เปิดงานสมัชชาปฏิรูปฯ ครั้งที่ 3 ‘ประเวศ’ ดึงพลังพลเมืองร่วมแก้เหลื่อมล้ำ
เริ่มวันแรกสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 หวังดึงพลังพลเมืองร่วมเคลื่อนแก้เหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ลดคอร์รัปชั่น ประมนต์-รสนา ปลุกคนไทยไม่นิ่งเฉย มีจิตสำนึก ไม่ยอมคนโกง
วันที่ 31 พ.ค. คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) จัดประชุม 'สมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2556 พลังพลเมือง ปฏิรูปประเทศไทย' ในระหว่างวันที่ 31 พ.ค. ถึง 2 มิ.ย.นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา ดึงทุกภาคส่วนมาเชื่อมพลังร่วมแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และสานแนวทางการปฏิรูปประเทศระยะยาวตามเจตนารมณ์และอุดมการณ์เดิม โดยมี นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการคสมัชชาปฏิรูป นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย และคณะกรรมการปฏิรูปทุกเครือข่าย รวมถึงภาคประชาชนในเครือข่ายการปฏิรูปประเทศ เข้าร่วมพิธีเปิดงาน
ช่วงเช้า พิธีเปิดงานเป็นการเดินรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ด้วยขบวน 'ผ้าพลเมือง' ที่ให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในสังคมและทุกภูมิภาคในประเทศไทยได้ร่วมแสดงพลังและความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย ด้วยการจารึกข้อความลงบนผ้าพลเมือง ซึ่งมีจำนวนรายชื่อผู้คนที่ร่วมลงนาม และความยาวของผ้าจำนวนมากร่วมเดินทางจากทุกภาคในประเทศ และมารวมตัวเชื่อมต่อผ้าพลังพลเมืองขับเคลื่อนการปฏิรูป
ทั้งนี้ ได้มีการจัดเวทีคู่ขนานการปฏิรูปประเทศไทยระดับต่างจังหวัดรับชมการถ่ายทอดสดเวทีหลักพร้อมกันไปด้วย
นพ.ประเวศ กล่าวตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจ การเมือง และศีลธรรมในสังคมไทยจะดีขึ้นไม่ได้ บ้านเมืองจะเต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น หากสังคมยังไม่เข้มแข็ง แต่หากสังคมเข้มแข็งจะมีส่วนกำกับให้เกิดความถูกต้องในทุกๆ ด้าน จึงต้องสร้างพลังพลเมือง ซึ่งการปฏิรูปความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นเรื่องยาก ไม่มีประเทศใดทำได้จริงจัง และจะไม่มีทางทำได้ หากประชาชนไม่เป็นผู้ลงมือทำ
นพ.ประเวศ กล่าวถึงกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เดินหน้าไป 2 เรื่องใหญ่ๆ ประสานกัน การกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง เปิดพื้นที่ทางสังคม ทางปัญญาอย่างกว้างขวางที่มากกว่าแค่การต่อสู้ เพื่อแพ้ชนะ
"การทำงาน 3 ปี จึงเป็นการจุดชนวนการปฏิรูปประเทศไทย เปรียบเสมือนการสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องเป็นธรรมในสังคม ขอให้พลมืองทุกท่านช่วยกันรดน้ำ พรวนดินให้เติบโตต่อไป เพื่อสร้างแผ่นดินที่สันติสุข แผ่นดินไทยมีทรัพยากรมากพอที่จะอยู่กันอย่างสันติสุข หากมีการจัดการที่ดี ถูกต้องและเป็นธรรม"
ขณะที่นายประมนต์ กล่าวถึงบ้านเมืองเราขณะนี้เกิดภาวะวิกฤติหลายประเภท ทั้งความขัดแย้งในความคิดเห็นทางการเมือง การไม่รับฟังซึ่งกันและกัน ฟังความข้างเดียว ปัญหาเศรษฐกิจ และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีความอ่อนไหว รวมถึงวิกฤติควาเหลื่อมล้ำของสังคม รายได้คนจน คนรวยที่ถีบตัวห่างกว้างและวิกฤติคอร์รัปชั่นที่รุนแรงขึ้น
"วิกฤติปัญหาคอร์รัปชั่น เป็นปัญหาต้นๆ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชั่นของประเทศไทยสอบตกโดยที่ที่ไม่มีการปรับปรุงมาตลอด แม้จะมีหน่วยงานอิสระพยายามรณรงค์ก็ยังมีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการเรียกหัวคิวรั่วไหลไปถึง 35% ซึ่งหากการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการใหญ่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท มีการรั่วไหลแค่ 20% ก็เป็นเม็ดเงินหลักแสนล้านที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้มากมาย"
นายประมนต์ กล่าวต่อว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบันมีความซับซ้อน กระจายตัว สร้างเครือข่าย พัวพันนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้านักธุรกิจ และองค์กรต่างๆ กระทั่งองค์กรอิสระ มีการเรียกจ่ายล่วงหน้า สั่งตัดงบที่ส่งลงท้องถิ่น ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ประเทศชาติคงเข้าสู่ภาวะหายนะ เหมือนคนไข้มะเร็งขั้นสุดท้ายที่ไม่มีโอกาสต่อสู้
"หากคนไทยยังดูดาย คิดว่าปัญหามิใช่ งบประมาณไม่ใช่เงินของเรา หากมีคนโกงแล้วตนเองได้ประโยชน์ก็ไม่เป็นไรนั้น คงจะทันได้เห็นประเทศชาติหายนะอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่เครือข่ายภาคธุรกิจ ไม่ยอมจำนน จึงรวมตัวเป็นภาคีเครือข่ายฯ เคลื่อนไหวโดยยึดหลัก 3 ป.ต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้แก่
1.ปลูกฝัง รณรงค์ภาคเยาวชน นักเรียน นักศึกษา 2.ป้องกัน หาวิธีการไม่ให้เกิดการทุจริต 3.เปิดโปง ที่นำไปสู่การปราบปรามของภาครัฐ เพราะภาคเอกชนไม่อำนาจในทางกฎหมาย" นายประมนต์ กล่าว และว่า ได้ทำข้อตกลงคุณธรรม ลงนามกับ 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐเจ้าองโครงการ ผู้รับเหมา และผู้สังเกตการณ์เข้าไปตรวจสอบโครงการใหญ่ๆ ของภาครัฐในทุกขั้นตอน เริ่มที่แรกกับโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบรับและร่วมลงนามแล้ว
"ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนมาทำหน้าที่พลเมือง และรวมเป็นพลังพลเมือง ต่อต้าน ขับไล่ ไม่นับถือพวกที่ทำการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ให้มีที่ยืนในสังคมไทย ตัวเราเองไม่โกง ไม่พอ ต้องไม่ยอมให้คนอื่นโกงเรา เพราะคนโกงเพียงไม่กี่หมื่นคนในประเทศ เราก็เสียหายแล้ว"
ด้านน.ส.รสนา กล่าวถึงประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่เกิดจากประชาชนระดับล่างว่าจะเป็นสิ่งที่สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ประเทศไทยปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก เพราะมีการกระจายทางเศรษฐกิจและทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้รัฐสภาที่เป็นที่รวมตัวแทนของประชาชน ก็ไม่อาจนำสังคมไปสู่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจได้
น.ส.รสนา ระบุว่า ตัวการของความเหลื่อมล้ำคือการที่ทรัพยากรธรรมชาติทั้งระบบถูกผ่องถ่ายไปสร้างความร่ำรวยให้กับคนกลุ่มน้อย จากประสบการณ์ ในการเป็นกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายรับรายจ่าย พบว่า ภาษีของประชาชนทั้งประเทศ จากปี 2549 - 2556 มีรายรับจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งระบบเพียง 2.5% ซึ่งเป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องกับผลการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยที่ระบุว่า 20 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความแตกต่างของรายได้ระหว่างคนร่ำรวยและคนยากจนสูงถึง 12-15 เท่า
นอกจากนี้ทางสำนักงบประมาณเองก็ไม่เคยเก็บตัวเลข มูลค่าความสูญเสีย ค่าเยียวยา ค่าชดเชยที่รัฐบาลต้องจ่าย และค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องแบกรับ จากการให้สัมปทานทางทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิดในประเทศไทย ที่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนในหลายพื้นที่ เป็นเรื่องที่ประหลาดสำหรับประเทศไทย ถ้าประเทศไทยเป็นบริษัท น่าจะล้มละลายไปนานแล้ว เพราะทำโครงการขาดทุนตลอดเวลา
"การให้สัมปทานทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น สัมปทานที่ก่อสารปรอทในหมู่บ้านคลิตี้ หรือสัมปทานที่ก่อสารแคดเมียม ไซยาไนด์ที่จังหวัดตาก ไม่เคยมีการเก็บตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้น เคยได้ยินมาว่า เราได้เงินจากสัมปทานเหมืองทองคำที่ จ.พิจิตรเพียง 196 ล้าน เมื่อแลกกับความสูญเสีย ไม่น่าจะคุ้ม"
น.ส.รสนา กล่าวด้วยว่า การทำงานของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่วัน แต่เชื่อมั่นว่ากระบวนการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่ขับเคลื่อนร่วมกันมากว่า 3 ปี จะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้เองอย่างยั่งยืนด้วยพลังของพลเมืองที่มีจิตสำนักแห่งการจัดการตนเอง