ละติจูดที่ 6 @ ปัตตานี หนังเรื่องนี้เพื่อชายแดนใต้
พูดถึง "ละติจูดที่ 6" หลายคนอาจไม่ทราบว่าเป็น "เส้นรุ้ง" ที่พาดผ่านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ "ละติจูดที่ 6" กำลังจะเป็นชื่อภาพยนตร์เกี่ยวกับแง่งามของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะเข้าฉายภายในปีนี้
และที่น่าสนใจไม่แพ้ชื่อหนังก็คือ "ละติจูดที่ 6" เป็นภาพยนตร์ที่ทุ่มทุนสร้างโดยหน่วยงานรัฐชื่อ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
"ใครที่มองภาพ กอ.รมน.ว่าต้องเป็นองค์กรที่ดุดัน เคร่งเครียด น่ากลัว เพราะทำงานด้านความมั่นคงแล้วล่ะก็ ต้องลบภาพนี้ไปได้เลย เพราะนี่คือความมั่นคงยุคใหม่ เป็นการสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนผ่านทางสื่อภาพยนตร์ และนี่คือบทบาทใหม่อีกบทบาทหนึ่งของ กอ.รมน" พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป. 5) กอ.รมน.กล่าว
จริงๆ แล้ว กอ.รมน.เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่ ศปป.5 คือศูนย์ปฏิบัติการฯที่รับผิดชอบงานเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง ส่วน พล.ต.นักรบ เป็นคีย์แมนสำคัญคนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดภาพยนตร์เรื่องนี้
ใช้สื่อภาพยนตร์สร้างความเข้าใจ
หลักการเริ่มจากการเสริมสร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นภารกิจหลักด้านหนึ่งของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเขียนไว้ในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ที่จัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ด้วย
"เรื่องนี้ ศปป.5 ทำมาหลายปี วิเคราะห์ออกมาได้ว่า การสร้างความรับรู้และความเข้าใจนั้น ถ้าจะทำให้ง่ายและได้ผลดีต้องใช้เวลา ไม่ใช่การยิงสปอตแค่ 1-2 นาที ฉะนั้นการสื่อสารที่ใช้เวลาจะได้ผลมากกว่า แต่ปัญหาคือหากไปจัดสัมนาแล้วนำไปเผยแพร่ หรือทำรายการแบบเชิญคนมานั่งคุยกัน อย่างนั้นมันน่าเบื่อ เพราะการจะดูหรือรับฟังรับรู้อะไรยาวๆ มันต้องมีการนำเสนอที่น่าสนใจด้วย สุดท้ายจึงมาจบที่ภาพยนตร์"
พล.ต.นักรบ ขยายความว่า การสร้างภาพยนตร์จะสร้างความรับรู้และความเข้าใจได้ง่ายที่สุด สามารถสร้างอารมณ์ร่วมได้กับคนทุกรุ่น ทุกวัย โดยเฉพาะถ้าสามารถผูกเรื่องได้ดี คัดเลือกนักแสดงที่เก่งๆ จะทำให้ผู้ชมอินไปกับเรื่องราวตลอด 2 ชั่วโมงของหนัง ยิ่งถ้าสร้างความประทับใจได้ ก็จะจำนาน และอยู่ในความทรงจำไปตลอด
ขยายผลผ่านเพลง-โซเชียลมีเดีย
"จากหนังเรื่องหนึ่ง เราสามารถขยายผลไปได้อีกหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่ใบปิดหนัง หรือ แฮนด์บิลล์ ก็สร้างความรู้สึกที่ดีๆ ได้ พอหนังออกจากโรงก็ทำซีดีเผยแพร่ต่อ หรือช่วงของการโปรโมทก็สร้างกระแสผ่านโซเชียลมีเดีย หรืออย่างเรื่องเพลงประกอบหนัง เราก็นำมาขยายได้อีกทาง ขณะที่นักแสดงเราก็ต้องเลือกคนที่มีชื่อเสียงพอสมควร เพราะแต่ละคนก็จะมีแฟนคลับของเขาช่วยสร้างความคึกคักให้กับหนังได้"
"แต่ทุกอย่างไม่ได้มุ่งไปที่ผลกำไร เพราะเรามุ่งเพื่อสร้างความเข้าใจ ทั้งธีมของหนัง เนื้อเรื่อง นักแสดง ภาพทุกภาพ และเพลงประกอบ เราจะไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับความรุนแรงเลย ทุกอย่างมุ่งสื่อสารไปที่สันติภาพและการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายอย่างสันติสุข" พล.ต.นักรบ ระบุ
วางตัวนักแสดง 3 รุ่นหวังเข้าถึงทุกกลุ่ม
เขาเล่าต่อว่า แม้จะได้ข้อสรุปลงตัวที่การสร้างภาพยนตร์ แต่กระบวนการสร้างก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะทหารไม่มีความคุ้นเคยเอาเสียเลย
"ครั้นจะไปจ้างบริษัทใหญ่โตมาทำ งบประมาณมันก็สูง ก็ไม่กล้าติดต่อเขา พอดีผมมีเพื่อนทำเรื่องมีเดีย ก็เลยขอให้มาช่วยคิด และให้เขาหาผู้กำกับหนังมานั่งคุยกันด้วย คือ คุณเจมส์ ธนดล นวลสุทธิ์ เมื่อคุยกันแล้ว ได้รู้แนวคิดกันแล้ว ก็มองเห็นความเป็นไปได้ โดยคอนเซปท์หลักของเราที่แปรมาเป็นบทภาพยนตร์ก็คือ การสร้างความเข้าใจ ทั้่งความเข้าใจพื้นที่และความเข้าใจต่อพี่น้องมุสลิม โดยสื่อผ่านความสวยงามของพื้นที่และสังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งสามารถอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างได้อย่างมีความสุข"
"โครงเรื่่องของเราไม่ซับซ้อน ตัวละครมี 3 รุ่น เพื่อให้ตัวหนังสามารถเข้าถึงคนทุกระดับ ทุกกลุ่มอายุ คือรุ่นผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็ก โดยมีฉากหลังเป็นความสวยงามของปัตตานี ทั้งวังเก่า บ้านเรือน สถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์มีความเป็นมา และการอยู่ร่วมกันของพุทธมุสลิม" พล.ต.นักรบ กล่าว
เปิดเนื้อหาสายสัมพันธ์คนต่างศาสนา
"ละติจูดที่ 6" เป็นเรื่องราวชีวิตช่วงหนึ่งของ "ต้น" ซึ่งรับบทโดย ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล พระเอกในรุ่นผู้ใหญ่ที่ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯไปปัตตานีเพื่อวางระบบคอมพิวเตอร์ให้กับธนาคารอิสลาม ระหว่างนั้นได้ไปรู้จักและมีความรู้สึกดีๆ กับ "ฟ้า" ที่แสดงโดย "โบว์ลิ่ง" ปริศนา กำพูสิริ นางสาวไทยปี 2555 รับบทสาวมุสลิม และเป็นครูโรงเรียนประถม
ท่ามกลางการพัฒนาความสัมพันธ์ของพระเอกนางเอก ก็มีเรื่องราวของนักแสดงรุ่นกลาง คือ ณัฐชา จันทรพันธ์ หรือ "เมาส์ บีโอวาย" แสดงเป็น "ชารีฟ" นักปันจักสีลัตของโรงเรียนที่มีความรู้สึกพิเศษกับ "เฟิร์น" รับบทโดย "น้องมายด์" วิรพร จิรเวชสุนทรกุล สาเหตุที่เลือกปันจักสีลัตก็เพื่อสร้างกระแสให้เยาวชนในสามจังหวัดหันมาเล่นกีฬาประเภทนี้
ส่วนนักแสดงรุ่นเด็กที่มาสร้างสีสัน คือ "น้องใยไหม" เล่นเป็น "ฝ้ายฟู" หลานของ "ต้น" ที่ตามไปใช้ชีวิตที่ปัตตานีด้วยกัน นอกจากนั้นยังมี "บ่าววี" วีรยุทธิ์ นานช้า นักร้องชื่อดังจากแดนใต้ และดาราสมทบซึ่งเป็นพี่น้องในพื้นที่ เช่น ลูกสาวของอดีตผู้ว่าฯปัตตานี ร่วมสร้างความสนุกสนานและความประทับใจตลอดเรื่อง
ตรวจบทเข้ม-ต้องไม่เป็นเงื่อนไขขัดแย้ง
พล.ต.นักรบ บอกว่า จุดที่เน้นที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ตอนเขียนบทก็คือ ต้องไม่มีภาพความรุนแรง รวมทั้งเนื้อหาต้องไม่กระทบกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง ความสัมพันธ์ของคู่พระนางในเรื่องก็ไม่ได้ถึงขั้นเป็นความรัก แต่เป็นความรู้สึกดีๆ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ กอ.รมน.ระมัดระวังมาก โดยตลอดการเขียนบทและถ่ายทำทุกขั้นตอนผ่านความเห็นชอบของผู้นำศาสนาและมีมุสลิมเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด
"เราอยากให้สังคมไทยหรือคนที่ไม่เคยได้ไปสัมผัสสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เห็นความสวยงามของพื้นที่ ความน่ารักของพี่น้องมุสลิม และที่สำคัญคือเราต้องการบอกผ่านภาพยนตร์ว่า เรายอมรับอัตลักษณ์ของพี่น้องมลายู และเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม"
ทุนสร้าง 20 ล้าน-กอ.รมน.ควัก 10 ล้าน
สำหรับเรื่องทุนสร้าง พล.ต.นักรบ แย้มให้ฟังว่า ตั้งงบไว้ที่ประมาณ 15-20 ล้านบาท ซึ่งในมุมหนึ่งอาจจะมองว่าสูง แต่สำหรับการทำภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่องหนึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนัก งบก้อนนี้ กอ.รมน.ให้ทุนสนับสนุนประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนที่เหลือบริษัทสร้างภาพยนตร์ คือ บริษัทยูซีไอ มีเดีย จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ ก็ถือเป็นความกล้าหาญของบริษัทที่กล้าลงทุน ทั้งๆ ที่มีความเสี่ยงว่าจะไม่คุ้มทุนอยู่เหมือนกัน ก็ถือเป็นเจตนาดีที่ต้องการช่วยชาติ
"เรายังไม่รู้ว่าหนังจะทำเงินไหม อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้สนเรื่องกำไร เพราะมีข้อตกลงกันว่าถ้าได้กำไรกลับมา กอ.รมน.ไม่รับ แต่บริษัทต้องทำสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ให้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะไปบริจาคช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์"
พล.ต.นักรบ กล่าวทิ้่งท้ายด้วยว่า ละติจูดที่ 6 น่าจะจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ได้ในช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้ กำลังประสานงานกันอยู่ อาจจะเป็นวันที่ 12 สิงหาฯ วันแม่แห่งชาติ และจะเชิญผู้ใหญ่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้ไปชมพร้อมกัน ทั้งยังเตรียมส่งเข้าประกวดเพื่อชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหลายๆ เวทีด้วย
ผู้กำกับเผยถ่ายทำปัตตานี 80%
"เจมส์" ธนดล นวลสุทธิ์ ผู้กำกับ เผยว่า ภาพยนตร์เรื่องละติดจูดที่ 6 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เล่าผ่านมุมมองของคนกรุงเทพฯ คือพระเอก ที่มีโอกาสได้เดินทางไปทำงานที่นั่น การถ่ายทำกว่า 80% ทีมงานได้ยกกองไปถ่ายทำกันที่ จ.ปัตตานี เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว
"ตอนที่ยกกองไปถ่ายทำนั้น ทางกองถ่ายไม่ได้เจอกับเหตุการณ์รุนแรงอะไรโดยตรง แต่จะมีบริเวณพื้นที่รอบๆ บ้าง ซึ่งก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับกองถ่าย โดยสาเหตุที่ตัดสินใจลงไปถ่ายทำในสถานที่จริง เพราะเห็นว่ายังมีโลเกชั่นสวยๆ ที่ยังไม่มีคนได้ไปอีกมาก เพราะรู้สึกว่ามันปลอดภัย ซึ่งในหนังได้สื่อถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ว่าทุกอย่างจะกลับมาปลอดภัยเหมือนเดิมได้"
กังวลหนังถูกดอง-วอนให้มองเจตนาดี
เจมส์ ธนดล กล่าวด้วยว่า การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทุนมาจาก บริษัท ยูซีไอ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นค่ายหนังใหม่ที่ประเดิมสร้างหนังละติจูดที่ 6 นี้เป็นเรื่องแรกของค่าย โดยทุนสร้างจริงๆ เกือบ 20 ล้านบาท
"สาเหตุที่ทาง กอ.รมน.ให้ทุนสนับสนุนหนังเรื่องนี้ เพราะว่าเริ่มแรกทาง กอ.รมน.มีโจทย์ว่าอยากทำหนังเกี่ยวกับชายแดนภาคใต้ โดยอยากเสนอหนังแนวฟีลกู๊ด (หนังที่ดูสบาย ได้ความรู้สึกดีๆ) โดยเปิดกว้างให้ค่ายหนังนำผลงานไปเสนอได้ ซึ่งปรากฏว่าเรื่องของเราได้รับการคัดเลือก ซึ่งในฐานะคนทำหนังก็รู้สึกดีใจที่มีโอกาสได้ทำ แต่ก็มีความกังวลว่าจะไม่ได้เข้าฉายเหมือนกัน เพราะก่อนหน้านี้มีหนังเกี่ยวกับเรื่องราวชายแดนใต้ที่ไม่ได้เข้าฉาย แต่อยากให้มองที่เจตนามากกว่าว่าหนังมีเจตนาที่ดี" เจมส์ ธนดล กล่าว
และว่า ข้อคิดของหนังเรื่องนี้มาจากโจทย์ของหนัง คือขอให้มีศรัทธาและมีความเชื่อ ถ้ามีความเชื่อ ทุกอย่างก็จะเป็นไปได้ อย่างผู้คนที่นั่นยังมีอีกหลายคนที่ยังใช้ชีวิตอยู่ ทำไมถึงยังใช้ชีวิตที่นั่นอยู่ได้ แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวดีๆ ยังมีอยู่
"ปีเตอร์"บอกคุยกันได้ก็อยู่ร่วมกันได้
ขณะที่ ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล พระเอกของหนัง กล่าวว่า เนื้อหาของหนังจะเล่าผ่านสายตาของตนในฐานะที่เป็นคนกรุงเทพฯ เมื่อต้องไปภาคใต้จะมีความรู้สึกระแวง เพราะได้เห็นข่าวทางโทรทัศน์ ทำให้เหมือนเป็นภาพติดตา แต่จริงๆ แล้วภาคใต้ยังมีความเป็นธรรมชาติที่สวยมาก มีทะเล มีป่า ซึ่งหนังเรื่องนี้จะทำให้คนเห็นว่า ภาคใต้มีสถานที่สวยงามอย่างนี้อยู่
"ตัวหนังจะบอกว่าท้ายที่สุดแล้วเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกันทุกคน สามารถอยู่ด้วยกันได้ ถ้าได้พูดคุยกัน" ปีเตอร์ กล่าวในที่สุด
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1, 3-6 ภาพสวยๆ บนแผ่นฟิล์ม
2 พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง (ภาพโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)
7 ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
ขอบคุณ : โต๊ะข่าวบันเทิง หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เอื้อเฟื้อบทสัมภาษณ์ผู้กำกับและนักแสดง