เก้าอี้ "ภราดร" สั่นคลอน สะเทือนเจรจาบีอาร์เอ็น
คำสั่งศาลปกครองกลางที่ชี้ว่าคำสั่งย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากเก้าอี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2554 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้นายถวิลกลับสู่ตำแหน่งเดิมโดยเร็วนั้น
แม้คอการเมืองจะอ่านทางว่า อย่างไรเสียรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีก็ต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลปกครองสูงสุด และมีโอกาสสูงที่คดีนี้จะสิ้นสุดหลังจากนายถวิลเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.2557 โดยไม่สนใจคำขู่ของนายถวิลที่จะยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่านายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็ตาม
ทว่าในแง่ของความชอบธรรมและความสง่างามของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ต่อไป ย่อมถูกตั้งคำถามได้เหมือนกัน
แม้โดยข้อเท็จจริงแล้ว พล.ท.ภราดร ไม่ได้เข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.หลังจากรัฐบาลสั่งย้ายนายถวิล แต่เป็น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ถูกโยกจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ไปนั่งเก้าอี้เลขาธิการ สมช.แทน เพื่อเปิดทางให้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลงสำหรับ พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ พี่ชายของ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ผงาดขึ้นเป็นแม่ทัพสีกากีทันในปีสุดท้ายของอายุราชการ แต่เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งออกมาเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ กล่าวคือ
หากนายกรัฐมนตรีไม่ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันตามกฎหมาย คดีย่อมถึงที่สุด นั่นหมายความว่านายถวิลจะได้กลับไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ทันที โดยที่การดำรงตำแหน่งของ พล.ต.อ.วิเชียร กับ พล.ท.ภราดร ในเวลาต่อมาถือว่าไม่ชอบ แต่ก็จะไม่กระทบกับกิจการงานที่ได้กระทำไป ในแง่นี้ พล.ท.ภราดร ก็ต้องหลุดจากเก้าอี้เลขาธิการ สมช.ที่นั่งอยู่ในปัจจุบันด้วย
หรือหากนายกฯยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดเหมือนศาลปกครองกลาง โดยปิดคดีก่อนวันที่ 30 ก.ย.2557 ผลที่เกิดตามมาย่อมไม่แตกต่างกัน
แม้กิจการงานใดที่ได้กระทำไปจะไม่ได้รับผลกระทบในแง่กฎหมาย แต่งานใหญ่ที่ สมช.ยุค พล.ท.ภราดร ได้ดำเนินการ คือการริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่ง พล.ท.ภราดร ไปลงนามอย่างเปิดเผย เอิกเกริกด้วยตนเองถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 28 ก.พ.2556 ย่อมมีผลกระทบแน่ โดยเฉพาะในแง่ของทิศทางนโยบาย
เพราะนายถวิลแสดงท่าทีชัดเจนตลอดมาว่าไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพแบบเปิดเผย และยังเชื่อว่านโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้เป็นการ "ติดกับ-หลงเกม" ให้กับกลุ่มนายฮัสซัน
ฉะนั้นหากนายถวิลได้หวนคืนเก้าอี้เลขาธิการ สมช. ย่อมสะเทือนถึงนโยบายพูดคุยสันติภาพอย่างไม่ต้องสงสัย แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่านโยบายนี้ผลักดันโดยผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลตัวจริงอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ตาม แต่เมื่อคีย์แมนฝ่ายข้าราชการประจำไม่เล่นด้วย ย่อมเกิดภาวะลักลั่น ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ค่อนข้างแน่
โดยเฉพาะนายถวิลไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว เพราะเหลืออายุราชการอีกเพียงปีเดียว!
แต่ความเป็นไปได้อีกด้านหนึ่งคือ หากทุกอย่าง "เข้าล็อค" เป็นไปตามแผนของรัฐบาล คือนายกฯยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางไปยังศาลปกครองสูงสุด และคดียืดเยื้อไปจนกระทั่งนายถวิลเกษียณอายุ แม้ดูเผินๆ จะไม่มีอะไรเสียหาย เพราะ พล.ท.ภราดร ก็จะได้นั่งเก้าอี้เลขาธิการ สมช.ต่อไป และการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ก็จะดำเนินต่อไปตามที่ได้นัดหมายกันไว้ แต่ความชอบธรรมและความสง่างามของ พล.ท.ภราดร ย่อมถูกตั้งคำถาม รวมถึงความมี "ธรรมาภิบาล" ของรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีเองด้วย
การถูกตั้งคำถามน่าจะไม่จำกัดเฉพาะผู้คนในสังคมไทยเท่านั้น แต่น่าจะรวมไปถึงแกนนำบีอาร์เอ็นที่มีโอกาสหยิบประเด็นนี้มา "ตั้งแง่" บนโต๊ะเจรจาได้เหมือนกัน หากแนวโน้มหรือผลการพูดคุยเจรจาไม่เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ
หรืออย่างน้อย ความมั่นอกมั่นใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ เชื่อมั่นในสถานะของ พล.ท.ภราดร ย่อมลดฮวบลงอย่างไม่ต้องสงสัย
ต้องไม่ลืมว่าตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2556 ซึ่งมีการลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่าง พล.ท.ภราดร กับ นายฮัสซัน ฝ่ายบีอาร์เอ็นดูจะชิงความได้เปรียบเหนือฝ่ายรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านเว็บไซต์ youtube เสนอข้อเรียกร้องฝ่ายเดียว 5 ข้อ และประกาศตัวเป็นผู้แทนประชาชนชาวปาตานีในฐานะ "ผู้ปลดปล่อย" ปาตานีจากการกดขี่ของรัฐไทย
หลังผ่านการพูดคุยอย่างเป็นทางการมา 2 ครั้ง (ครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในวันที่ 13 มิ.ย.2556) หลายฝ่ายประเมินว่าจริงๆ แล้วบีอาร์เอ็นอาจไม่ได้ต้องการพูดคุยกับรัฐบาลไทยอย่างจริงจังด้วยซ้ำ เพียงแต่ฉวยโอกาสใช้การลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเปิดตัว "บีอาร์เอ็น" และ "กลุ่มนายฮัสซัน" ต่อประชาชนชาวปาตานี กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ และประชาคมโลก
ในคลิปชิ้นที่ 3 ของบีอาร์เอ็นที่เผยแพร่เมื่อไม่กี่วันมานี้ก็ระบุชัดว่านิยามคำว่า "สันติภาพ" ของพวกเขา เป็นคนละนิยามกับของรัฐไทย ฉะนั้นโอกาสของการเจรจาบนเงื่อนไขปัจจุบันจึงแทบไม่มีทางบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้เลย
แต่วันนี้บีอาร์เอ็นและกลุ่มของนายฮัสซันมีตัวตนแล้ว แสดงตัวผ่าน youtube คราใดก็มีคนคอยมอนิเตอร์ จับจ้อง เผยแพร่ และแชร์ต่อ...
พวกเขากำลังสร้าง "ข้อต่อ" หรือ "สะพาน" เชื่อมการต่อสู้ปลดปล่อยปาตานีตามที่พวกเขากล่าวอ้างไปยังเวทีระดับสากล ซึ่ง "ข้อต่อ" หรือ "สะพาน" ที่ว่านี้ "ไม่เคยมี" หรือจะเรียกได้ว่า "ขาดหาย" มาตลอดเกือบ 1 ทศวรรษของสถานการณ์ความไม่สงบที่ชายแดนใต้ ด้วยการดำเนินนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศแบบไม่โฉ่งฉ่างของรัฐไทย
วันนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ...
สถานะที่เสมือนหนึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายของ พล.ท.ภราดร จึงอาจเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่บีอาร์เอ็นหยิบมาเล่นเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลไทย และชิงความได้เปรียบทั้งในและนอกโต๊ะเจรจามากขึ้นกว่าเดิม เพราะแม้แต่คำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อนักข่าวช่อง 3 ยังถูกหยิบไปพูดถึงในคำแถลงการณ์ผ่านคลิปเที่ยวล่าสุด
ซ้ำร้ายนี่อาจกลายเป็นข้ออ้างล้มโต๊ะเจรจาขึ้นมาเลยก็เป็นได้ เมื่อพวกเขาเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องคุยอะไรกันอีกแล้ว!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) นายถวิล เปลี่ยนศรี (ขวา) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร