นักการศึกษาฉะขรก.บิดเบือนข้อมูล ทำรมต.สั่งยุบ ร.ร.เล็ก
อดีตประธานกรรมการบริหาร สวพ. ชี้จุดบอดคุณภาพการศึกษา ศธ.บริหาร ร.ร.กว่า 32,000 แห่งด้วยระบบราชการ ออกคำสั่ง ระเบียบปฏิบัติ เหมือนกันหมด แนะปรับโครงสร้าง สพฐ.ให้เล็กลง ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะบริการ เผย ศธ.ไม่ใส่ใจผลการประเมินของ สมศ.
วันที่ 22 พฤษภาคม นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อดีตประธานกรรมการบริหาร มุูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาคุณภาพ (สวพ.) เปิดแถลงข่าวกรณี รมว.ศธ.มีนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยระบุว่า นโยบายการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อย ไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ถูกต้อง เพราะคุณภาพการศึกษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนเท่านั้น สิ่งที่ควรทำคือการบริหารจัดการกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพขึ้นมากกว่า
“การบริหารจัดการปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ครู หลักสูตร นักเรียน อุปกรณ์ ให้ผสมผสานกัน และให้สังคมร่วมตัดสินใจนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยการจัดการในเขตพื้นที่ เช่น การใช้ระบบ school bus การใช้ระบบเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายของนักเรียนและครูที่ต้องเดินทาง การใช้ระบบเรียนร่วมระหว่างโรงเรียนเอกชนและโรงเรียน สพฐ. โดยนำนักเรียนรัฐมาติวกับครูที่เก่ง ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ แล้วก็กลับไปเรียนต่อที่โรงเรียนเดิม สลับกันไป”
นายชัยณรงค์ กล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการควรต้องยกโรงเรียน 8,000 แห่งที่มีอยู่ในเขตเจริญ มีความพร้อม ให้เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ผู้บริหารเขตการศึกษาในพื้นที่ทั้ง 175 แห่ง ไปพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในเขตพื้นที่ให้มีคุณภาพมากขึ้น
สำหรับโรงเรียน 5 กลุ่ม ที่มีขนาดเล็ก มีจำนวนนักเรียนน้อยนั้น อดีตประธานกรรมการบริหาร สวพ. กล่าวว่า ไม่ใช่คุณภาพไม่ดีทั้งหมด หลายแห่งมีคุณภาพกว่าโรงเรียน สพฐ.ด้วยซ้ำ คือ โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนเด็กพิเศษ และโรงเรียนเอกชน กว่า 6,000แห่งที่กำลังลดขนาดนักเรียนเพราะถูกแย่งไปอยู่ สพฐ.
"ฉะนั้น กระทรวงศึกษาธิการก็ควรต้องจัดให้การศึกษาให้โรงเรียนเหล่านี้มีคุณภาพ แต่ปัจจุบัน ศธ.ยังไม่ยอมออกกฎหมายมารับรอง แต่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่จะต้องยุบเป็นอันดับแรก เพราะจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน" นายชัยณรงค์ กล่าว และว่า จุดบอดของคุณภาพการศึกษา คือการบริหารโรงเรียนกว่า 32,000 แห่งด้วยระบบราชการ เพราะคำสั่ง ระเบียบปฏิบัติ เหมือนกันทั้งโรงเรียนที่มีนักเรียนหลักร้อยกับหลักพันคน ทำให้มีปัญหาหลายอย่างในทางปฏิบัติ รวมถึง สพฐ. เองที่มีขนาดใหญ่โตเกินไป ไม่เหมาะสมต่อการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ จึงควรปรับโครงสร้าง สพฐ. ใหม่ทั้งส่วนกลางและเขตการศึกษา ให้มีจำนวนลดลงและปฏิบัติหน้าที่เฉพาะบริการ
ทั้งนี้ จากการประเมินคุณภาพการศึกษาโดย สมศ. ตั้งแต่ ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน มีรายงาน สมศ.แล้ว 2 รอบ ผลชัดเจนว่า โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ไม่มีคุณภาพ คือไม่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ของชาติ ขณะที่การประเมินจาก สทศ. ก็พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เรียนรู้เพียง 1 ใน 3 ของหลักสูตรเท่านั้น และผลการเรียนของนักเรียนไทยก็ตกต่ำลงต่อเนื่อง แต่กระทรวงศึกษาธิการไม่นำข้อมูลนี้ไปใช้
“กระทรวงศึกษาธิการไม่เพียงแต่ไม่ยอมใช้ แต่ไม่ยอมรับด้วยซ้ำ คือห้ามเด็ดขาดที่จะพูดถึงผลงานของ สมศ. เพราะมองว่าไปจับผิด ทั้งๆ นี่คือมาตรฐานชาติ”
อดีตประธานกรรมการบริหาร สวพ. กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมานโยบายคุณภาพการศึกษามักยุติลงในห้องประชุม เพราะข้าราชการประจำมักยกตัวเลข ข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้นโยบายคุณภาพถูกทดแทนด้วยนโยบายอื่น เช่น โรงเรียนในฝัน แจกแท็บเล็ต หนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียนทันสมัย แต่รัฐมนตรีคนปัจจุบันได้หยิบยกเรื่องคุณภาพการศึกษามาเป็นนโยบายหลัก และด้วยตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบ ทำให้การผลักดันมีน้ำหนัก แต่ก็ถูกกระทรวงศึกษาธิการบิดเบือนให้กลายเป็นการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้สังคมตระหนกตกใจ
“เป็นวิธีการที่จะไม่ยอมรับตรง ๆ เรื่องคุณภาพการศึกษา ตามมาตรา 49 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญ ที่รัฐต้องจัดการศึกษาให้ฟรีและมีคุณภาพ ซึ่งตอนนี้เราพิสูจน์แล้วว่า ไม่มีคุณภาพ ตรงนี้รัฐต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้วิธีออกคำสั่งว่า ถ้าต่ำกว่า 60 แล้วปิดหรือควบรวม”