‘ไอโอดี’ เผยนักธุรกิจ ฟันธง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีโอกาสเกิดทุจริตมากสุด
'ไอโอดี' เผยผลสำรวจความเห็นผู้นำธุรกิจหวั่นแนวโน้มคอร์รัปชั่นพุ่งสูง ลดทอนความสามารถการแข่งขันระดับภูมิภาค ชี้กลุ่มโทรคมนาคม พลังงานเอื้อทุจริตมาก จี้ภาครัฐ นักการเมืองบังคับใช้กม.
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และบริษัท GFK Marketwise ในนาม "โครงการแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (Thailand's Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption ;CAC)" เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้นำในบริษัทธุรกิจ ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2556 กว่า 1,000 คน โดย 93% ของกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจ เห็นว่า ระดับความรุนแรงของปัญหาการทุจริตในประเทศไทยปัจจุบัน อยู่ในระดับสูง - สูงมาก อีกทั้ง 75% เห็นว่า ปัญหาการทุจริตของประเทศไทยช่วง 2 ปี ที่ผ่านมานั้น มีเพิ่มมากขึ้น
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวถึงการทำผลสำรวจความคิดเห็น มีนักธุรกิจระดับผู้บริหารจำนวนมากที่เชื่อมั่นว่า ปัญหาทุจริตของไทยสามารถแก้ไขให้ลดลงได้ในอนาคต และส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ และกิจกรรมของภาคเอกชนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
"เกือบ 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถาม หรือร้อยละ 73 ของผู้นำภาคเอกชนเห็นว่า ภาคเอกชนคือผู้เล่นตัวสำคัญในการลดการทุจริตคอร์รัปชั่นและต่างเห็นพ้องว่า พวกเขายินดีที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน โดยจะนำแนวปฏิบัติธุรกิจที่ดีไปปรับใช้ และปฏิเสธการให้สินบบนทุกรูปแบบ" ดร.บัณฑิต กล่าว และว่า ข้อมูลผลการสำรวจครั้งนี้ สะท้อนชัดว่า ผู้นำในภาคเอกชนเองต่างรับทราบดีถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาก และต่างก็เชื่อมั่นว่าสามารถจะรับมือและแก้ไขปัญหานี้ได้
ดร.บัณฑิต กล่าวต่อว่า มีผู้นำภาคเอกชนที่แสดงความประสงค์ต้องการเข้าร่วมปฏิบัติการของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC) เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 51 จากเดิมมีเพียงร้อยละ 14 ในการสำรวจเมื่อ 2553
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทที่ลงนามแสดงเจตนารมณ์เป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติฯ ทั้งสิ้น 166 บริษัท ซึ่งทุกบริษัทต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตทุกรูปแบบ โดยบริษัทที่ลงนามประกาศเจตนารมณ์แล้ว ยังจะได้รับการฝึกอบรมที่จัดโดย IOD เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการสร้างนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและการวางระบบตรวจสอบให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น บริษัทใดก็ตามที่สามารถปฏิบัติติได้ครบถ้วนตามแนวทางที่กำหนดไว้ ก็จะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติฯ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมี 4 บริษัทที่ผ่านการรับรอง ได้แก่ บริษัท ไพร้ชวอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ จำกัด บริษัท เอไอเอ (ประกันชีวิต) จำกัด บริษัท เอไอเอ (ประกันวินาศภัย) จำกัด และ บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด"
ดร.บัณฑิต กล่าวด้วยว่า สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และองค์กรร่วม ตั้งเป้าที่จะทำการสำรวจปัญหาการทุจริตในประเทศไทยเป็นประจำทุก 2 ปี เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการติดตามสถานการณ์ของการทุจริตคอร์รัปชั่นและทัศนคติของภาคเอกชนที่มีต่อปัญหาที่มีความซับซ้อนนี้
สำหรับผลการสำรวจ มีประเด็นที่น่าสนใจ พบว่า ผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่ มองว่าการทุจริตส่งผลต่อประเทศไทยมากที่สุด ในการลดทอนประสิทธิภาพในการแข่งขันระดับภูมิภาค และเกิดความตกต่ำทางจริยธรรมของสังคม ซึ่งระดับของผลกระทบอยู่ในขั้นสูงถึงสูงมาก
- กระบวนการที่มีโอกาสเกิดทุจริตมากที่สุด คือ 1.การจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ และ 2.การจดทะเบียนขออนุญาตต่างๆ
- รูปแบบของการทุจริต เช่น การใช้ตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวกของตนเอง การให้ของขวัญ หรือติดสินบน และการทุจริตเชิงนโยบายโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการทุจริต อันดับที่ 1 คือ กลุ่มโทรคมนาคม ตามมาด้วยกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค และการเกษตร ตามลำดับ
ส่วนสาเหตุของการเกิดทุจริตนั้น ผู้นำภาคธุรกิจส่วนใหญ่เห็นว่า เนื่องจากกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งต่างๆ เปิดโอกาสให้บุคลากรภาครัฐสามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้ออำนวยให้สามารถเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ขณะที่กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก และมีเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง และเห็นว่า รัฐบาล นักการเมือง และสมาคมภาคธุรกิจจะเป็นบุคคลที่ช่วยแก้ปัญหาการทุจริตได้
สุดท้าย ผู้นำเอกชนส่วนใหญ่ มองว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตได้นั้น ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่นในระดับมหภาค เพื่อเป็นตัวอย่างในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงสร้างกระบวนการ วิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้โดยบุคคลภายนอก เช่น แนวร่วมปฏิบัติของภาคประชาชนไทยในการต่อต้านคอร์รัปชั่น
ที่สำคัญ ผู้นำภาคเอกชนส่วนใหญ่ให้ความเห็น หากประเทศไทยไม่มีการทุจริต ส่งผลให้การเจริญเติบโตของประเทศเพิ่มสูงขึ้นถึง ร้อยละ 50
อ่านผลสำรวจฉบับเต็ม ได้ที่
ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้นำภาคธุรกิจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย