โพลล์ชายแดนใต้อยากให้เจรจา "หยุดยิง" ทหารพรานติดลบชาวบ้านไม่เชื่อมั่น
ในห้วงของการพูดคุยเจรจาระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับผู้แทนกลุ่มเห็นต่างจากรัฐ นำโดยแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น ประเด็นหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายช่วงชิงกันมาตลอด คือการอ้างความเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในซีกของรัฐบาลไทยย่อมมีความชอบธรรมที่จะอ้างได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นเองก็อ้างด้วยเช่นกัน และยังตอกย้ำหลายครั้งผ่านคำแถลงผ่านคลิปวีดีโอที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทิวบ์ว่าพวกเขาเป็นตัวแทนชาวปาตานี เป็นองค์กรปลดปล่อย และข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เสนอต่อรัฐบาลไทยคือความต้องการของประชาชนชาวปาตานี
ข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่แกนนำบีอาร์เอ็นเสนอ หลักๆ ได้แก่ การยกสถานะให้มาเลเซียเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเจรจา การดึงองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ชาติอาเซียน และเอ็นจีโอเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน การยกเลิกหมายจับและปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่นคงทั้งหมด
แน่นอนว่ารัฐบาลไทยโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงแสดงท่าทีชัดเจนต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวว่า "ไม่สามารถยอมรับได้" แต่ประเด็นที่ยังค้างคาใจอยู่ก็คือ ข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่จริงหรือ
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เผยแพร่รายงานการสำรวจทัศนคติของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งมีหลายประเด็นเกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพ และน่าจะสะท้อนเสียงของคนพื้นที่ได้จริงระดับหนึ่ง เพราะการสำรวจซึ่งจัดทำโดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ครั้งนี้ สุ่มตัวอย่างประชาชนในระดับตำบลและหมู่บ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ถึง 1,873 คน สำรวจระหว่างวันที่ 18-25 มี.ค.2556
ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนปัจจุบัน ประชาชนมองว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาหนักที่สุด ถึงร้อยละ 27.6 รองลงมาคือปัญหาว่างงาน ร้อยละ 19.5 ตามด้วยปัญหาความไม่สงบ ร้อยละ 11.7 และปัญหาความยากจน ร้อยละ 10.1
ส่วนปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐแก้ไขมากที่สุด คือ การจ้างงานและอาชีพสำหรับเยาวชน ร้อยละ 24.1 รองลงมาคือยาเสพติด ร้อยละ 17.5 เพิ่มรายได้ครัวเรือน ร้อยละ 16.3 พัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์ ร้อยละ 10.8 การศึกษา ร้อยละ 9.2 ส่วนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอยู่ในอันดับค่อนไปทางท้าย คือ ร้อยละ 2.3
ในภาพรวมประชาชนมีทัศนคติและความเชื่อมั่นต่อการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐมากขึ้น
ส่วนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นนั้น ร้อยละ 67.17 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์ คือเชื่อว่าจะทำให้สันติภาพเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ขณะที่ร้อยละ 32.83 ให้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ โดยคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.16 (คะแนนเต็ม 10) สะท้อนว่าเป็นการให้คะแนนผ่านเกณฑ์ในระดับปานกลาง
สำหรับประเด็นที่ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลกับบีอาร์เอ็นควรดำเนินการในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ อันดับ 1 ได้แก่ หยุดยิงและยุติความรุนแรงโดยทันทีของทุกฝ่าย ร้อยละ 25 ตามด้วยถอนทหารออกจากพื้นที่ ร้อยละ 13 เร่งงานพัฒนา ร้อยละ 11.1 แก้ปัญหายาเสพติดร่วมกัน ร้อยละ 8.6 ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้อยละ 7.6 ขณะที่ประเด็นนิรโทษกรรม ปล่อยนักโทษคดีความมั่นคง อยู่ในอันดับ 8 และ 13 คิดเป็นร้อยละ 4.5 และ 2.1 ส่วนประเด็นเขตปกครองพิเศษก็อยู่ในอันดับใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนเห็นว่ามีความสำคัญมากที่สุดต่อการยุติความรุนแรงในพื้นที่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 51.6 เห็นว่าคือการหยุดยิงและยุติความรุนแรงโดยทันทีของทุกฝ่าย รองลงมาคือการพัฒนาพื้นที่ให้เจริญรุ่งเรือง ร้อยละ 17.1 ส่วนประเด็นอื่นๆ มีผู้สนับสนุนไม่ถึงร้อยละ 10 ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การนิรโทษกรรม ฯลฯ
เมื่อให้ระบุถึงหน่วยงานหรือองค์กรที่ประชาชนให้ความไว้วางใจเรื่องความมั่นคง ปลอดภัย และสันติภาพ พบว่า องค์กรที่ประชาชนชายแดนใต้ให้คะแนนสูงสุด คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ได้ 3.62 คะแนน (คะแนนเต็ม 5) ตามด้วยครูโรงเรียนรัฐบาล 3.49 คะแนน หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอนามัย 3.48 คะแนน ศอ.บต. 3.40 คะแนน
ส่วนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) อยู่อันดับ 12 ได้ 3.20 คะแนน ตำรวจอันดับ 18 ได้ 3.10 คะแนน สื่อมวลชนอยู่ในอันดับที่ 24 เอ็นจีโออันดับ 25 และรั้งท้าย 3 อันดับ (27-29) คือ อาสารักษาดินแดน (อส.) ทหาร และทหารพราน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กราฟฟิกแสดงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชายแดนใต้เกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพ และประเด็นที่อยากให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นดำเนินการ
ขอบคุณ : ฝ่ายกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ