3 หัวเรือใหญ่ ถอดบทเรียนครบรอบ 3 ปี ‘สมัชชาปฏิรูป’
ใกล้ครบวาระ 3 ปี การทำงาน... 'คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.)' ตามกรอบที่รัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ลงนามแต่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูประบบและโครงสร้างต่างๆ ในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งคำสั่งจะมีผลสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้
โดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปได้เตรียมจะจัดประชุม 'สมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2556 พลังพลเมือง ปฏิรูปประเทศไทย' ในระหว่างวันที่ 31 พ.ค. ถึง 2 มิ.ย.นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา พร้อมดึงทุกภาคส่วนมาเชื่อมพลังร่วมแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สานแนวทางการปฏิรูปประเทศระยะยาวตามเจตนารมณ์และอุดมการณ์เดิม
ตลอด 3 ปีของการทำงาน คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป... ถอดบทเรียนอะไรได้บ้าง ขุดรากถอนโคนปัญหาเชิงโครงสร้างไปได้ถึงไหน รวมถึงมีแนวจะขับเคลื่อนอย่างไร ฝากฝังให้คนกลุ่มใดมา 'รับไม้' เคลื่อนพลการปฏิรูปประเทศ หากคณะกรรมการหมดวาระการทำงานแล้ว... สำนักข่าวอิศรา รวบรวมทัศนะจาก 3 หัวเรือใหญ่ในคณะสมัชชาปฏิรูปมาตอบข้อสงสัยข้างต้น
นพ.ประเวศ วะสี
ประธานคณะกรรมการคสมัชชาปฏิรูป (คสป.)
ตลอด 3 ปีการทำงานปฏิรูปประเทศ เห็นชัดว่า การปฎิรูปเพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง ไม่สามารถทำเชิงปัจเจกได้ ที่ผ่านมาจึงขับเคลื่อน ส่งเสริมให้ชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง จะมัวรอให้ภาครัฐกระจายอำนาจไม่ได้ เพราะการกระจายอำนาจเป็นแนวคิดที่ 'ตีบตัน' มานาน และไม่ได้รับความใส่ใจ เนื่องจากผู้มีอำนาจไม่อยากกระจาย หรือไม่เข้าใจว่าจะกระจายมันอย่างไร
แต่การจัดการตนเอง เป็นแนวคิดที่ก้าวไปไกลกว่านั้น... สามารถจัดการทางเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีอิทธิพลต่อประชาชนและเพิ่มศักยภาพระดับภราดรภาพมากขึ้น ทำให้การจัดการตนเองมีการเคลื่อนไหวไปได้มาก เพราะแต่ละพื้นที่มีนวัตกรรมทางสังคมที่ต่างกัน
การขับเคลื่อนแบบ 'สมัชชาปฎิรูป' จึงเป็นขบวนการสร้างนโยบายสาธารณะ แต่เนื่องจากนโยบายสาธารณะทำได้ยาก คนไทยไม่คุ้นเคย เพราะที่ผ่านมานโยบายล้วนมาจากนักการเมือง ที่หากได้นโยบายดีก็ดีไป แต่หากไม่ดีก็กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์และทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม
เป็นหน้าที่ของทั้งสังคม ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการทำงานด้านวิชาการ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ หาแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปแบบของนโยบายอย่างมาก ต่างกับแนวทางการขับเคลื่อนก่อนหน้านี้ที่มักแก้ปัญหาด้วยการเรียกร้อง และส่วนมากมักจะไม่ได้ผล มีแต่ทะเลาะกัน นโยบายสาธารณะจึงน่าจะเป็นตัวแก้ปัญหาเรื้อรังนี้ได้...
ทั้งนี้ การทำนโยบายต้องวิเคราะห์ผลดี ผลเสียให้รอบด้าน เพราะแม้บางนโยบายจะดูดีแต่ถ้าสร้างผลเสียก็ไม่สามารถอนุมัติได้ โดยรากฐานสำคัญนโยบายสาธารณะ คือ สร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นการปฎิรูปที่ดิน ปฎิรูปการจัดการทรัพยากร ปฎิรูปความยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องยากทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม 3 ปี ของสมัชชาปฏิรูป ได้สร้างคนไทยส่วนหนึ่งให้เข้าใจในตัวนโยบายสาธารณะได้ และควรขับเคลื่อนต่อไป แม้ต้องใช้เวลา 10-20 ปี แต่เชื่อว่าในอนาคตอาจขับเคลื่อนได้รวดเร็วขึ้น เพราะปัจจุบันมีระบบการสื่อสารที่สะดวกมากขึ้น
ขณะนี้ สังเคราะห์นโยบายออกมาได้ 20 ประเด็น ซึ่งจะมีการรวบรวมและจัดพิมพ์เป็น "นโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ" ของประเทศไทย และคาดหวังว่าจะค่อยๆ ได้รับการยอมรับในฐานะองค์ความรู้สาธารณะมากขึ้น
"ยังมีผู้ต้องการพัฒนาสังคมอีกจำนวนมาก เร็วๆ นี้จะจัดเวที "มหามวลมิตรพัฒนาประเทศไทย" โดยจะเชิญองค์กรที่ทำงานด้านนโยบาย และองค์กรด้านพัฒนา มาร่วมประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนประเทศไทยพัฒนาต่อไปไม่มีหยุดนิ่ง"
นพ.วิชัย โชควิวัฒน
กรรมการสมัชชาปฏิรูป
เนื่องจากประเทศไทยยังมีปัญหามากมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เปลี่ยนแปลง กระบวนการสมัชชาปฏิรูปจึงได้รับผลตอบรับที่ดีจากภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่นๆ ถึงขั้นหนุนให้มีการ 'ปฎิรูป' เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ หรือถึงขั้น 'ปฎิวัติ' ที่หมายถึงใช้ความรุนแรงเป็นตัวแก้ปัญหา ซึ่งไม่ควรทำให้เกิดขึ้น
ด้วยแนวทางการปฏิรูป เป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ โดยการพูดคุย ค้นหาข้อมูลความจริง แลกเปลี่ยนความเห็น ให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นข้อยุติร่วมกัน กระบวนการเหล่านี้เป็นการสร้าง 'อำนาจอ่อน' (soft power) ซึ่งแตกต่างจาก 'อำนาจแบบแข็ง' (Hard Power) ที่ภาครัฐที่เป็นผู้บัญญัติขึ้น เช่น อำนาจจากมติคณะรัฐมนตรี อำนาจศาล อำนาจสภา และอำนาจทางกฎหมาย ที่บังคับให้ประชาชนต้องทำตาม
แต่สมัชชาปฎิรูปเป็นการใช้อำนาจภาคประชาชน ที่มาจากการเห็นเห็นพ้องต้องกัน เพื่อให้ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น การเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาฯ การที่รัฐยอมลงนามร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ 'อาณัติ' ที่ได้รับมาจากภาครัฐจะสิ้นสุดลง แต่กลุ่มสมัชาปฎิรูปจะไม่มีการปิดฉาก... จะยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะสังคมส่วนใหญ่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างและระบบ ปัญหาต่างๆ ยังคงดำรงอยู่ เช่นกรณีกลุ่มพรีมูฟ มีปัญหากว่า 400 เรื่องที่ยังแก้ไขไม่แล้วเสร็จ เช่นเดียวกับคนไร้สัญชาติ ที่ไม่ได้รับสิทธิ ความเท่าเทียมในประเทศ
อันเป็นความเห็นพ้องต้องกันที่ว่า 'กลไกสมัชาปฎิรูป' ที่เป็นกลไกอธิปไตย ควรจะดำรงอยู่ต่อไป เพราะหากเปลี่ยนให้คนกลุ่มอื่นมารับงานต่อ กว่าจะเข้าใจปัญหา วิเคราะห์สภาพการณ์ได้คงแก้ไขไม่ทัน
เครือข่ายเดิมจึงจะมีการเคลื่อนไหวต่อไป โดยมี กลุ่มพลเมือง ที่หมายถึง พละกำลังของเมือง เป็นผู้ขวนขวายหาความรู้ สร้างความเข้าใจและสนใจปัญหาของบ้านเมือง มามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพื่อให้ประเทศพร้อมก้าวเดิน ลดช่องว่างทางสังคมและบรรเทาการเอารัดเอาเปรียบได้มากขึ้น
โดยที่การสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 ในปีนี้ กำหนดไว้ 7 มติด้วยกัน ได้แก่ 1.ธรรมนูญเพื่อการจัดการตนเอง 2.เพิ่มพลังพลเมือง ปฏิรูประบบป้องกันและปราบปรามการทุจริต 3. การปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียน : สิทธิ การเข้าถึง และความเป็นธรรม เพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน 4. พลังพลเมืองปฏิรูปสื่อเพื่อการปฏิรูปสังคม 5. ปฏิรูปกลไกขับเคลื่อนความเสมอภาคระหว่างเพศเสริมพลังพลเมือง 6. การบริหารจัดการน้ำและแก้ไขอุทกภัยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ 7.กลไกและกระบวนการในการปฏิรูปประเทศไทยระยะยาว
นายสมพร ใช้บางยาง
อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และกรรมการสมัชชาปฏิรูป
'สมัชชาปฎิรูป' มีหน้าที่กระตุ้น และเผยแพร่แนวคิดการปฎิรูประบอบการจัดผังอำนาจใหม่ ตามแนวคิดของคณะกรรมการปฎิรูป โดยพยายามเพิ่มบทบาทองค์กรส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น กล่าวคือ เน้นการกระจายอำนาจเป็นหลัก ซึ่งเป็นหลักของประชาธิปไตยอยู่แล้ว
"หน้าที่ของสมัชชาปฏิรูป คือ รณรงค์ผ่านสื่อ ผ่านของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มศิลปิน เพื่อให้แนวคิดดังกล่าวเข้าถึงความคิดของคนทั่วๆ ไป"
จากที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนใน 'ระดับท้องถิ่น' มาตลอด 3 ปี เห็นว่า มีความพยายามเรียกร้องเชิงนโยบาย ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นรวมตัวกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้สังคมยอมรับในฐานะเจ้าของประเทศ และสร้างธรรมมาภิบาล
ซึ่งเห็นได้ชัดว่า การรวมศูนย์อำนาจการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันนั้น ไม่สามารถล่วงรู้หรือแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน หรือชุมชนได้ ด้วยเพราะความห่างไกล และไม่สามารถเข้าถึงประเด็นที่เป็นปัญหาของประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ข้อกังขา... ที่สมัชชาปฏิรูปถูกตั้งโจทย์ และต้องตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด คือ ทำอย่างไรจะยกระดับประชาชนธรรมดา ให้ขึ้นสู่ความเป็นพลเมืองได้? ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด และเป้าหมายต่อมา คือสร้างชุมชนให้เป็นแหล่งปลูกฝังความคิดด้านระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง
แต่เนื่องจากการทำงานขององค์กรสมัชาปฎิรูป อยู่ในรูปแบบที่ค่อนข้างจำกัด แนวความคิดของเราไม่ได้อยู่ในแนวนโยบายที่ภาครัฐจะหนุนเสริม รัฐยังคงทำงานอย่างรวมศูนย์ ยังไม่เห็นการกระจายอำนาจที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
ขณะเดียวกัน สถาบันทางปัญญา อาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงนักศึกษาที่เคยชี้นำปัญหา และบุกเบิกระบอบประชาธิปไตยก็เริ่มอ่อนแรงลง ทำให้ประชาชนต้องพึ่งตนเอง
เมื่อฝ่ายนโยบายไม่ให้ความจริงใจในการยกระดับประชาชน สถาบันทางปัญญาก็ไม่เอื้อต่อการเป็นผู้นำทางปัญญากับประชาชน จึงเป็นหน้าที่เราทุกคน ที่ต้องยกระดับศักยภาพตนเอง
จาก 'ราษฎร' สู่ความเป็น 'พลเมือง' ที่รู้ร้อน รู้หนาวกับปัญหาประเทศชาติ มีส่วนร่วมทางการเมือง เรียนรู้ ให้ความสำคัญ และเข้าใจหลักคิดประชาธิปไตยในฐานะผู้เป็นเจ้าของระบอบประชาธิปไตย เฉกเช่นประเทศที่เจริญแล้ว เพื่อมา 'รับช่วง' ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่อไป
...แม้ว่าสมัชชาปฏิรูป จะถูกมองว่าเป็น 'พลังส่วนน้อย' แต่ตลอด 3 ปี 'พลังสมัชชา' ก็เป็นพลังที่ขับเคลื่อนเพื่อระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงมาโดยตลอด