นักวิชาการชี้หลายโมดูลจัดการน้ำมีปัญหา เตือนกบอ.ฟังเสียงปชช.
นักวิชาการยัน กบอ.ต้องปรับฐานความคิด ฟังปชช. ชี้หลายโมดูลมีปัญหา คาดมีความขัดแย้งแน่ ด้านนักผังเมืองศึกษาร่วมชาวทุ่งพระพิมล ออกแบบพื้นที่เปราะบางใหม่ หาแนวทางอยู่ร่วมกับน้ำท่วม-แล้ง
ในเวทีการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 ที่จัดโดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย (คสป.) มีเวทีประชุมแลกเปลี่ยนความเห็น เรื่อง "คำถามที่ยังรอคำตอบ" ประชาชนได้ (หรือเสีย) อะไร ในการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ดำเนินการโดยมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) มี ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. รศ.ชัยยุทธ สุขศรี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาฯ นายอาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ และรศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
ดร.สุวัฒนา กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ในนามวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยว่า ได้ทักท้วงตั้งแต่แรกแล้วว่าผิดขั้นตอน จนถึงวันนี้ ก็ยังมองไม่เห็นภาพรวมการแก้ไขปัญหาทั้งหมด ขณะที่โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นงานเดิมๆ ของกรมชลประทาน รวบรวมมา
"ผมยังมองไม่เห็นความสำเร็จของโครงการนี้ ทั้ง 9 โมดูล โดยเฉพาะบางโมดูลที่ต้องเจอความขัดแย้งอย่างแน่นอน เช่น โมดูล A5 การจัดทำทางผันน้ำ ที่ดึงน้ำจากแม่น้ำปิง ไม่มีการคิดวิเคราะห์ช่วงน้ำแล้ง" ดร.สุวัฒนา กล่าว และว่า ปีที่ผ่านมา รัฐบาลการบริหารจัดการน้ำด้วยการเร่งปล่อยน้ำลงทะเล จนวันนี้ไม่มีน้ำเพื่อขับไล่น้ำเค็ม ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา
ดร.สุวัฒนา กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการน้ำ โดยการไม่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์โครงการก่อน ไม่มีการศึกษาความคุ้มค่า หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงอยากให้มีการชะลอโครงการนี้ไปก่อน แต่เมื่อเดินหน้าไปไกลแล้ว จึงเชื่อว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นอย่างแน่นอน
ขณะที่รศ.ชัยยุทธ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำ โมดูล A6-B4 ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัยนั้นมีประโยชน์ เพราะเป็นสิ่งที่ประเทศไทยกำลังขาด แต่หลายชุดโครงการ เมื่อดูก็พบว่า ส่วนใหญ่เน้นไปที่โครงสร้างเป็นหลัก รวมถึงการที่ภาครัฐไม่ได้ดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หรือนำข้อมูล ข้อเท็จจริง มาตีแผ่ให้ประชาชนเห็น
"รัฐบาลเพียงแต่บอกให้ทุกคนเชื่อ ผมรู้ดี กำลังทำดี มีความตั้งใจ ทำหน้าที่อยู่ แต่ประเด็นคือว่า คนพูดอาจพูดเช่นนั้นแต่การบริหาร การตัดสินใจ ระบบสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ให้รัฐดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวอีกแล้ว"
ด้านนายอาสาฬห์ มองว่า ปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ส่วนหนึ่งมาจากน้ำมือมนุษย์ที่ไม่ปล่อยให้น้ำไหลไปตามธรรมชาติ ในฐานะนักออกแบบโครงสร้างและผังเมือง เห็นว่าหากมีการออกแบบที่ดี ที่ประชาชนมีส่วนร่วมจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชนได้ ทั้งนี้ ภัยพิบัติ เป็นปัจจัยภายนอกที่มีความเสี่ยง แต่การรับมือของคนเป็นปัจจัยภายใน ที่หากรับมือได้ความเสี่ยงก็จะน้อย
"จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการศึกษา ออกแบบ วิเคราะห์พื้นที่เปราะบาง เพื่อหาแนวทางการอยู่ร่วมกับน้ำ ไม่ว่าน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง ว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือหากมีความรุนแรงมากขึ้น จะตั้งศูนย์อพยพบริเวณไหน บริหารจัดการอย่างไร ซึ่งขณะนี้ได้ทำการศึกษาในพื้นที่ทุ่งพระพิมลราชา ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายความร่วมมือฝ่าภัยพิบัติคนนครปฐมแล้ว"
ขณะที่รศ.สุริชัย กล่าวว่า ขณะนี้โครงการบริหารจัดการน้ำอยู่ในสถานการณที่มีความเสี่ยง เนื่องจากผู้ตัดสินใจสร้างโครงการใหญ่ๆ ในสังคม โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงอย่างนักการเมืองได้ผลักความเสี่ยงในการรับผิดชอบให้ผู้อื่น ตัดสินใจโดยไม่มีระบบตรวจสอบผล นำไปสู่ระบบการดำเนินงานที่ไม่มีผู้รับผิดชอบความเสี่ยงแลความเสียหาย ขณะที่ความเสี่ยงและความเสียหายมีโอกาสเกิดมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะความเสียหายด้านงบประมาณ ทั้งจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
"ทางออกของโครงการบริหารจัดการน้ำไม่ใช่แค่ประชาชนจะลุกขึ้นมาฟ้องหรือไม่ฟ้อง แต่ผู้ที่มีสิทธิ มีอำนาจในการตัดสินใจในประเทศนี้ ต้องปรับฐานคิดว่าเมื่ออยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบเดียวกัน จะต้องรับผิดชอบความเสี่ยงร่วมกัน ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วค่อยมาหาแพะ รวมถึงต้องตรวจสอบคำว่า "โครงการเร่งด่วน" ที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เคยอ้างไว้ ว่าเป็นไปตามเหตุผลที่กล่าวไว้หรือไม่ หรือเป็นไปเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการงบประมาณเท่านั้น"
รศ.สุริชัย กล่าวด้วยว่า ฐานคิด ฐานความรู้ในการตัดสินใจโครงการบริหารจัดการน้ำต้องกว้างกว่าเดิม ไม่ใช่แขวนไว้กับผู้เชี่ยวชาญไม่กี่กรมกอง โดยที่ภาคประชาชนไม่รู้เห็น ไม่มีส่วนร่วม เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ตอไป ที่อาจสร้างวิกฤติการณ์อย่างต่อเนื่อง และเปิดช่องความขัดแย้งมากขึ้นได้
"อยากให้รัฐบาลทบทวนโครงการอีกครั้ง ให้ภาควิชาการ ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หากจะดึงดันใช้ฐานความรู้ที่คับแคบนี้ต่อไป ผมว่าจะเป็นความเสี่ยงทางการเมือง"