สมัชชาปฏิรูป 3 ปี กลั่น 21 ประเด็นมอบเป็นสมบัติทางปัญญาของชาติ
ประธาน คสป. ยกกระบวนการสมัชชาฯ เปิดจินตนาการ-กระบวนทัศน์ใหม่ให้คนไทย เชื่อ "ผ่าทางตัน" ของปัญหาได้ แนะประชาชนต้องมีส่วนร่วมพัฒนานโยบายสาธารณะ
วันที่ 2 มิถุนายน ในงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 พ.ศ.2556 “พลังพลเมือง ปฏิรูปประเทศไทย” ซึ่งจัดเป็นวันที่สุดท้าย ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ในช่วงเช้า น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษถึง "ภารกิจสำคัญในเรื่องการปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปคลื่นความถี่" ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะ โดยยอมรับว่าในเรื่องนี้ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก เพราะสิ่งที่เรากำลังต่อสู้ในขณะนี้เรียกว่า ‘อำนาจนิยมอุปถัมภ์ ทุนนิยมอภิสิทธิ์’ ซึ่งนับเป็นความโชคร้ายของประเทศไทย
2 อำนาจ ครอบงำกิจการสื่อสารมวลชน
กรรมการ กสทช. กล่าวว่า “อำนาจนิยมอุปถัมภ์ คือสังคมที่อยู่ในลักษณะใช้อำนาจปกป้องพวกพ้องของตัวเอง ส่วนทุนนิยมอภิสิทธิ์ คือมีบางกลุ่มบางพวกได้ประโยชน์จากนโยบายที่รัฐเลือก เช่นเดียวกับสภาพสื่อสารมวลชน ตั้งแต่มีวิทยุออกอากาศในประเทศไทย พ.ศ.2473 และมีโทรทัศน์ออกอากาศในปี พ.ศ.2498 จนถึงปัจจุบัน ยังพบว่า ระบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์และทุนนิยมอภิสิทธิ์ ยังคงครอบงำกิจการสื่อสารมวลชนอยู่ แม้จะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีผู้ประกอบการที่มากขึ้น แต่ยังพบว่า สถานีวิทยุที่เกิดใหม่ถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือผลประโยชน์ทางด้านการเมือง
น.ส.สุภิญญา กล่าวอีกว่า กสทช.พยายามที่จะทำให้ทุกคนอยู่ในกติกา และการกำกับดูแลให้เกิดสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพของสื่อและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งปัจจุบัน กสทช.กำลังมีนโยบายในการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอนาล็อค ไปสู่ระบบดิจิตอล โดยจะเพิ่มสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี 36 ช่องในระดับชาติและ 12 ช่องในระดับชุมชนท้องถิ่น และใน 36 ช่องดังกล่าวจะจัดให้ 12 ช่องเป็นสถานีบริการสาธารณะ แม้ตรงจุดนี้ ยังมีข้อถกเถียง ต่อสู้เกิดขึ้นกันใน กสทช. เนื่องจากตนไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรคลื่นความถี่ 12 สถานีให้กับหน่วยงานของรัฐโดยไม่มีกติกาที่ชัดเจนพอ เพราะมองว่าจะสร้างปัญหาใหม่ หนีเสือปะจระเข้ก็เป็นได้
“ ไม่ว่าจะต้องใช้ขบวนการถึงที่สุดอย่างไรก็จะพยายามต่อสู้ให้เต็มที่ จะคัดค้านไม่ให้ กสทช.จัดสรรหรือแจกคลื่นความถี่ให้กับหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานใดก็ตามโดยที่ยังไม่มีกติกาที่ชัดเจนพอ เพราะคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีค่า ไม่ใช่ กสทช.จับแจกให้กับใครก็ได้ โดยเฉพาะในโอกาสที่สังคมมีความคาดหวังเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีเวลาต่อสู้ดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งภาคประชาชนสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกัน หรือทำหน้าที่คัดง้าวถ่วงดุลได้" กรรมการ กสทช. กล่าว และว่า ส่วนอีก 24 สถานี ซึ่งจะถูกจัดสรรด้วยการประมูลเป็นช่องธุรกิจนั้น ก็จะต้องเป็นไปตามกลไกเสรีตามที่กฎหมายกำหนด อย่างถูกต้อง โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี
จากนั้นตัวแทนภาคีเครือข่ายสมัชชาปฏิรูปได้ทยอยกันขึ้นเวที เพื่อกล่าวแสดงเจตนารมณ์ในการสานต่อมติของสมัชชาปฏิรูปต่อไป เช่น เชียงใหม่ ได้มีการจัดเวทีคู่ขนานไปพร้อมกับเวทีกลางที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ได้มีการสไกป์เข้ามาร่วมงานด้วย โดยมีเสียงสะท้อนความรู้บางช่วงบางตอนที่มีเนื้อหาสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า อยากเห็นสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจที่ถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มน้อย คนไม่กี่ตระกูล ด้านการศึกษา ที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพที่หลากหลายของคน สภาพพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธ์ โดยจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การเมืองที่คนส่วนใหญ่มีส่วนรวม ประชาชนมีความเข้มแข็ง สร้างระบบเศรษฐกิจที่พอเพียงและยั่งยืน
ส่วนด้านการศึกษา ตัวแทนภาคีเครือข่ายฯ ต้องสร้างความเคารพต่อคุณค่า วิถีวัฒนธรรมของมนุษย์ที่หลากหลาย สร้างคนที่มีศักดิ์ศรี มีจิตวิญญาณ ประการสำคัญจะร่วมกันทุ่มเท ไม่ปล่อยให้สังคมไปสู่หายนะเป็นอันขาด
กลั่น 21 ประเด็น สมบัติทางปัญญาของชาติ
ต่อจากนั้นมีพิธีปิดการประชุมสมัชชาระดับชาติฯ โดย ศ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวตอนหนึ่งว่า การประชุมฯครั้งนี้ สมัชชาปฏิรูปมีมติใน 7 ประเด็นด้วยกัน และเมื่อร่วมกับการประชุมสมัชชาสองครั้งก่อนหน้านี้จะรวมเป็น 21 ประเด็น ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นสมบัติทางปัญญาของชาติที่หาได้ยาก เพราะสร้างขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจ พลังทางวิชาการอย่างมาก และเมื่อสร้างขึ้นแล้วจะไม่มีวันสูญหายไปจากโลก จะมีการนำไปใช้ขยายตัวต่อไป
ศ.ประเวศ กล่าวถึงกระบวนการสมัชชาปฏิรูปเป็นการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมา คือ
1.เปิดจินตนาการใหม่ให้กับคนไทยว่า ประเทศไทยพ้นทุกข์ได้ พ้นจากความยากจน ความอยุติธรรมของสังคม ซึ่งแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษก็ยากที่จะพ้นไปได้ และเมื่อมีจินตนาการที่ใหญ่ ก็จะให้พลังที่มาก ดั่งเช่นเจ้าชายสิทธถัตธะ ที่มีจินตนาการว่าคนพ้นทุกข์ได้ จินตนาการจึงนำมาซึ่งวิริยะฉันทะอย่างแรงกล้า และขณะนี้คนไทยที่ร่วมในสมัชชาฯ ก็มีจินตนาการแล้วว่า ประเทศไทยพ้นทุกข์ได้
2.เปิดจิตสำนึกใหม่ จิตสำนึกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพลังจิตสำนึกเป็นพลังที่แรงที่สุดในตัวมนุษย์ เหมือนกับพลังนิวเคลียร์ ฉะนั้นพลังจิตสำนึกที่ใหญ่ มีความสำนึกในศักดิ์ศรี คุณค่าความเป็นคนของตนเองและเพื่อนมนุษย์ จะนำไปสู่สิ่งดีงาน สามารถทำเรื่องดีๆ เพื่อเพื่อมนุษย์ได้
3.เปิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา จากเดิมที่เน้นการใช้อำนาจ เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในมือของรายใหญ่ ประชาชนไม่สามารถทำอะไรได้ และเมื่อรายใหญ่โกงมาก ประเทศ คนจนก็ลำบาก ดังนั้น การเปิดกระบวนทัศน์ใหม่ จึงเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมและเปิดที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง เกิดชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเองอย่างบูรณาการไม่รอว่าเป็นเรื่องของรัฐ หรือรายใหญ่เท่านั้น
4.เป็นกระบวนการใหม่ของการพัฒนานโยบายที่คนไทยได้ร่วมเรียนรู้ สมัชชาปฏิรูปเป็นกระบวนการที่คนทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานในเชิงวิชาการ ใช้ข้อมูล ทบทวนวิจัยและสังเคราะห์ออกมาเป็นมติ เป็นนโยบายสาธารณะ
และ 5.เกิดความสุขชนิดใหม่ ที่เกิดจากการรวมตัวกันทำเรื่องดีๆ
ทั้งนี้ ศ.ประเวศ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ภูเขาที่ล้อมเราอยู่นั้น ไม่สามารถหาทางออกได้ด้วยการใช้แรงปะทะ แต่สามารถหาทางออกได้โดยการใช้ปัญญา ซึ่งกระบวนการใหม่ที่คนทุกภาคส่วนมาร่วมกันสังเคราะห์นโยบาย โดยใช้หลักวิชาการ เชื่อว่าประเทศต่างๆ ที่ล้มเหลวในการพัฒนาจะต้องมาเรียนรู้กระบวนการที่คนไทยกำลังทำ
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายว่า สำหรับมติที่ประชุมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 3 มีด้วยกัน 7 ประเด็นดังนี้
1.ธรรมนูญเพื่อการจัดการตนเอง
2.ปฏิรูปกลไกขับเคลื่อนความเสมอภาคระหว่างเพศ เสริมพลังพลเมืองสู่การปฏิรูปประเทศไทย
3.การปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียน: สิทธิ การเข้าถึงและความเป็นธรรม เพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน
4.การบริหารจัดการน้ำและแก้ไขอุทกภัยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ
5.พลังพลเมืองปฏิรูปสื่อเพื่อการปฏิรูปสังคม
6.เพิ่มพลังพลเมือง ปฏิรูประบบป้องกันและปราบปรามการทุจริต
7.กลไกและกระบวนการในการปฏิรูปประเทศไทยระยะยาว