"นิธิ" ชี้นโยบายประชานิยมยุครบ.ปู เริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่นแล้ว
'นิธิ' วิเคราะห์ความต่างนโยบายประชานิยมยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชี้รุ่นน้องสาวมือเริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่นมากขึ้น ย้ำชัดจำเป็นต้องกำกับให้มือล้วงถูกกระเป๋า ขณะที่ ดร.อัมมาร มองประชานิยมทำให้การเมืองไทยถูกลง สังคมเปลี่ยน คนไทยแบมือขอรอจากรัฐบาล
วันที่ 30 พฤษภาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดเสวนาสาธารณะครั้งที่ 2 “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” ภายใต้โครงการเสวนาสาธารณะ ‘เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้’ (Economy of Tomorrow) ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เพื่อทบทวนชวนคิดเรื่อง ‘ประชานิยม’ ในเศรษฐกิจการเมืองไทยว่า 12 ปีผ่านไป นับตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยในปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับนโยบายประชานิยมบ้าง
วิทยากรประกอบด้วย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbook
เริ่มต้นศ.ดร.นิธิ กล่าวถึงนิยาม “ประชานิยม” ในเมืองไทยว่า ค่อนข้างให้ความหมายจำกัดเกินไป พร้อมสรุปลักษณะประชานิยมที่สำคัญ คือ เอาใจประชาชนระดับล่าง กำปั้นเล็ก เสียงเยอะ โดยวิธีเอาใจก็ทำได้ทั้ง ขวาจัด หรือซ้ายจัด เผด็จการก็ได้ ประชาธิปไตยก็ได้ ตราบใดยังเอาใจประชาชนเพื่อการสนับสนุน
“ยุคหลังของนโยบายประชานิยม ที่พบเห็นเสมอ คือ กระจายทรัพยากรไปถึงประชาชน ถึงมือคนระดับล่างในรูปแบบใดก็ได้ เช่น การทำกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น”
ทำนโยบายประชานิยม มือเริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่น
ศ.ดร.นิธิ กล่าวถึงนโยบายประชานิยมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จำนำข้าวทุกเมล็ด 15,000 บาท เริ่มล้วงไปกระเป๋าคนอื่นแล้ว ดีไม่ดียังไม่พูดถึง
“ความแตกต่างสำคัญระหว่างนโยบายประชานิยมยุคทักษิณ กับยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือ มือเริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่นมากขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างพลังขึ้นมากำกับมือนั้น หรือสอนมือนั้นให้ล้วงให้ถูกต้อง ล้วงเอาไปใช้ในทางที่ทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น” นักวิชาการอิสระ กล่าว และพร้อมกับเห็นว่า นโยบายประชานิยม เหมาะอย่างยิ่งในการทำให้เกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ นโยบายประชานิยมทุกประเภทจะมีเชื้อนำเราไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จได้ หากเราไม่เอาใจใส่ความเป็นธรรม ความชอบธรรมของอำนาจ
ส่วนนโยบายจำนำข้าว ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า “ทำก็ได้ ไม่ได้เสียหายมากมาย หากเริ่มต้นด้วยการระมัดระวังเรื่องการโกง การระบายข้าวออก แม้จะทำให้รัฐบาลขาดทุนแน่ แต่เป็นไรไปหากขาดทุน”
อัมมาร ย้ำชัด ประชานิยมทำให้การเมืองไทยถูกลง
ขณะที่ ศ.ดร.อัมมาร กล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเชิงเศรษฐกิจ เสน่ห์ของประชานิยมตั้งแต่ยุคทักษิณ ถือว่า เป็นนโยบายระดับชาติที่เอาใจประชาชน ก่อนหน้านั้นนักการเมืองไทย มีแค่ประชานิยมระดับพื้นที่ เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา
“แต่ประชานิยมยุคทักษิณ เป็นนวัตกรรม ด้วยการรวบรวมนโยบายต่างๆ มาทำเป็นระดับชาติ และทำให้ประชาธิปไตยก้าวขั้นไปอีกจุดหนึ่งในทางที่ดีขึ้น โดยสัญญากับประชาชนที่ได้รับเลือกตั้งมา ทักษิณก็ทำตามที่สัญญาไว้เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงรับผิดชอบต่อสัญญาที่ให้ไว้” ศ.ดร.อัมมาร กล่าว และว่า ที่ค้านประชานิยมมาโดยตลอดนั่นก็คือรับผิดชอบเพียงครึ่งเดียว พูดว่า มีคนได้ แต่ไม่มีการพูดถึงข้อเสียของประชานิยม
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวถึงพรรคฝ่ายค้านอีกว่า ก็อ่อนแอเกินไปที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาถกเถียงในระหว่างการหาเสียง โดยเฉพาะกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แย่มาก ที่ทุกพรรคการเมืองแข่งกันออกนโยบายประชานิยม เหมือนแม่ค้าเอาของมาเร่ขาย วางกับดิน
"ผมไม่ชอบประชานิยมแบบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะทำให้ “การเมืองถูกลง” ทุกคนพูดกับประชาชนจะได้อันนั้นอันนี้ คนไทยเลยคิดว่า ฉันจะได้อะไรจากรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับไม่ได้พูดกับประชาชนจะทำอะไรให้สังคมโดยรวมบ้าง ทั้งๆ ที่ประชานิยมที่ฉลาดต้องไม่ทิ้งส่วนไหนเลยของสังคม"
จำนำข้าว เอื้อประโยชน์ชาวนาระดับบน โรงสี
ส่วนนโยบายจำนำข้าวนั้น นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในบางโอกาสอาจเห็นด้วย แต่ระบบที่สร้างขึ้นมาปัจจุบันนั้น เป็นระบบที่เอื้อชาวนาระดับบน และบังเอิญชาวนาระดับล่างได้ด้วย ถือเป็นอานิสงส์ ขณะที่คนจำนวนมาก เช่นโรงสี ได้ประโยชน์ และกลายเป็นตัวประกอบสำคัญในระบบการเมืองท้องถิ่น จึงถือเป็นการบริหารจัดการที่ชาญฉลาดของรัฐบาลยุคนี้
“หากรัฐบาลของทักษิณ มีนโยบายชัดเจน สิ่งที่ทำ คือ การเจาะจงนโยบายประชานิยมไปให้คนยากจน คนพิการ คำนึงถึงคนอ่อนแอที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจก่อน แทนคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว อย่างเช่น จำนำข้าว ชาวนาที่มีฐานะดี ซึ่งเป็นส่วนน้อย (ผลิตข้าวได้เป็นส่วนใหญ่) แต่กลับได้ส่วนแบ่งส่วนใหญ่ที่รัฐบาลโปรยไปให้ ผมถือว่าเป็นการออกแบบนโยบายที่ผิดพลาด” ศ.ดร.อัมมาร กล่าว และว่า ตลาดข้าว ครึ่งหนึ่งเป็นตลาดส่งออก หากไม่มีการส่งออกข้าว จะมีข้าวในประเทศเหลือบานตะไท ข้าวจำนวนมากที่ผลิตออกมาเพื่อให้เน่าในโกดัง เหล่านี้ รัฐบาลไม่คิดแก้ตั้งแต่ต้น เพราะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ของพ่อค้าข้าวกลุ่มเดียว สร้างล็อบบี้ทางการเมืองที่มีพลังอยู่ในใจกลางของรัฐบาล
ทั้งนี้ ศ.ดร.อัมมาร กล่าวถึงการสร้างความรู้สึกของคนไทยให้เกิดขึ้นกับเงินที่รัฐบาลนำมาใช้ทำนโยบายประชานิยมด้วยว่า ประชาชนทุกคนต้องทราบ ต้องแค้น เวลามีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเงินสาธารณะ
ขณะที่ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงประชานิยมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างความสามารถให้กับประชาชน หรือภาคธุรกิจเลย โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมรุ่นที่ 2 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งด้อยคุณภาพ และมีปัญหามาก
“ รถคันแรก นโยบายลด แลก แจก แถม ที่มีปัญหามาก เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองนักลงทุนญี่ปุ่น ธุรกิจยานยนต์ข้ามชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ต่างจากนโยบายประชานิยมรุ่นแรก (ยุคทักษิณ) ฐานกว้าง ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ที่สร้างขีดความสามารถให้กับประชาชน ขณะที่โอท็อป ก็สร้างความสามารถให้ธุรกิจชุมชน ผมจึงไม่เรียกนโยบายประชานิยม”
สุดท้าย ดร.เกษียร กล่าวถึงปัญหาแท้จริงของประเทศไทย ไม่ใช่ “นโยบายประชานิยม” แต่คือ “การเมืองแบบประชานิยม” อำนาจนิยม โดยนโยบายจำนำข้าว รถคันแรก ฯลฯ นโยบายเหล่านี้เป็นปัญหาเพราะเข้าไปอยู่ในการเมืองแบบประชานิยม หากเราไม่แก้ตรงนี้ ก็แตะไม่ถูกจุด
ดร.เกษียร กล่าวถึงปัญหาการเมืองแบบประชานิยม ปิดแคบ ขีดเส้นจำกัดมาก ฉะนั้นกระบวนการต้องเปิดให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม มีพื้นที่ให้ทะเลาะกันในเชิงนโยบาย
“ หากแก้ปัญหานโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจำนำข้าว รถคันแรก ไม่ใช่นั่งทะเลาะเรื่องนโยบาย แต่ต้องฟันลงไปที่การเมืองแบบประชานิยม แก้การเมืองประชานิยมด้วยการที่ฝ่ายต่างๆ ต้องวาง ซึ่งหากไม่เปลี่ยนตรงนี้ เราจะไม่สามารถเปิดให้คนต่างๆ เข้ามาถกเถียงได้”