‘ทีดีอาร์ไอ’ หวั่นรบ.ไม่มีข้อมูลจำนำข้าวแจงมูดีส์ ชี้หากเครดิตลดกระทบหลายโครงการ
คลัง-พณ.โยนตอบข้อมูลปมจำนำข้าว ดร.สมชัย ชี้มูดีส์แค่ขู่ลดเครดิต จี้เปิดข้อมูลให้โปร่งใส ติงแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ควรประณาม แนะต้องมีแนวจัดการนโยบายระยะยาวให้ชัด เตือนอาจกระทบหลายโครงการในอนาคต
จากกรณีที่ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส จับตาและขอให้มีการชี้แจงข้อมูลโครงการจำนำข้าว ของรัฐบาลไทย ที่คาดว่าจะขาดทุน 2 แสนล้านบาท จึงมีความเสี่ยงในการจัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2560 และอาจนำไปสู่การปรับลดเครดิตของประเทศ
กรณีนี้ นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมายืนยันว่า ข้อมูลการขาดทุนในโครงการจำนำข้าว ที่กระทรวงการคลังคิดตัวเลขออกมาว่า 2.6 แสนล้าน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มูดีส์ ตั้งข้อสังเกตนั้น ไม่เป็นความจริง พร้อมทั้งตั้งคำถามว่ากระทรวงการคลังคิดตัวเลขจากข้อมูลใด เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ยังขายข้าวไม่หมด
ขณะที่ นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ต้องรวบรวมข้อมูล และเอกสารจากโครงการจำนข้าวเพื่อชี้แจงมูดี้ ก็ออกมากล่าวประณาม การออกรายงานของมูดีส์ว่า อ้างข้อมูลที่ไม่สามารถยืนยันได้จากแหล่งใด และนำข้อมูลจากข่าวในประเทศไทยมาตั้งข้อสังเกตเท่านั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่ใช่มืออาชีพ และควรเดินทางมาเก็บหรือสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเอง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังก็ยังไม่มีข้อมูลใดๆ ชี้แจง และอยู่ในระหว่างการขอข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ที่ไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขการขาดทุน รวมถึงข้อมูลต่างๆ ในโครงการรับจำนำข้าวมาโดยตลอด
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงท่าทีของมูดีส์ที่มีต่อโครงการรับจำนำข้าวว่า ถ้าอ่านใจมูดีส์ คงมองว่านโยบายจำนำข้าวทำให้รัฐบาลขาดทุนมาก จึงต้องการความชัดเจนใน ตัวเลข และข้อมูลจากรัฐบาลว่าขาดทุนเท่าไหร่ แต่ปัญหาคือ รัฐบาลไม่มีข้อมูลให้ กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่เปิดข้อมูลต่อสาธารณะ และโยนกันเรื่องข้อมูลอยู่
ทำให้มูดีส์กังวลว่า 'ความไม่ชัดเจน' เช่นนี้ หมายถึงอะไร และเป็น 'การขู่' ไม่ใช่การปรับลดเครดิตทันที จากนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาล กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณชิย์จะทำตัวโปร่งใสได้แค่ไหน หาข้อมูลไปชี้แจงได้หรือไม่ และมูดีส์จะเชื่อข้อมูลดังกล่าวมากแค่ไหน
ดร.สมชัย กล่าวต่อว่า ประเทศที่เคยถูกปรับลดเครดิต เวลากู้เงินต่างๆ ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยแพงขึ้น สำหรับประเทศไทย หากถูกปรับลดเครดิตจริง ผลกระทบที่เห็นได้ชัด เช่น การลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท ที่มีการกู้เงินเป็นหลัก ดอกเบี้ยจะแพงมากขึ้น จากปัจจุบัน 5% เมื่อรวมเงินต้นและดอกเบี้ยแล้วก็ราว 5 ล้านล้านบาท แต่หากเครดิตเสียไป ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น รวมยอดอาจถึง 7 ล้านล้านบาท ที่เป็นภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น
"การปรับลดเครดิต จะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติให้เครดิตเราน้อยลง ความน่าลงทุนในประเทศจะลดลงด้วย ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่นโยบายจำนำข้าว ที่เป็นนโยบายสาธารณะหนึ่งเดียวที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ในอดีตการถูกปรับลดเครดิตของประเทศไทยเกิดจากวิกฤติต่างๆ ในประเทศ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะนโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ใหญ่และขาดทุนมาก และอาจทำให้โครงการอื่นๆ ขาดทุนเพิ่มขึ้นไปด้วย" ดร.สมชัย กล่าว และว่า รัฐบาลต้องรีบสร้างความโปร่งใส และมีนโยบายที่ชัดเจนขึ้นว่า จะจัดการนโยบายจำนำข้าวอย่างไรในระยะยาว หากมีคำตอบที่ชัดเจนขึ้นมูดีส์คงไม่ปรับลดเครดิต แต่หากเดินหน้านโยบายต่อ และต้องขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาทต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายมูดีส์ต้องปรับลดเครดิตแน่นอน ถึงวันนั้นต้นทุนทางเศรษฐกิจ และต้นทุนต่างๆ จะแพงไปหมด
สำหรับการออกความเห็นของกระทรวงการคลัง ที่กล่าวประณามการเตือนของมูดีส์ว่าไม่น่าเชื่อถือและใช้ข้อมูลอย่างไม่มืออาชีพนั้น ดร.สมชัย เห็นว่า ภาครัฐจะมองอย่างไรก็ได้ แต่ถามว่านักลงทุนทั่วไปจะเชื่อรัฐบาล หรือเชื่อมูดีส์มากกว่า
"ในประเทศเราอาจไม่ให้นำหนักกับมูดีส์ แต่หากนักลงทุนหรือประเทศอื่นๆ ให้น้ำหนัก เราก็โดนผลกระทบเช่นกัน เพราะมูดีส์เป็น 'บิ๊กเนม' ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งมีบริษัทประมาณ 2-3 แห่ง ที่ทั่วโลกให้การเชื่อถือ ได้แก่ มูดีส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส และฟิทช์ เรตติ้งส์ ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหนึ่งลดเครดิตประเทศใดลง อีกเจ้าก็จะลดตาม แต่ประเทศอื่นๆ จะถูกจัดอันอับในลักษณะที่ดีเกินไป แต่สำหรับเรามองตรงกันข้าม"
ดร.สมชัย กล่าวด้วยว่า มูดีส์อ้างอิงข่าวที่มาจากคณะทำงานของรองปลัดกระทรวงการคลัง แม้จะเป็นตัวเลขที่ยังไม่ครบถ้วน แต่เมื่อไม่มีผู้ยอมเปิดข้อมูล ก็เป็นไปได้ที่เขาจะตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์และขอข้อมูล แต่มูดีส์ยังไม่ได้ฟันธง
ดังนั้น การที่ไปบอกว่าเขาไม่น่าเชื่อถือ หรือประณามจึงเป็นเรื่องไม่ถูก เพราะตัวเราเองไม่โปร่งใสก่อน ปัญหาเริ่มจากการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่มาชี้นิ้วว่าเขาแบบนี้
"จากนี้ก็รอว่ากระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณชิย์จะหาข้อมูลมาชี้แจงมูดีส์ได้หรือไม่ ซึ่งผมก็เกรงว่าทั้ง 2 กระทรวงจะชี้แจงไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่ามีการปิดตัวเลขมาตลอด หลายข้อมูลที่เคยเปิด ก็ปิด เข้าถึงข้อมูลใดๆ ไม่ได้ ทำทุกอย่างเป็นความลับ ก็ชวนให้สงสัย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มูดีส์หรือใครจะตั้งข้อสังเกต แต่ถ้าจะชี้แจงเขาด้วยลมปากก็คงไม่เชื่อ หากไม่มีตัวเลขให้เขาดู"
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ล่าสุดวันนี้ (5 พ.ค.56) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีเจ้ากระทรวงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมครบทีม อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงการคลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ รมว.พาณิชย์ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)