"เจรจา-วางปืน-ปกครองพิเศษ" หมายเหตุจากอาเจะห์ถึงชายแดนใต้
ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งช่วงก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพแบบเปิดเผยที่รัฐบาลไทยริเริ่มกระบวนการกับแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ.2556 นั้น ถูกนำไปเปรียบเทียบกับพัฒนาการของ "อาเจะห์" ดินแดนบนเกาะสุมาตรา ที่คนพื้นเมืองเปิดฉากสู้รบกับรัฐบาลกลางอินโดนีเซียมาหลายสิบปี และสุดท้ายก็จบลงด้วยการเจรจาสันติภาพเมื่อปี 2548
แม้ "อาเจะห์" จะไม่ได้รับเอกราชถึงขนาดตั้งรัฐใหม่แยกตัวเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย แต่ก็ได้สิทธิในการปกครองตนเอง และคงอัตลักษณ์สำคัญๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวโยงกับศาสนาอิสลามและการใช้กฎหมายอิสลาม
หากย้อนพิจารณาการต่อสู้ของชาวอาเจะห์ผ่าน "ขบวนการอาเจะห์เสรี" หรือ กลุ่ม GAM แม้จะมีประเด็นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และบาดแผลจากยุคล่าอาณานิคมคล้ายๆ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่ในรายละเอียดของการจัดการปัญหาโดยรัฐบาลกลางอินโดนีเซีย โดยเฉพาะความเข้มข้นของการใช้ปฏิบัติการทางทหาร ต้องยอมรับว่าแตกต่างกับกรณีของรัฐบาลไทยพอสมควร
กระนั้น ประสบการณ์จากกระบวนการสันติภาพหลังเหตุการณ์สึนามิถล่มเมื่อปี 2547 กระทั่งนำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิง ถอนทหาร และการถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจในห้วงที่รัฐบาลไทยกำลังริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็น
ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคมที่ชายแดนใต้กับภาคประชาสังคมที่อาเจะห์มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถอดบทเรียนซึ่งกันและกันไม่น้อย โดยบทสัมภาษณ์ข้างล่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเหล่านั้น...
พัฒนาการชายแดนใต้เร็วกว่าอาเจะห์
ซาเดียร์ มาฮาบาน หญิงอาเจะห์วัย 40 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านการไกล่เกลี่ย คือหนึ่งในบุคคลสำคัญของภาคประชาสังคมอาเจะห์ที่เคยเดินทางมาเยี่ยมเยือนดินแดนปัตตานี
ซาเดียร์ มองว่า ปัญหาที่อาเจะห์กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความคล้ายคลึงกัน คนอาเจะห์ใช้เวลากว่า 30 ปีถึงจะเกิดโต๊ะเจรจา กระทั่งถึงวันนี้สถานการณ์ที่อาเจะห์สงบลงแล้ว ส่วนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยน่าจะมีพัฒนาการที่เร็วกว่า
"ทราบข่าวมาว่ามีการพูดคุยกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ถ้าปัญหาได้รับการพูดคุยและตกลงกันได้ ทุกอย่างก็จะจบลง" เธอบอก
"ให้เกียรติ-เท่าเทียม" ปัจจัยเจรจาสำเร็จ
ซาเดียร์ ชี้ว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการเจรจาสันติภาพ คือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และยอมรับความเป็นมนุษย์ว่ามีเท่าเทียมกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด
"สิ่งสำคัญอย่างยิ่งบนโต๊ะเจรจาคือต้องให้เกียรติกัน ที่อาเจะห์นั้นหลังจากทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยกันแล้ว ก็ได้ร่วมกันยุติความรุนแรงเพื่อให้การเจรจาเดินหน้าไปได้ สิ่งที่ผ่านมาแล้วถือเป็นบทเรียนของทุกฝ่าย จากนั้นก็หาแนวทางให้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ จบลง โดยยึดหลักความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เชื้อชาติใด" เธอกล่าว
และว่าสิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญในช่วงริเริ่มเจรจาสันติภาพ คือการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะนำประสบการณ์ของอาเจะห์มาปรับใช้
เส้นทางการต่อสู้...กับวันนี้ของ "อาเจะห์"
ซาเดียร์ ย้อนอดีตให้ฟังว่า สาเหตุที่คนอาเจะห์ต้องต่อต้านรัฐบาลอินโดนีเซีย เพราะประเด็นประวัติศาสตร์ เกิดการแข็งข้อระหว่างทหารกับประชาชน หลังจากนั้นก็เกิดขบวนการอาเจะห์เสรี (กลุ่ม GAM) เพื่อกอบกู้เอกราช เนื่องจากประชาชนถูกทำร้าย ถูกกระทำเหมือนไม่ใช่มนุษย์ ไม่ได้รับความยุติธรรม เกิดการปล้นฆ่า ข่มขืนเด็ก ผู้หญิง เด็กๆ ไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ ผู้หญิงเดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้เลยไม่อย่างนั้นจะถูกข่มขืน ผู้ชายก็ถูกทำร้าย ไม่สามารถทำมาหากินได้
"สองปีก่อนเกิดสึนามิ รัฐบาลกลางอินโดนีเซียพยายามทำให้เกิดการเจรจาที่เจนีวา (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) แต่ไม่สำเร็จ เพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองต้องเอาชนะ โดยเฉพาะจากการใช้กำลัง แต่หลังจากเกิดสึนามิ ทั้ง 2 ฝ่ายก็หันหน้าเข้าหากัน เพราะแต่ละฝ่ายได้คิดว่าความรุนแรงไม่อาจแก้ปัญหาได้ จึงหันมาใช้วิธีเจรจาสันติภาพ และทำสัญญาสันติภาพร่วมกัน แต่กุญแจสำคัญอยู่ที่รัฐบาลกับการเมืองด้วย"
"ทุกวันนี้ชาวอาเจะห์ได้ปกครองตนเอง กลุ่ม GAM เป็นฝ่ายบริหาร ทำให้สามารถใช้ชีวิตปกติได้ จึงอยากให้คนปัตตานีนำปัญหาของอาเจะห์มาศึกษาเป็นบทเรียนด้วย ขณะที่รัฐบาลไทยก็ต้องเปิดใจเหมือนรัฐบาลกลางอินโดนีเซีย" ซาเดียร์ กล่าว
8 ปีเลือกตั้ง 3 ครั้ง - มุ่งสร้างธรรมาภิบาล
ยูวันดา ดีจามาล (Juanda Djamal) เลขาธิการใหญ่ของอาเจะห์บารู (Aceh Baru) หรือคณะกรรมการเฉพาะกิจองค์กรภาคประชาสังคมอาเจะห์ เล่าเสริมว่า นับจากวันที่มีการเจรจาสันติภาพ ถึงวันนี้ก็ผ่านมา 8 ปีแล้ว อาเจะห์มีการเลือกตั้งท้องถิ่น 3 ครั้ง ส่วนสถานการณ์บ้านเมืองก็ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองเป็นระยะๆ
"สถานการณ์ระหว่างนั้น (หลังเจรจาสันติภาพ) แกนนำเก่าของขบวนการอาเจะห์เสรีแตกออกเป็น 2 กลุ่ม พรรคการเมืองก็แบ่งออกเป็น 2 พรรค บทบาทสำคัญจึงอยู่ที่ภาคประชาสังคมที่ต้องทำแผนระยะยาวของอาเจะห์"
ยูวันดา ขยายความว่า การทำงานของภาคประชาสังคมมุ่งเน้นการระดมความคิดเห็นของผู้คนเกี่ยวกับอนาคตของอาเจะห์ว่าอยากเห็นบ้านเมืองเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง หลังได้รับสันติภาพแล้วยังมีโจทย์ข้อสำคัญคือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง เพื่อให้ประชาชนชาวอาเจะห์มีความเชื่อมั่นและมีรายได้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต
"อีกอย่างหนึ่งคือการสร้างหลักธรรมาภิบาล (ความโปร่งใส ยึดหลักกฎหมายในการบริหารจัดการ) คือเป็นความท้าทายใหม่ของขบวนการประชาธิปไตย จะทำอย่างไรเพื่อจัดการกับทรัพยากรทั้งคนและธรรมชาติ การสร้างกระบวนการยุติธรรม ดูแลเหยื่อจากความรุนแรง"
เมื่อถามถึงระบบการเลือกตั้งและรูปแบบการปกครอง ยูวันดา อธิบายว่า ใช้ระบบเลือกตั้งท้องถิ่น มีการเลือกตั้งนายอำเภอ ส่วนการปกครองก็เป็นแบบ Autonomy (เขตปกครองตนเอง) เรื่องเศรษฐกิจก็จะแบ่งสัดส่วน 70:30 กับรัฐบาลกลาง (ท้องถิ่น 70 รัฐบาลกลาง 30) การจัดการศึกษาและการเรียนการสอนต่างๆ ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้อย่างเคร่งครัด
"สถานการณ์ความรุนแรงบอกได้เลยว่าไม่มี เขาวางอาวุธกันหมดแล้ว แต่อาชญากรรมยังมีอยู่ ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง ทุกวันนี้เราพยายามเสริมพลังของชุมชนให้เข้มแข็ง หางานและสร้างงานให้คนในชุมชนมีงานทำ"
ส่วนเรื่องการเมือง ยูวันดา บอกว่า จากการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ประชาชนให้การสนับสนุนกลุ่ม Aceh Party ซึ่งก็คือกลุ่มเก่า แต่ต่อมาประชาชนเห็นว่ากลุ่มเก่าไม่สามารถแก้ปัญหาให้ตนได้ ก็เลยเกิดกลุ่มใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า Aceh National กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีหน้า โดยการเลือกตั้งคราวที่แล้วยังไม่มีพรรคการเมืองนี้ ตอนนี้ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าประชาชนจะสนับสนุนพรรคไหน
"ประเพณีการเมืองของอินโดนีเซียจะมีการคอร์รัปชั่นสูง ประชาชนต้องการเงิน จึงมีการซื้อเสียงพอสมควร ฉะนั้นเงินจึงกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการเข้าสู่อำนาจการเมือง ผมหวังว่าพรรคการเมืองท้องถิ่นจะไม่ทำแบบการเมืองอินโดนีเซียในการเลือกตั้งระดับชาติ"
"กฎหมายอิสลาม" บังคับใช้เข้ม 3 เรื่อง
เมื่อถามถึงการใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์ ยูวันดา อธิบายว่า กฎหมายหลักที่ใช้ในอาเจะห์เป็นกฎหมายอิสลาม แต่ยังไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ โดยมี 3 มาตราที่ใช้บังคับอย่างเข้มแข็งแล้ว คือ ห้ามดื่มสุรา ห้ามเล่นการพนัน และห้ามละเมิดทางเพศ
"3 ข้อนี้จะเข้มแข็งมากในเรื่องการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนอื่นๆ ยังไม่สมบูรณ์ สาเหตุที่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะต้องให้ความรู้กับประชาชนก่อน"
ปลุกเครือข่ายชุมชนสร้างวาระสันติภาพ
ส่วนบทเรียนของการเจรจาสันติภาพ ยูวันดา บอกว่า ในฐานะที่เป็นภาคประชาสังคม ต้องหลีกเลี่ยงวาระที่ถูกกำหนดโดยภาครัฐ จะต้องสร้างวิถีทางของภาคประชาสังคมขึ้นมาเองว่าประชาชนต้องการอะไร และต้องพัฒนาทัศนคติเกี่ยวกับสันติภาพในระดับชุมชน ให้การศึกษาหลักสูตรสันติภาพแก่ชุมชน
"นี่คือหลักที่ทำให้เครือข่ายชุมชนมีความเข้มแข็ง และพัฒนาเครือข่ายไปยังนานาชาติ เพราะเราต้องการใช้พลังจากนานาชาติกดดันรัฐบาลกลางอินโดนีเซีย"
ยูวันดา บอกด้วยว่า ในส่วนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากให้ภาคประชาสังคมสร้างเครือข่ายกับนานาชาติ เพื่อให้รัฐบาลรับทราบว่าภาคประชาชนต้องการการเจรจาที่ยุติธรรมและเป็นธรรม ในฐานะที่เป็นคนของภาคประชาสังคม คิดว่าภาคประชาสังคมต้องเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพ ทำให้รากหญ้าเข้มแข็ง ซึ่งจะต้องช่วยกันสร้างเครือข่าย ช่วยกันสนับสนุนและเผยแพร่วาระของประชาชน ให้มีสื่อสันติภาพเกิดขึ้น ต้องเรียนรู้วิธีการเจรจากับคนนอกประเทศให้สนับสนุน พร้อมนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง ตลอดจนเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนไปยังรัฐบาล
รอจังหวะยื่นข้อเสนอภาคประชาชน
สำหรับเงื่อนไขที่เป็นภาวะสุกงอมนำไปสู่การเจรจานั้น ยูวันดา ให้น้ำหนักไปที่เงื่อนไขทางการเมือง...
"การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอินโดนีเซียมีผลต่อกระบวนการสันติภาพ โดยเงื่อนไขที่พลิกผันที่สุดก็คือ เมื่อประธานาธิบดีซูฮาร์โตถูกโค่นล้ม ทำให้โอกาสทางการเมืองเปิด กลายเป็นโอกาสของอาเจะห์ด้วย"
"สำหรับประเทศไทยก็เหมือนกัน ระหว่างนี้ต้องทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง สร้างพื้นที่การพูดคุยให้มาก เพื่อให้ประชาชนมีองค์ความรู้และตื่นตัว เมื่อพร้อมก็ยื่นกรอบการทำงาน (framework) ให้รัฐบาล เป็นข้อเสนอของภาคประชาชน" ยูวันดา กล่าวในที่สุด
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การชุมนุมของชาวอาเจะห์เมื่อไม่นานมานี้ จากประเด็นการเรียกร้องให้ใช้ธงของขบวนการอาเจะห์เสรีเป็นธงอย่างเป็นทางการของอาเจะห์ แต่ก็มีคนบางกลุ่มคัดค้าน และรัฐบาลอินโดนีเซียแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย (ภาพจากเว็บไซต์ จากาตาร์โพสต์ http://www.thejakartapost.com/news/2013/04/05/protests-against-gam-flag-aceh.html
2 ซาเดียร์ มาฮาบาน (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)