โอด รัฐตัดงบฯ โครงการหนังสือเล่มแรก วอนสานต่อขยายผลลงชุมชน-ท้องถิ่นขนาดเล็ก
ผจก.แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ยกผลงานวิจัยกรมอนามัย ยันเด็กที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่แรกเกิด พบมีพัฒนาการด้านความคิด ร่างกาย จิตใจ ดีกว่า วอนรัฐกลับมาหนุนงบฯ แจกหนังสือเด็กแรกเกิด เน้นชุมชนท้องถิ่นขนาดเล็ก
ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการหนังสือเล่มแรก (Book Start) ร่วมกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก มาตั้งแต่ปี 2552 นั้น ขณะนี้งบประมาณสนับสนุนโครงการดังกล่าวได้หมดลง และรัฐบาลปัจจุบันไม่มีนโยบายสานต่อ ทั้งที่เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อเด็กอย่างเห็นได้ชัด
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า โครงการหนังสือเล่มแรก แจกหนังสือแก่เด็กแรกเกิด ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนผ่านกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาตลอดระยะเวลาหลายปีนั้น ได้หมดงบประมาณลงเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา และรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้สานต่อโครงการ ดังนั้น ตนและภาคีเครือข่ายได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้มีการสานต่อโครงการผ่านการจัดเวทีสาธารณะพูดคุยในเรื่องนี้ โดยอยากที่จะให้รัฐกลับมาสนับสนุนงบประมาณให้เช่นเดิม โดยเฉพาะ ในท้องถิ่นขนาดเล็ก
“แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านที่กำลังดูแล อยากให้นโยบายนี้ไปเกิดในชุมชนท้องถิ่นเล็ก ๆ แทน โดยอาจจะเป็นจริงมากกว่า เช่น เคยไปทำกับ อบต. หนองขาม จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีงบประมาณสนับสนุนจัดซื้อหนังสือให้เด็กแรกเกิดทุกคน และพยายามผลักดันให้มีห้องสมุดเด็กเล็ก ในบางพื้นที่ไปทำงามร่วมกับศูนย์เด็กเล็ก พอเห็นผลเขาก็เริ่มเรียกร้องให้องค์กรปกครองท้องถิ่นช่วยสนับสนุน หรือโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนครบวงจร ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีร่วมกับเครือข่ายทางการแพทย์ จัดพิมพ์หนังสือได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ช่วยทั้งประเทศ สิ่งที่เราต้องการคือ เด็กทุกคนที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย ควรมีสิทธิเข้าถึงหนังสือ อาจเป็นหนังสือที่ให้เปล่า ระบบหนังสือหมุนเวียน หรือทุกครั้งของการฉีดวัคซีนมีหนังสือให้ เป็นต้น”
นางสุดใจ กล่าวถึงผลงานวิจัยของกรมอนามัย ยืนยันว่า เด็กที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่แรกเกิด จะมีพัฒนาการด้านความคิด ร่างกาย และจิตใจ ดีกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ฟัง โดยจะช่วยลดความบกพร่องด้านประสาทและเสริมพัฒนาการด้านทักษะกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการหนังสือเล่มแรกริเริ่มขึ้นโดยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เมื่อปี 2547 ต่อมาภาครัฐคือกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้ามาผลักดันโครงการหนังสือเล่มแรกให้เกิดเป็นรูปธรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัยปี 2552-2555 ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติเป็นโครงการด้านอนามัยแม่และเด็ก ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการ มีโครงการแจกหนังสือเล่มแรกแก่เด็กแรกเกิด 0-1 ปี คนละ 3 เล่มฟรี โดยแจกตอนแรกคลอด ตอนอายุ 6 เดือน และตอนอายุครบ 1 ปี ช่วงอายุละหนึ่งเล่ม