“ปฏิรูป แต่ปาก แก้แค่เปลือก” ดร.อุทุมพร จามรมาน กะเทาะปัญหาการศึกษาไทย
“ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามา ยังไม่เห็นแก้เป็นรูปธรรม
ยกเว้นแก้ “จิ๊บจ๊อย” แค่ “เปลือก”
สิ่งสำคัญ คือ สมองเด็ก จิตใจเด็กต่างหาก”
การศึกษาจากเดิมที่เราตั้งความหวังเอาไว้ว่า จะนำมาซึ่งความงดงามของชีวิต ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา แต่ทำไม การศึกษาไทย ณ วันนี้ จึงได้กลายเป็น “หมาหางด้วน” ที่นอกจากคุณภาพต่ำแล้ว การจัดการศึกษายังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เด็กไทยเรียนหนังสือแล้วลืมถิ่น
ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา นั่งพูดคุยประเด็นนี้ กับ ศาสตราจารย์ ดร.อุทุมพร จามรมาน อดีตผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. เพื่อให้มองถึงระบบการศึกษาไทยถึงกำลังมีปัญหา ทำอย่างไรจึงจะหากุญแจมา “ปลดล็อก” การศึกษาไทยได้เสียที
@ มีมุมองอย่างไรกับการจัดสรรงบฯ ปี'57 ที่ให้กับ ศธ. เป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปใช้บริหารจัดการตามนโยบายการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ
เปรียบเทียบระหว่างกระทรวงด้วยกัน งบประมาณที่กระทรวงการศึกษาได้มากที่สุด แต่คุณภาพการศึกษาของนักเรียนกลับสวนทางกับงบประมาณที่ได้รับ
ภาพรวมในด้านการศึกษาก็ต่ำกว่าเกณฑ์ เด็กไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ และคุณธรรมจริยธรรมของเด็กน้อยลง
“การจัดการใช้จ่ายงบประมาณ ลงไปไม่ถึงเด็ก การได้งบประมาณมากขนาดนี้ เราย่อมคาดหวังว่า คุณภาพการศึกษาไทยจะสูงขึ้น แปลว่า การบริหารจัดการต้องดี นักเรียนต้องมีคุณภาพมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริง กลับพบว่า งบประมาณเพื่อนำมาจัดการศึกษาที่สูงขึ้น คุณภาพเด็กด้อยลง ครูวุฒิการศึกษาสูงขึ้น มีทั้งจบปริญญาโท ปริญญาเอกจำนวนมาก แต่คุณภาพเด็กก็ด้อยลง แม้กระทั่งเงินเดือนครูก็สูงขึ้น แต่คุณภาพเด็กก็ยังด้อยลง”
@ ปัญหาการศึกษาของชาติอยู่ตรงไหน จึงแก้ไม่ถูกจุดเสียที
ปัญหาการศึกษาไทย อยู่ที่การจัดการทุกระดับที่ทำให้คุณภาพเด็กด้อยลง โดยเฉพาะโจทย์ที่เราตีไม่แตก คือ คุณภาพคืออะไร ?
หากคุณภาพนักเรียน หมายถึง คะแนนการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET คิดว่า ยังไม่ใช่ เพราะมันคือส่วนเดียว
O-NET วัดความรู้ ความจำ ความเข้าใจ มากกว่าที่จะวัด “คนดี” ขณะนี้เรายังไม่มีเครื่องมือ วัด “คนดี” ระดับชาติ
@ แล้วหน่วยงาน อย่าง สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) (สมศ.)
แม้ สมศ.จะเป็นหน่วยงานทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา แต่ก็เป็นหน่วยงานที่ประเมินโรงเรียน ประเมินทุกอย่างในโรงเรียน ไม่ได้มีจุดเน้นเรื่องคุณภาพนักเรียน
ดังนั้นเราต้องตีให้แตก
1.นักเรียนมีคุณภาพ แปลว่าอะไร
2.โรงเรียนไหนมีคุณภาพบ้าง เพราะอะไร พร้อมสนับสนุนโรงเรียนนั้นๆ ให้มีคุณภาพมากขึ้น
หากงบประมาณประเทศ จ่ายผลฐานความคิดแบบนี้ เราน่าจะเห็นโรงเรียนที่พัฒนาสูงขึ้น
@ อะไรคือสิ่งที่ผิดพลาด
ดิฉันคิดว่า คือกระแสสังคม ที่มุ่งไปที่คนเก่ง มุ่งไปที่รางวัลระดับชาติ เช่น การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งมีนักเรียนที่เก่งประมาณ 200 กว่าคน ถามว่า นักเรียนอีกจำนวน 10 ล้านคน คืออะไร ทำไมต้องชื่นชมกับสิ่งที่เป็นรางวัล
“เราไม่ควรให้ความสำคัญมากนัก ควรจะถามว่า แล้วนักเรียนทั้งประเทศไทยเป็นอย่างไร”
@ เทรนด์ของโลกการศึกษาในปัจจุบันเป็นอย่างไร
การแข่งขันโลกในปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเด็กเข้าโรงเรียนเยอะ เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะอีกแล้ว
“ การสอนที่มีประสิทธิภาพคือจุดที่ควรเน้น สอนเฉพาะแก่น กระพี้ไม่สอนต่างหาก เทคนิคการสอนที่ครูได้ ไม่ใช่นักเรียนได้ ฉะนั้น หลักสูตรการเรียนที่จะออกมาใหม่ในปี 2558 น่าจะให้เจาะแก่นเรียน คือ เรียนไม่เยอะ ให้นักเรียนมีเวลาว่างเยอะขึ้น มุ่งทำกิจกรรม”
ที่ผ่านมาบ้านเรายังไม่มีหน่วยงานในการทดสอบการคิดวิเคราะห์ ยกเว้นโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ซึ่งก็ทดสอบเด็กอายุ 15 ปี เท่านั้น เด็กระดับอื่นไม่ได้ทดสอบ
“หากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ พลิกบทบาท มาทดสอบข้อสอบพวกนี้ ตามช่วงชั้นน่าจะดี ขณะเดียวกันก็จะไม่มีใครมาสอบโอเน็ต แต่โอเน็ตก็มีประโยชน์ทำให้เห็นมาตรฐาน ขณะเดียวกัน การคิดวิเคราะห์ที่เราไม่มีการทดสอบจริงจังนัก ฉะนั้น น่าจะต้องทำได้แล้ว”
@ การวัดผลทางการศึกษาจะไม่เห็นผลเร็ว ต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีจึงจะเห็นผล อาจารย์คิดหรือเชื่อเช่นนั้นหรือไม่
(ตอบทันที) หากไม่เริ่มวันนี้ 10 ปีข้างหน้าก็ยังไม่เห็นผลอะไร !
@ ย้อนมองการปฏิรูปการศึกษา ช่วงทศวรรษที่ผ่านๆ มา
เราปฏิรูป แต่ปาก เรารู้ปัญหาแต่ไม่แก้
“ดิฉันเห็นรัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาทุกรัฐบาล ก็รับรู้ปัญหา แต่ถามว่า แก้หรือยัง แก้อย่างไร ก็ยังไม่เห็นการแก้ที่เป็นรูปธรรม ยกเว้นการแก้ “จิ๊บจ๊อย” ตัดผมสั้น ตัดผมยาว แต่งชุดนักเรียน หรือไม่แต่งชุดนักเรียน มันไม่ได้เรื่อง สิ่งเหล่านี้มันเป็น “เปลือก” สิ่งสำคัญ คือ สมองเด็ก จิตใจเด็กต่างหาก”
@ ขณะนี้ ชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งลุกขึ้นมาจัดการศึกษา “ทางเลือก” หนึ่งในกระบวนสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก มีตัวอย่างดีๆ เกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ
ณ วันนี้ คงไม่มีใครเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้ นอกจาก “ชุมชน”
เปรียบไปก็เหมือนสมัยก่อนให้ทหารออกมาปฏิวัติ ตอนนี้ประชาชนออกมา “ปฏิวัติ” เรื่องการศึกษาแล้ว เพื่อมอบการศึกษาที่ดีให้กับลูกหลาน ชุมชนขอมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ดิฉันคิดว่า การศึกษาไทย น่าจะ ดีขึ้น
และแม้จะมีตัวอย่างการจัดการศึกษาของแต่ละแห่งที่ทำสำเร็จ แต่คิดดูว่า กว่าจะมาถึงตรงจุดนี้ เขาใช้เวลา ขณะที่คนที่มาจากการศึกษาในระบบ กลับบอกว่า ทำไม่ได้
“ดิฉันเชื่อว่า ทำได้ หากครูจะเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนใหม่ หากครูจะไม่สอนตามแบบเรียน แต่สอนตามเนื้อหาของหลักสูตร ครูไม่จำเป็นต้องสอนชดเชย เพราะครูสอนเฉพาะแก่น ส่วนกระพี้เด็กต้องไปอ่านเอง”
@ ครูในโรงเรียนทั่วไปเป็นเช่นนั้นหรือไม่
จากที่ได้สัมผัสมา ครูส่วนใหญ่ฝังราก จนรากงอกแล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการสอนยาก เพราะเขากลัวว่า หากไม่ทำอย่างนี้ กระทรวงฯ ก็จะต่อว่า
@ ว่ากันว่า ภาระงานของครู มีผลต่อการสอน
ดิฉันเข้าใจว่า ภาระทางวิชาการของครูน้อย แต่ภาระทางธุรการเยอะ ขณะที่ผู้บริหารโรงเรียน เราเจอมากที่ผู้บริหารโรงเรียนไม่อยู่โรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ทั้งๆที่ ผู้บริหารต้องคอยกำกับ ควบคุมครูให้สอนตามหลักสูตร และเน้นความประพฤติของนักเรียน แต่คำถาม จะทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนความคิดผู้บริหารโรงเรียนที่จะต้องไปนั่งกระทรวงฯ เพื่อหวังตำแหน่ง ให้ได้ดิบได้ดีได้
@ สุดท้ายคิดอย่างไรกับเสียงเรียกร้อง เมื่อกระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาล้มเลว ก็ควรยุบกระทรวงนี้ทิ้ง
การยุบหน่วยงานมันยาก ! โดยเฉพาะรัฐบาลคงไม่ยอม การตั้งกระทรวงใหม่ง่ายกว่า แปลว่า มีรัฐมนตรีเพิ่มขึ้น อันนี้ รัฐบาลเอา
ที่เห็นเป็นรูปธรรมพอสมควรแล้ว คือ จะมีการแยกกระทรวงอุดมศึกษา และวิจัย ออกจากกระทรวงศึกษาธิการ เหมือนทบวงมหาวิทยาลัย แต่เพิ่ม วิจัย เข้าไป นำสำนักงานสถิติแห่งชาติ สกว. สภาวิจัยแห่งชาติ เข้ามาอยู่ในนี้ให้หมด เอาเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ต้องการจะทำวิจัยและเน้นวิจัย ส่วนมหาวิทยาลัยไหนต้องการเน้นการสอน และชุมชน ก็อยู่ที่เดิม
ซึ่งการศึกษาระดับล่าง กระทรวงศึกษาธิการ ก็ทำเฉพาะการศึกษาระดับประถม มัธยม อาชีวะไป ขณะเดียวกัน สพฐ.เอง ต้องปรับบทบาท โรงเรียนสังกัด สพฐ. ให้ไปอยู่กับท้องถิ่นให้หมด สุดท้ายแล้ว สพฐ.จะเล็กลงเอง