให้มีอะไรมากระทบมาก จนเกิดความเครียด กดดัน รักษาอารมณ์ให้นิ่ง ทำให้จิตใจสงบ ซึ่งจะส่งผลถึงร่างกายด้วย เพราะในทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับแล้วว่า จิตใจเป็นตัวควบคุมร่างกาย
อากาศ ควรอยู่ในที่ที่ไม่มีมลพิษ ควันพิษ ไอเสีย ถ้าได้สูดอากาศดี ๆ ร่างกายก็จะสมบูรณ์ เคยมีผลการวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า เซลล์มนุษย์ตั้งแต่คลอดออกมา สมมติว่าไม่เจอมลพิษเลย มนุษย์จะมีอายุยืนถึง 120 ปี
ซึ่งทุกวันนี้ อาหาร อากาศที่ไม่ดี ก็คือสิ่งที่มาตัดทอนอายุของเราให้สั้นลงเรื่อย ๆ
สุดท้าย แม้เรามีจะความรู้หลักการกินอยู่ที่ดีมากแค่ไหน หมอวีรฉัตรก็บอกว่าไร้ประโยชน์ ถ้าเราไม่ลงมือทำอย่างจริงจังด้วยตัวเอง หลายคนยังทำไม่ได้ เพราะแม้แต่จะเริ่มต้นแค่ด้วยลดเนื้อสัตว์ในแต่ละมื้อลง ก็ยากเสียแล้ว ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นที่เราควบคุมไม่ได้อีก เช่น เราจะหาอากาศดี ๆ จากไหนมาสูดเข้าปอด หากว่าเรายังอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษเช่นกรุงเทพฯของเรา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราควบคุมได้มากที่สุด ก็น่าจะเป็นอาหารที่เราเป็นคนเลือกตักเข้าปากด้วยตัวเองในแต่ละมื้อนี่แหละ ลองเปลี่ยนจากที่กินแต่อาหารถูกปากอย่างเดียวดูบ้าง ชีวิตเราก็จะเปลี่ยน