โอกาสของสันติภาพ กับโอกาสของการเสียดินแดน
วันนี้เริ่มมีเสียงพูดบ้างแล้วจากฝ่ายผู้กุมนโยบายว่าถ้าการเจรจาดับไฟใต้กับ "แกนนำบีอาร์เอ็น" ไปไม่ไหวจริงๆ ก็อาจต้องหยุด หรือเปลี่ยนกลุ่มคุยใหม่
นี่คือจุดเปราะบางของการพูดคุยเจรจาแบบ "เปิดเผย-เอิกเกริก" ในประเด็นอ่อนไหวที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากสังคมและบรรดากองเชียร์ได้พ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเคยเตือนแล้ว รวมทั้ง นายถวิล เปลี่ยนศรี เจ้าของเก้าอี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตัวจริงตามคำสั่งศาลปกครองกลางด้วย
เทียบให้เห็นง่ายๆ กับความล้มเหลวเมื่อครั้งที่แกนนำคนเสื้อแดงนัดพูดคุยเจรจากับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อหาทางออกทางการเมืองร่วมกันเมื่อปลายเดือน มี.ค.2553 ซึ่งเป็นการพูดคุยเจรจาที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และสุดท้ายก็ไม่ประสบผลใดๆ กระทั่งเกิดวิกฤตการณ์กระชับพื้นที่และสลายการชุมนุมในเวลาต่อมา
เพราะการพูดคุยเจรจาไม่ว่าเรื่องใด ไม่มีทางที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะ "ได้ทั้งหมด" หรือ "เสียทั้งหมด" แต่ทั้งสองฝ่ายต้อง "ยอมถอย" คนละก้าวสองก้าว ทว่าการถอยท่ามกลางการเผชิญหน้าไม่สามารถประกาศต่อหน้ากองเชียร์ได้ การถอยต้องมาจากการ "ปิดห้องคุย" เท่านั้น
"โรดแมพสันติภาพ" ที่เคยศึกษากันมาจึงชัดเจนว่า กระบวนการสันติภาพ (หรือ "โอกาสของสันติภาพ") จะเริ่มนับหนึ่งเมื่อคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และตกลงกันมาได้ระดับหนึ่ง หรือมีเป้าหมายใหญ่ๆ ร่วมกันเสียก่อน
เป็นที่ทราบกันดีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลังกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ และก็คงคิดง่ายๆ ในแบบผู้มากบารมีว่า "ฝ่ายรัฐเหนือกว่า" เมื่อยื่นมือไปให้จับ อีกฝ่ายก็ควรจับ แล้วก็จบ แต่ความจริงมันคิดง่ายๆ แบบนั้นได้หรือ?
ซ้ำร้ายงานนี้แม้จะหยุดคุย หยุดปฏิสัมพันธ์ ก็ใช่ว่าฝ่ายไทยจะพลิกกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบหรือไปกดดันอะไรฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ เพราะขณะนี้บีอาร์เอ็น (อย่างน้อยก็กลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ) ได้เปิดตัวสู่สังคมโลกแล้ว พวกเขามีตัวตน แถมยังส่งข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียได้เป็นระยะ
ถ้าบีอาร์เอ็นรวมกันติด กลุ่มนายฮัสซันก็จะกลายเป็น "ตัวเปิด" ในการเป็น "ข้อต่อ" เชื่อมการต่อสู้ในพื้นที่ชายแดนใต้สู่องค์กรระหว่างประเทศ ทั้งยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) และโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) ขณะที่ "ตัวเปิด" ในพื้นที่ก็ใช้การเปิดเวที สร้างเครือข่าย เป้าหมายสุดท้ายคือ self determination ซึ่งหมายถึงการทำประชามติเพื่อกำหนดใจตนเอง หรือกำหนดอนาคตตนเอง เชื่อมโยงกับถ้อยคำที่ใช้เรียกขานประเทศไทยว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" เพราะสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองนี้ ยูเอ็นรับรองเอาไว้สำหรับชาติหรือชนชาติที่ตกเป็นเหยื่อยุคล่าอาณานิคม
ส่วนความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ หรือ armed conflict ที่ยูเอ็นมีสิทธิเข้ามาแทรกแซงตรวจสอบได้นั้น สถานการณ์ร้ายที่ผ่านมาเกือบ 1 ทศวรรษน่าจะเข้าข่ายนานแล้ว เพียงแต่ประเทศไทยไม่เคยยอมรับ
ที่ผ่านมา "ข้อต่อ" ที่ว่านี้ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่เคยมีตลอดเกือบ 10 ปีที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ ด้านหนึ่งเป็นเพราะขบวนการรวมกันไม่ติด แต่เหตุผลสำคัญคือรัฐไทยไม่เคยยอมรับ ทำให้กลุ่มเหล่านี้ไม่มีที่นั่งในโอไอซี และยูเอ็น ขณะที่ขบวนการต่อสู้ในบางประเทศมี
แต่วันนี้ ถึงแม้ว่าฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะยังไม่เป็นเอกภาพเช่นเดิม ทว่ากลับมีตัวตนขึ้นมา สามารถสื่อสารกับโลกและกับมวลชนของเขาเองผ่านโซเชียลมีเดียได้ ดังเช่นที่เผยแพร่คลิปผ่านเว็บไซต์ youtube มาแล้ว 3 รอบ
มองในแง่นี้ บีอาร์เอ็นอาจไม่ได้อยากเจรจากับรัฐบาลไทยจริงๆ ก็ได้ เพราะธรรมนูญบีอาร์เอ็นก็ชัดเจนว่าไม่เจรจา แต่การยอมลงนามในข้อตกลงสันติภาพว่าจะริเริ่มกระบวนการพูดคุย เป็นเพียง "แผนหลอกไทย" เพื่อเปิดตัวสู่ประชาคมโลก (และรัฐบาลชุดนี้ก็เหมือนเต็มใจให้หลอก เพราะผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยที่เคยทำงานด้านพูดคุยเจรจามาก่อนถูกเด้งจากตำแหน่งเดิมทั้งหมดก่อนวันลงนาม 28 ก.พ.2556)
ไทยคิดเข้าข้างตัวเองว่า บีอาร์เอ็นยอมตกลง "พูดคุยสันติภาพ" แสดงว่าต้องดำเนินการเรื่องหยุดยิงเพื่อลดความรุนแรง และยังยอมพูดคุยภายใต้รัฐธรรมนูญไทยด้วย
คำถามคือวันนี้บีอาร์เอ็นแคร์อะไรกับโต๊ะเจรจา เพราะพวกเขาเสนอข้อเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ youtube (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการถ่วงดุลข่าวสารที่ฝ่ายรัฐบาลไทยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนกระแสหลัก เพราะหากแกนนำบีอาร์เอ็นต้องการให้สัมภาษณ์สื่อบ้างก็ย่อมได้ แต่กลับเลือกแสดงท่าทีต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดียพร้อมด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ ในขณะที่ตัวแทนรัฐบาลไทยที่ไปร่วมโต๊ะพูดคุยเจรจากลับระมัดระวังอย่างมากในการให้สัมภาษณ์เชิงกล่าวหาบีอาร์เอ็น) ฉะนั้นคงหวังยากว่าพวกเขาจะเคารพการพูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทยด้วย ส่วนเรื่องสันติภาพนั้น ในคลิปล่าสุดเขาก็พูดชัดแล้วว่า สันติภาพของพวกเขากับของรัฐไทยเป็นคนละนิยามกัน
นี่คือความน่ากลัวของสถานการณ์ ในขณะที่การยิง ระเบิด ปะทะระหว่างคนถืออาวุธด้วยกันเกิดขึ้นต่อเนื่อง เข้าข่าย armed conflict ชัดเจน การเบนเป้าสู่เจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธก็ไม่ใช่ว่าเขาทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไทย แต่เป็นเพราะที่ผ่านมากลุ่มแยกดินแดนถูกองค์กรระหว่างประเทศตั้งคำถามมากเรื่องทำร้ายพลเรือน (โดยเฉพาะยิงครู) พอเขาเปิดตัวสู่สังคมโลกและสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ 28 ก.พ.2556 (ลงนามพูดคุยสันติภาพกับไทย) เขาก็หยุดโจมตีเป้าหมายพลเรือน และโทษว่ากองกำลังของรัฐไทยต่างหากที่ฆ่าพลเรือน...ทุกอย่างเชื่อมร้อยโยงใยกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
ขณะที่ในพื้นที่ เวทีพูดถึงอนาคตปัตตานี ("ปาตานี") ก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ส่วนใหญ่ดูเหมือนไม่ใช่อนาคตของการอยู่ร่วมกันในบริบทเดิม แต่เป็นการอยู่ร่วมกันภายใต้บริบทใหม่ หากไม่แยกตัวตั้งรัฐใหม่ ก็เป็น "เขตปกครองตนเอง" ในระดับที่เหนือกว่าปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ
และ self determination ก็คือเครื่องมือที่จะนำไปสู่จุดนั้น แม้จะยาก...แต่กระแสก็เกิดขึ้นแล้วอย่างกว้างขวาง
ยิ่งนับวันรัฐไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานอะไรได้ชัดเจน ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น บางข้อทำได้ตั้งนานแล้วแต่ก็ยังไม่ยอมทำให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น ไต่สวนเพื่อเพิกถอนหมายจับที่ไม่เป็นธรรมหรือหลักฐานอ่อน ฯลฯ เหล่านี้สะท้อนความอ่อนด้อยของการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาและให้ความเป็นธรรม (ถึงวันนี้ถ้าเริ่มทำ ก็เท่ากับเป็นการทำตามคำสั่งบีอาร์เอ็น กลายเป็นบีอาร์เอ็นได้ประโยชน์ไปอีก)
ขณะเดียวกันบีอาร์เอ็นก็ใช้โซเชียลมีเดียตอกย้ำและลดความชอบธรรมของรัฐไทยไปเรื่อยๆ ขณะที่การก่อความรุนแรง (armed conflict) และการลงประชามติเพื่อกำหนดอนาคตตนเอง กำลังเดินหน้าแบบก้าวกระโดด
โต๊ะเจรจาอาจเป็นแค่พิธีกรรมที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา และไม่มีความหมายใดๆ ไม่ว่าจะเลิกหรือเดินหน้าต่อในวันนี้ นอกจากความหมายของการเพลี่ยงพล้ำของรัฐไทยเท่านั้น
โอกาสของการสูญเสียดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือรัฐไทยสูญเสียอำนาจการปกครองพื้นที่ไปแบบ "เกือบเบ็ดเสร็จ" จากที่ฝ่ายความมั่นคงเคยคิดว่าไม่มีทางเกิดขึ้นได้นั้น ขณะนี้กำลังเริ่มมองเห็นเป็นรูปเป็นร่างลางๆ แล้วหรือเปล่า...เป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบทุกระดับน่านำไปไตร่ตรองดู
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การรวมตัวแสดงพลังของคลื่นมหาชนจำนวนมหาศาลที่อาเจะห์เมื่อครั้งเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียยอมทำประชามติเพื่อให้ชาวอาเจะห์กำหนดอนาคตของตนเอง
ขอบคุณ : คุณอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เอื้อเฟื้อภาพประกอบ
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความนี้ ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปกโฟกัส ฉบับวันอังคารที่ 4 มิ.ย.2556 ในชื่อ "ระวังเสียสามจังหวัดใต้"