นพ.ประเวศ ชี้ 12 ปีการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ตอบโจทย์ แนะเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง
วิพากษ์ 12 ปีการศึกษาพื้นฐานไทย ตั้งโจทย์ใหญ่เรียนอย่างไร จบไปไม่ตกงาน ถอดบทเรียนโรงเรียนชุมชน เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง มุ่งสร้างสัมมาชีพ มากกว่าใบปริญญา
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 16 ตั้งโจทย์สำคัญเพื่อค้นหาคำตอบ "การศึกษาเพื่อทักษะและการทำงานในอนาคต" ภายหลังที่ ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ นักวิชาการ สสค.ประมวลเส้นทางการศึกษาเด็กไทย พบว่า หากเปรียบจำนวนเด็กเยาวไทยที่เกิดทุกปี ซึ่งมีจำนวน 8 แสนคน เท่ากับเด็ก 10 คนจะพบว่า มีเด็ก 6 คนอายุ 15-18 ปี หลุดออกจากระบบการศึกษา และก้าวสู่ตลาดแรงงานแบบไม่ตั้งตัว
เวทีเสวนาตั้งคำถามถึง การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ว่าช่วยเตรียมความพร้อมในการ "ทักษะ" ที่เพียงพอให้เยาวชนไทยในการประกอบอาชีพได้อย่างไร? โดยมี นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสสค. นายวินัย ปัจฉิม ครูสอนดีโรงเรียนอนุบาลโคกเจริญ จ.ลพบุรี นางพัชรินทร์ วัดอักษร ครูสอนดีโรงเรียนวัดหนองกบ จ.ราชบุรี นายทองอินทร์ เพียภูเขียว ประธานคณะกรรมการคัดเลือกครูสอนดี จ.ชัยภูมิ นายศิริ โพธินาม ตัวแทนอบจ.สุพรรณบุรี ร่วมเสวนาถอดบทเรียนผ่าน 2 กรณี ได้แก่
1.โรงเรียนอนุบาลโคกเจริญ จ.ลพบุรี ที่ใช้ภูมิปัญญาการทอผ้า มาทักทอความร่วมกันของนักเรียน ครู พ่อแม่และชุมชน จนยกระดับ "ผ้าทอในรั้วบ้าน-โรงเรียน-ชุมชน" สู่ "ผ้าทอ...คณะรัฐมนตรี" และ 2.โรงเรียนวัดหนองกบ จ.ราชบุรี ใช้ "ไก่ย่างบางตาล และมะกรูด" ทรัพยากรท้องถิ่นเป็นต้นทุนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทักษะอาชีพ
นพ.สุภกร กล่าวว่า ความสำเร็จในการจัดการศึกษาของทั้งสองกรณี คือการเข้าไปสร้างงานสร้างรายได้ในชุมชน แล้วถ่ายทอดองค์ความรู้จนเกิดการเครือข่ายสร้างงาน และยกระดับผลิตภัณฑ์ โดยได้สถานศึกษาเป็นเพื่อนร่วมทางสำคัญ สรุปได้ว่า การศึกษาต้องแก้ไขปัญหาในชุมชนก่อน จึงจำเป็นต้องเริ่มจากชุมชน เริ่มที่เด็กเยาวชน กลายเป็นพลังเครือข่ายทางวิชาการ สร้างทุนในชุมชนและโรงเรียน
ขณะที่ นายวินัย กล่าวว่า "การทอผ้า ไม่ใช่เรียนจบแล้วต้องทำเป็นอาชีพ แต่สอนให้เด็กฝึกกระบวนการคิดผ่านการทำงาน สามารถพัฒนาต่อยอดและสร้างรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการประกอบอาชีพให้นักเรียน และการเชื่อมความรู้สู่ชุมชน
ด้าน นางพัชรินทร์ ยอมรับว่า ตนเองไม่เก่งการงานอาชีพเลย จึงให้นักเรียนร่วมสำรวจว่าในชุมชนประกอบอาชีพอะไร เลยเป็นที่มาของมะกรูดและการทำไก่บางตาล ซึ่งนักเรียนจะรู้จักกระบวนการคิด การค้นคว้า สามารถนำทักษะไปใช้ในการเรียนวิชาอื่นๆ ได้
"ไม่ใช่เฉพาะมะกรูด หรือไก่ย่างบางตาล ถึงนักเรียนย้ายไปอยู่ในพื้นที่อื่นก็สามารถใช้การคิดวิเคราะห์ทำผลิตผลอย่างอื่นได้ ส่วนการขายก็ประยุกต์ในชุมชนนักธุรกิจน้อย สอนการบริหาร คิดต้นทุนกำไร มีความซื่อสัตย์ มีมารยาทในการบริการ"
ส่วน นายทองอินทร์ กล่าวว่า การสอนอาชีพในโรงเรียนเป็นเรื่องดี เพราะหากเด็กมีงานทำก็จะไม่สร้างปัญหาในสังคม แต่การสร้างความยั่งยืนนั้นต้องเริ่มจากสังคม ปัญหาคือ แม้โรงเรียนจะสอนวิชาชีพ แต่หากเครื่องมือไม่พร้อม เด็กจะขาดการฝึกฝน และหากไม่มีการวางแผนให้นักเรียน ถึงมีอาชีพติดตัว แต่ก็ไม่มีช่องทางการต่อยอดอาชีพได้
สอดคล้องกับ นายศิริ กล่าวว่า ควรเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาเป็นแบบอาชีวศึกษา หรือแบบทวิภาคี คือ โรงเรียนในโรงงาน ซึ่งสอดคล้องว่า ทำไมเราจึงสามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้ โดยเน้นการเชื่อมโยงกับท้องถิ่น และทำงานร่วมกับวิทยาลัยอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนทัศนคติที่หวังให้เด็กมุ่งสู่รั้วมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว เป็น "เด็กทุกคนต้องมีอาชีพ" ซึ่งเชื่อว่า อบต.หลายพันแห่งยินดีให้ความร่วมมือด้านการศึกษา เพราะคำตอบ การศึกษาไทย มิใช่มุ่งตรงสู่เพียง "ปริญญา" แต่ต้องช่วยแก้ปัญหา "ปากท้อง" ในชุมชน ด้วยการสร้าง "สัมมาชีพ" ให้เต็มแผ่นดิน"
ขณะที่ นพ.ประเวศ กล่าวว่า การฟังกรณีตัวอย่างทั้งสองโรงเรียนนี้แสดงถึงการศึกษาที่มุ่งแก้ไขปัญหาและสร้างอาชีพให้ชุมชน เป็น "การคืนการศึกษาให้ชีวิต" เช่น ที่ ผ.อ.นิพนธ์ ตาระกา ร.ร.อนุบาลโคกเจริญเล่าว่า ให้เด็กเรียนทอผ้าเพื่อแก้ปัญหาความยากจน สิ่งที่ได้คือ นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถถ่ายทอดให้ครอบครัวและชุมชนได้ ขณะที่ ผ.อ.สุพรรณ สุวรรณ์นัง ร.ร.วัดหนองกบ เชื่อว่า ถ้าเอาเรื่องอาชีพเป็นตัวเดินเรื่องจะสร้างทักษะคืนสู่การศึกษาที่ตอบโจทย์ท้องถิ่นได้
"การศึกษาจึงจำเป็นต้องเอาปัญหาในพื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาโรงเรียน เอาสถาบันเป็นตัวตั้ง เพราะจะสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งมีพลัง โดยอาจเริ่มจากการทำแม็พพิ้งในพื้นที่ แล้วก็เรียนรู้วิธีขับเคลื่อนกันเป็นจังหวัด"