ป.ป.ช.แนะ 3 แนวทางป้องทุจริตบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน
นิวัฒน์ธำรง นำทีม กบอ.ถกร่วม ป.ป.ช.หามาตรการป้องทุจริตจัดการน้ำ เห็นพ้องปรับเกณฑ์คัดเลือก วางรูปแบบสัญญาใหม่ เพิ่มภาคเอกชนร่วมตรวจรับงาน 'ปานเทพ' ชี้แค่เสนอความเห็น ไม่ได้รับรองว่าโครงการถูกต้อง
วันที่ 6 มิ.ย. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำทีม คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ร่วมด้วยศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด เดินทางเข้าชี้แจงข้อมูลและนำเอกสารการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำมาหารือกับ ป.ป.ช.
โดยมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช นายกล้าณรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช นายเมธี ครองแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริต ป.ป.ช และนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ร่วมหารือ
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ มีการแถลงผลจากการหารือ และสรุปความคืบหน้ากรณีแนวทางและมาตรการป้องกันการทุจริตโครงการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำฯ โดย นายปานเทพ กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ ป.ป.ช.เสนอแนะ 3 ประเด็นสำคัญ 1.การพิจารณาเลือกผู้รับจ้าง 2.การทำสัญญา 3.การกำกับโครงการและตรวจรับงาน เพื่อให้ได้โครงการที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้องและโปร่งใส ทั้งนี้ การชี้แจงจาก กบอ.โดยส่วนใหญ่สอดคล้องกับข้อเสนอ ป.ป.ช.และได้รับบางประเด็นเพิ่มเติมไปพิจารณาในโครงการ
"อย่างไรก็ตาม การเสนอมาตรการครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 49 (11) เพื่อให้มีการปรับปรุงโครงการ วางแผนให้รอบคอบเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และเป็นหน้าที่รัฐบาลจะรับไปพิจารณา แต่ไม่มีข้อบังคับใดๆ ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า ป.ป.ช.รับรองว่าโครงการนี้ถูกต้องทั้งหมดแต่อย่างใด"
ด้านนายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า หลายข้อเสนอของ ป.ป.ช.สอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการ สำหรับบางประการที่รับไว้พิจารณาเพิ่มเติมโดยเฉพาะ 3 ประเด็นหลักที่มีความสำคัญ
1.กฎเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับจ้าง แม้ในทีโออาร์จะระบุไว้ไม่กี่บรรทัด แต่คณะทำงานมีกรอบการพิจารณาคัดเลือกละเอียดกว่านั้น ซึ่งวันนี้ได้นำมามอบให้ ป.ป.ช.แล้ว
2.การทำสัญญาเดียวทั้งโมดูล ที่ประกอบด้วยโครงการย่อยหลายโครงการ ป.ป.ช.กังวลว่าหากมีข้อติดขัดในโครงการใดอาจทำให้โครงการทั้งหมดหยุดชะงัก จึงมีแนวทางการจัดทำสัญญาใหม่ให้สอดคล้องกับแนวทางที่ได้รับเสนอมา โดยได้หารือกับผู้แทนอัยการว่าจะแบ่งสัญญาอย่างไรไม่ให้กระทบต่อการดำเนินโครงการและไม่เสียประโยชน์
3.การกำกับโครงการและตรวจรับงาน ที่ต้องรอบคอบ และเคร่งครัดมากขึ้น เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับหลายโครงการที่ผิดพลาดในอดีต เช่น โฮปเวลล์ และบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดย ป.ป.ช.เสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนเข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย
รวมถึงให้องค์กรภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ที่มีส่วนในการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทอยู่ก่อนแล้ว ได้เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบโครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทาง กบอ.ก็เห็นสอดคล้องและกำลังดำเนินให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มเติม จากเดิมที่มีหน่วยงานราชการร่วมกำกับดูแลอยู่แล้ว
ขณะที่ ศ.พิเศษธงทอง กล่าวว่า ขั้นตอนการทำงานของคระกรรมการคัดเลือกต่อจากนี้ กำลังพิจารณาครั้งสุดท้าย เพื่อให้ได้บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกมาต่อรองราคา จึงได้
แต่งตั้งคณอนุกรรมการขึ้นมาและมอบหมายให้ไปรวบรวมข้อมูล "ราคากลาง" ในการรับเหมาโครงการก่อสร้างของราชการมาเป็นข้อมูลในการเจรจาต่อรองราคา เพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม ทั้งนี้ หากไม่สามารถต่อรองราคากับบริษัทแรกได้ก็จะต่อรองกับบริษัทในลำดับถัดไปแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงบ่าย นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการประธานผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย" (ศปภ.) ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอทราบความคืบหน้าในการดำเนินการพิจารณาโครงการบริหารจัดการน้ำ ภายหลังได้เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการสหประชาชาติ ตามพันธกรณีอนุสัญญาสหประชาชาติให้พิจารณาโครงการฯ ก่อนหน้านี้
ซึ่งได้ี้ทราบว่าเรื่องได้จัดส่งมายังคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว อีกทั้งเป็นเวลาที่ล่วงเลยมานานในการพิจารณา และใกล้ถึงกำหนดกรอบเวลา พ.ร.ก.กู้เงินฯ แล้ว จึงขอให้ ป.ป.ช.เร่งรัดพิจารณา เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป