"แนวร่วมฯ-หน่วยข่าว-กองทัพ" ยันไร้สัญญาณลดเหตุรุนแรง
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งพูดคุยอย่างเป็นทางการมาแล้ว 2 ครั้ง และจะมีการพูดคุยครั้งที่ 3 ในวันที่ 13 มิ.ย.2556 นี้ เพราะนับตั้งแต่วันที่มีการลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.2556 สถานการณ์ในภาพรวมกลับย่ำแย่ลงกว่าเดิม
แหล่งข่าวซึ่งเป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนระดับปฏิบัติการ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเรียกขานว่า "อาร์เคเค" แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า "จูแว" หรือ "นักรบ" เปิดเผยผ่าน "ผู้ประสานงานในพื้นที่" ซึ่งเข้าถึงกลุ่มขบวนการ ว่า กลุ่มของพวกเขายังไม่ได้รับสัญญาณใดๆ ให้ลดการก่อเหตุรุนแรงลง ฉะนั้นกลุ่มขบวนการจึงเดินหน้าก่อความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ต่อไป โดยมีเป้าหมายคือเอกราชเท่านั้น
"พวกเราไม่รู้จักแกนนำที่ไปเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยกับตัวแทนรัฐไทย และที่ผ่านมาก็ไม่มีการส่งสัญญาณให้ยุติการก่อเหตุ พวกเราจึงทำกันต่อ และไม่ได้สนใจโต๊ะเจรจาของรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น เพราะสิ่งเดียวที่พวกเราต้องการคือเอกราชและสถาปนารัฐใหม่" แหล่งข่าวรายนี้บอก และย้ำว่าพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นหรือไม่ รู้แต่ว่าเป็นนักรบเพื่อเอกราชปาตานี (คำเรียกขานรัฐปัตตานีของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน)
แนวร่วมระดับปฏิบัติการรายนี้ซึ่งมีพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ในอำเภอหนึ่งของ จ.ยะลา กล่าวอีกว่า ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเจรจา เพราะฝ่ายขบวนการยังคงความได้เปรียบ สามารถก่อเหตุรุนแรงได้ทุกรูปแบบ ทุกพื้นที่ ทุกเวลา จึงไม่มีความจำเป็นต้องเจรจากับรัฐไทย
เมื่อถามว่าการก่อเหตุรุนแรงไปเรื่อยๆ จะนำไปสู่การแยกดินแดนเพื่อตั้งรัฐใหม่ได้อย่างไร แนวร่วมรายนี้ ตอบว่า เป็นแผนยุทธศาสตร์ของฝ่ายขบวนการที่ต้องการ "นวดให้ช้ำ" แล้วดึงองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี และองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เข้ามาจัดการปัญหา
เชื่อรัฐไทยไม่รับ 5 ข้อเรียกร้อง-ลุยป่วนต่อ
อย่างไรก็ดี แนวร่วมระดับปฏิบัติการรายนี้ยอมรับว่า ได้ทราบข่าวคราวการพูดคุยเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น และข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่นายฮัสซันแถลงผ่านคลิปวีดีโอที่แผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ช่วงก่อนวันที่ 28 เม.ย.2556 ถือเป็นข้อเรียกร้องที่ตรงใจแนวร่วมระดับปฏิบัติการในพื้นที่ แต่ทุกคนก็เชื่อว่ารัฐไทยคงไม่ยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าว จึงต้องก่อเหตุรุนแรงต่อไปเพื่อให้ได้เอกราช
ส่วนสาเหตุที่ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นน้อยนั้น แนวร่วมรายนี้ บอกว่า เป็นเพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่วางมาตรการคุมเข้มช่วงเปิดเทอมใหม่ แต่ฝ่ายขบวนการก็เตรียมการก่อเหตุตลอดเวลาเมื่อมีจังหวะและโอกาสที่ลงตัว
สายอูลามาชี้ก่อเหตุเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง
ด้านแนวร่วมสายอูลามา หรือผู้นำทางจิตวิญญาณรายหนึ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ กล่าวผ่าน "ผู้ประสานงาน" เช่นกันว่า ที่ผ่านมาการขยายเครือข่ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดนใช้โครงสร้างแบบ "องค์กรลับ" ทำให้แนวร่วมรุ่นใหม่ๆ ไม่มีใครทราบว่าตนเองเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นหรือขบวนการอะไร แต่ทุกคนที่อยู่ในขบวนการมีเป้าหมายเดียวกันคือเอกราชของปาตานี
ในส่วนของตัวเขาเอง ก่อนหน้านี้ก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่คือขบวนการบีอาร์เอ็น กระทั่งมีการเปิดโต๊ะเจรจากับรัฐบาลไทย และ นายฮัสซัน ตอยิบ กับ นายอับดุลการิม คาลิบ ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ จึงได้เชื่อว่าทั้งสองคนเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น และบีอาร์เอ็นคือขบวนการหลักที่เคลื่อนไหวต่อสู้แบ่งแยกดินแดนกับรัฐไทย
"การเกิดเหตุรุนแรงถี่ขึ้นในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงใกล้วันเปิดโต๊ะเจรจารอบ 3 ทางกลุ่มขบวนการต้องก่อเหตุรุนแรงหนักขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับรัฐไทย ฉะนั้นความรุนแรงจึงต้องเกิดขึ้นต่อไป" แนวร่วมสายอูลามา ระบุ
ทหารยอมรับไร้สัญญาณหยุดยิง
ข้อมูลจากแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน สอดรับกับความเห็นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับสูงจากกองทัพซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า จากการตรวจสอบข่าวทุกสาย ยังไม่พบสัญญาณจากแกนนำที่ร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทยสั่งให้แนวร่วมระดับพื้นที่หยุดหรือลดการก่อเหตุรุนแรงลง
"ไม่มีสัญญาณอะไรเลย และฝ่ายขบวนการก็จ้องก่อเหตุตลอดเวลา เพียงแต่ที่หยุดไปบางช่วงเพราะรอจังหวะและโอกาส ไม่ได้หมายความว่ามีการส่งสัญญาณให้ยุติ ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ยังคงมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ทั้งในพื้นที่เศรษฐกิจ สาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า และโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ" เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งเป็นทหารประจำการในพื้นที่ กล่าว
บีอาร์เอ็นใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ
ขณะที่ข้อมูลจาก "ประชาคมข่าวกรอง" ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าว ทั้งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ข่าวกรองทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ระบุคล้ายกันว่า การพูดคุยเจรจาที่ตัวแทนรัฐบาลไปดำเนินการกับบีอาร์เอ็น จะไม่ส่งผลให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลง และมีโอกาสสำเร็จน้อย เนื่องจากชุดเงื่อนไขที่นำไปสู่เป้าหมายสุดท้าย (end) ของคู่เจรจา คือ ฝ่ายบีอาร์เอ็นกับรัฐไทย เป็นคนละอย่างกัน ฝ่ายบีอาร์เอ็นต้องการเอกราช โดยใช้การก่อเหตุรุนแรงเป็นแนวทาง (way) เพื่อบรรลุเป้าหมาย ส่วนรัฐไทยต้องการความสงบและสันติภาพ โดยใช้การลดเหตุรุนแรงเป็นแนวทาง (way) เพื่อบรรลุเป้าหมาย
"จากการประมวลความเคลื่อนไหวทั้งจากโต๊ะเจรจาและความเคลื่อนไหวในพื้นที่ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่าทั้งเป้าหมายและแนวทางของรัฐไทยกับฝ่ายขบวนการแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การเจรจาจึงมีโอกาสประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะหากยังใช้แนวทางที่กำลังดำเนินการอยู่ นอกเสียจากว่าคณะเจรจาที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยจะโน้มน้าวให้แกนนำบีอาร์เอ็นเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นการสร้างสันติสุขร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก" แหล่งข่าวจากประชาคมข่าวกรอง ระบุ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : รถกระบะของทหารที่ถูกลอบวางระเบิดที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พ.ค.2556 อยู่ในสภาพพังยับเยิน กำลังพลได้รับบาดเจ็บ 5 นาย พลีชีพ 1 นาย (ภาพโดย ปทิตตา หนูสันทัด)