นักวิชาการแนะยกร่าง พ.ร.บ.สลากฯ ใหม่ หนุนกลไก ‘กองทุนภาคประชาสังคม’
นักวิชาการถกหาแนวทางหนุนตั้ง 'กองทุนภาคประชาสังคม' กลไกเสริมงบ-องค์ความรู้ให้กลุ่มขับเคลื่อนแก้ความเหลื่อมล้ำ ชี้แหล่งทุนของภาครัฐเข้าไม่ถึงคนหลายกลุ่ม
เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานครบรอบ 12 ปี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ มีเวทีประชุมเรื่อง กองทุนภาคประชาสังคม : 'สร้างกลไกแหล่งกองทุนที่ยั่งยืน สำหรับการพัฒนา โดยภาคประชาสังคม' เพื่อหาแนวทางสร้างกลไกสนับสนุนงบประมาณ องค์ความรู้ที่เพียงพอและต่อเนื่องให้ภาคประชาสังคมที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการแก้ความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมี ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิชาการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.ธันยา รุจิเสถียรทรัพย์ อาจารย์บัณฑิตวิทยาลัย ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และนายไพศาล ลิ้มสถิต กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย วุฒิสภา ร่วมเสวนา
ดร.วรวรรณ กล่าวถึงเศรษฐกิจหลายปีที่ผ่านมาว่าพัฒนาดีขึ้น ประชากรมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ด้านสังคม การศึกษาและความเป็นอยู่ของครอบครัวกลับมีความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่สวนกระแสกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด
"การบริการสังคมยังขาดกลไกที่ทำให้นักพัฒนาสังคมมีบทบาทอย่างแท้จริง และขาดกลไกสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เช่นเดียวกับการจัดสรรงบพัฒนาสังคมมีน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเม็กซิโกและชิลีที่เสียภาษีใกล้เคียงกับไทย แต่มีงบพัฒนาสังคมมากกว่า ขณะเดียวกันรายได้จากองสลาก ภาษีสุราและโรงงานยาสูบไม่ได้แบ่งไว้พัฒนาสังคม"
ขณะที่ ดร.ธันยา กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐมีกองทุน 111 กองทุนที่มีงบประมาณแผ่นดินสนับสนุน ซึ่งดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ มีการตรวจสอบประเมินผล แต่ก็ไม่สามารถพัฒนาสังคมที่มีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"กองทุนตามกฎหมายของภาครัฐควรหนุนเสริมสวัสดิการกลุ่มที่เข้าไม่ถึง เช่น กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กกำพร้า และเด็กกลุ่มเสี่ยง และปรับแนวทางการบริหารจัดการรองรับสังคมผู้สูงอายุวัยปลายด้วย"
ด้านนายไพศาล กล่าวถึงกรณีศึกษาการใช้งบจากการจำหน่ายล็อตเตอรี่เพื่อการพัฒนาสังคมในประเทศอังกฤษว่า มีกองทุนล็อตเตอรี่ในรูปแบบองค์กรอิสระจัดสรรงบ 28% หนุนการพัฒนาสังคมในฟโครงการขนาดเล็ก เช่น กีฬา สุขภาพและภาคประชาสังคม
นายไพศาล กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยควรเริ่มต้นร่าง พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้นใหม่ให้จัดสรรงบ 15% ไว้พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือหน่วยงานอิสระของรัฐ ในสังกัดสำนักปลัดสำนักนายกฯ ซึ่งมีคณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการบริหารนโยบายที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการเมืองมาแก้ไขปัญหาสังคมที่งบประมาณแผ่นดินและกองทุนที่มีอยู่เข้าไม่ถึง