'กล้านรงค์' เผยเลือกกรรมการสรรหา ป.ป.จ. 32 จว.แรกครบแล้ว ประกาศ 14 มิ.ย.นี้
กล้านรงค์ ระบุสถานการณ์ปัญหาทุจริตของประเทศไทย ดัชนีภาพลักษณ์ยังตกต่ำ เชื่อตัวฉุดสำคัญ คือ ระบบการเล่นพรรคพวก ระบบอุปถัมภ์ ชี้ต่างชาติถือเป็นการทุจริตรูปแบบหนึ่ง
วันที่ 2 มิ.ย. ที่โรงแรมบาลิออส เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ถึงความคืบหน้าการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.) ใน 32 จังหวัดแรกว่า ขณะนี้ได้คัดเลือกคณะกรรมการสรรหาครบทุกจังหวัดแล้ว จะประกาศรายชื่อให้ทราบเป็นการทั่วไปในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ และจะเริ่มคัดเลือกกรรมการสรรหา กรรมการ ป.ป.จ.ของ 44 จังหวัดที่เหลือ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2556
โดยกรรมการ ป.ป.จ.ในแต่ละจังหวัดมีจำนวน 3 - 5 คน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ประกาศรายชื่อจังหวัดที่มีกรรมการ ป.ป.จ. ได้ 5 คน ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปแล้ว ประกอบด้วย 12 จังหวัด คือ ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ สงขลา สุรินทร์ อุดรธานี และ อุบลราชธานี
นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า เมื่อ ป.ป.ช.คัดเลือกกรรมการ ป.ป.จ. ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว จะประกาศรายชื่อให้สาธารณชนทราบและเปิดให้สื่อมวลชน ประชาชน แสดงความคิดเห็นกลับเข้ามายัง ป.ป.ช. ถึงคุณสมบัติ ความเหมาะสม ของกรรมการ ป.ป.จ.ในแต่ละจังหวัด เพราะจุดประสงค์ต้องการได้กรรมการ ป.ป.จ.ที่เป็นคนดี โดยเฉพาะมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เข้ามาทำงานจริง ๆ
ติงเอแบคโพลตั้งคำถามชี้นำ ทำลายหลักความจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเวทีการเสวนาหัวข้อ “มิติใหม่ ป.ป.ช. กับการต่อต้านการทุจริต” จัดขึ้นเพื่อให้สื่อมวลชนร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกับ ป.ป.ช.โดยมีสื่อมวลชนประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสื่อมวลชนจากส่วนกลางเข้าร่วมจำนวนมาก
นายกล้านรงค์ กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาการทุจริตของประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า เมื่อปี 2555 ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยที่จัดทำโดยองค์กรต่างประเทศ พบว่า องค์กรที่ให้คะแนนต่ำสุด คือ Political Risk Services International Country Risk Guide (ICRG) ให้ 31 จาก 100 คะแนน โดยสำรวจจากระบบการเล่นพรรคเล่นพวก ระบบการอุปถัมภ์ ที่ถือเป็นการทุจริตรูปแบบหนึ่ง เป็นตัวฉุดคะแนนให้ต่ำลง ส่วนองค์กรที่ให้สูงสุดคือ มูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ ให้ 45 จาก 100 คะแนน โดยสำรวจจากความถี่ที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดีลงโทษจากการทุจริต
“ข้อมูลดังกล่าวชี้ว่า การเล่นพรรคเล่นพวก เลือกคนของตัวเองเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง ต่างชาติมองว่าคือการคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง ตราบใดที่เรายังไม่เลิกการเล่นพรรคเล่นพวกหรือระบบอุปถัมภ์ คะแนนส่วนนี้ก็จะยิ่งต่ำลงไป” นายกล้านรงค์ กล่าว
กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อไปว่า สาเหตุหนึ่งของการคอร์รัปชั่นคือ ความเบื่อหน่ายและเพิกเฉยของประชาชนต่อการทุจริต ตนมีความเป็นห่วงผลสำรวจของเอแบคโพล ที่ตั้งคำถามว่า ยอมรับได้หรือไม่ถ้ารัฐบาลทุจริต แล้วทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ด้วย เป็นคำถามที่ทำลายตรรกะของความเป็นจริง เพราะถ้าประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรือง ประชาชนจะอยู่ดีกินดี ไม่ได้เกิดจากการทุจริตของรัฐบาล ดังนั้นถ้าถามแบบนี้ ประชาชนจะปลูกฝังให้คิดว่า การทุจริตจะทำให้ชาติเจริญ เป็นภาพลักษณ์เสียหายที่ปรากฏออกไปทั่วโลกด้วยว่า คนไทยเห็นแก่ตัว ยอมรับการคอร์รัปชั่น
ด้าน นายวรวิทย์ ศรีอนันตรักษา หัวหน้าข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กล่าวว่า สื่อมวลชนมีอำนาจจากการได้รับความเชื่อถือจากสาธารณะ จึงเป็นอีกอำนาจหนึ่งที่จะไปช่วยเสริมอำนาจของ ป.ป.ช. ที่เป็นอำนาจรัฐ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการดำเนินการเอาผิดผู้ที่กระทำการทุจริต อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. กลไกการเอาผู้กระทำทุจริตเข้าคุกยังล่าช้าอยู่มาก ตอนนี้จึงเห็นแนวโน้มนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐที่สูงอายุ กระทำทุจริตกันมากขึ้น เพราะคิดว่าโกงไปก็ไม่ทันได้ติดคุก จึงฝากให้ ป.ป.ช.ไปแก้ไขกระบวนการชี้มูลความผิด หรือส่งฟ้องเพื่อดำเนินคดีให้เร็วขึ้น และ ป.ป.ช ควร ปรับการทำงานในฐานะที่เป็นแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลให้สื่อมวลชน โดยในบางเรื่อง ควรเปิดเผยเอกสารข้อมูลบางอย่างออกมาให้สื่อก่อนได้ ไม่ต้องรอให้ถึงจังหวะ ไม่ควรเก็บงำไว้จนล่าช้าเกินไป
ทั้งนี้ ช่วงท้าย กรรมการ ป.ป.ช.ได้ตอบประเด็นปัญหา กรณีผู้ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที ตามมาตรา 55 แต่ในกรณีที่นักการเมืองได้พ้นจากตำแหน่งนั้น ๆ แล้วมาดำรงตำแหน่งอื่น ต่อมา ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด ตามที่ถูกกล่าวหาขณะยังดำรงตำแหน่งนั้น ๆ แล้วนักการเมืองคนนั้นยังดำรงตำแหน่งในปัจจุบันได้อยู่ หลายฝ่ายมองว่าเป็นปัญหา ถ้าจะแก้ไข ต้องกลับไปแก้ไขกฎหมาย อีกทั้งยืนยันว่า ถ้านักการเมืองคนนั้นอยู่ในตำแหน่ง ขณะที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในตำแหน่งเดียวกัน ก็ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นทันทีตามกฎหมาย