วัดผลเวทีประชุมผู้นำน้ำ ‘หาญณรงค์’ ซัดปิดกั้นปชช.-ปฏิญญาเชียงใหม่ใช้ไม่ได้จริง
วิพากษ์การประชุมผู้นำน้ำ ชี้เก็บหัวละ 9,000 บ. ปิดกั้นปชช.มีส่วนร่วม ยันทีโออาร์น้ำควรยกเลิกแล้วศึกษาใหม่ ด้านปรเมศวร์ ย้ำคำเตือน ป.ป.ช.ให้ ครม.รอบคอบ ต้องรับผิดชอบทุกโครงการ
วันที่ 22 พ.ค. ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา "วิพากษ์เวทีน้ำอาเซียน : 3.5 แสนล้าน คนไทยได้อะไร" ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวฯ โดยมี นายปรเมศวร์ มินศิริ ตัวแทนจากเว็บไซต์ thaiflood นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ และประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ร่วมเสวนา
นายปรเมศวร์ กล่าวว่า การประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ณ จ.เชียงใหม่ เป็นการประชุมภาพใหญ่ของเรื่องน้ำ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับงบ 3.5 แสนล้านบาทในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยภายหลังจากได้เข้าร่วมการประชุม พบว่ารูปแบบการจัดงานเป็นการจ้างบริษัทออแกไนซ์เซอร์มาเลือกประเด็นและเชิญวิทยากร โดยทุกห้องจะบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีการบันทึกวิดีโอมาถอดบทเรียนและสรุปเนื้อหาเป็นความรู้ให้ประชาชนส่วนมากที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมได้รับรู้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า
"การประชุมครั้งนี้ไม่ได้อะไรใหม่ แต่กลับเสียโอกาสที่จะนำความรู้จากงานไปพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะของประเทศในอนาคต และไม่ได้ใช้เวทีให้เกิดประโยชน์ในการสร้างความมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน ทั้งที่สามารถเปิดห้องให้ประชาชนร่วมเสนอความเห็นได้ แต่กลับกล่าวว่าประชาชนมีความรู้น้อยทำไมไม่เข้ามาฟัง ไปประท้วงทำไม แต่ไม่พูดความจริงว่าค่าเข้าร่วมประชุมนั้นต้องเสียรายละ 9,000 บาท"
หนุนแผนไจก้า เน้นลงทุนต้นน้ำ-ปลูกป่าชุมชน
สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล นายปรเมศวร์ กล่าวว่า หากตนเป็นผู้บริหาร และมีงบประมาณกองอยู่ตรงหน้าก็คงจะมีความคิดที่ตรงข้ามกับรัฐบาล จะไม่ลงทุนกับโครงสร้าง หรือการสร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำมากขนาดนี้ แต่จะนำงบไปลงที่ต้นน้ำ คือการปลูกป่ามากกว่า แต่คงไม่จ้างเอกชนมาปลูก จะใช้วิธีให้ชาวบ้านที่อยู่ต้นน้ำเป็นคนดูแลป่า แล้วนำงบประมาณบางส่วนไปสนับสนุนค่าระบบนิเวศให้ดี ให้ชาวบ้านมีทั้งพื้นที่ทำกินและพื้นที่ที่ต้องรักษา
"ส่วนพื้นที่ริมน้ำก็จ้างประชาชนขุดลอก ยึดหลักการให้เงินกระจายไปสู่ชุมชนท้องถิ่นมากกว่าที่จะอยู่ในมือเอกชน หากเลือกได้คงอยากลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศมากกว่าเรื่องโครงสร้าง" นายปรเมศวร์ กล่าว และว่า สามารถหยิบแผนที่ไจก้าศึกษามาปรับใช้ได้ และเป็นแผนที่ระบุชัดว่าการแก้ปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่เรื่องโครงสร้าง การสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ แค่เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ให้มีประสิทธิภาพจากนั้นค่อยกำหนดพื้นที่รับน้ำและทางน้ำผ่าน
"ไจก้าเสนอเรื่องเส้นทางน้ำไว้อย่างน่าสนใจ เช่น บายพาสน้ำที่ จ.อยุธยา ซึ่งมีกระทบต่อประชาชนน้อยมาก และขยายพื้นที่เบี่ยงน้ำไปทางตะวันออก จะป้องกันทั้งกรุงเทพและอยุธยาได้ และปรับปรุงประสิทธิภาพลำน้ำ อันเป็นแนวทางที่ทำได้เร็วกว่าและประหยัดกว่า ทำงานโดยมีภาคประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยตอบโจทย์ว่าอยากก่อสร้างอะไรเพิ่มหรือลดอะไรออก"
ย้ำข้อเสนอ ป.ป.ช.ให้ ครม.รอบคอบ ชี้ต้องรับผิดชอบทั้งคณะ
นายปรเมศวร์ กล่าวถึงการที่ ป.ป.ช.ออกข้อเสนอแนะแนวทางและมาตรการป้องกันการทุจริตโครงการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลด้วยว่า ครั้งนี้ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญและทำงานได้เร็ว แต่ก็ทำไปด้วยความเกรงใจรัฐบาลมาก ชี้แนะข้อเสนอเฉพาะที่จำเป็นที่อยู่ในกฎหมาย ป.ป.ช.และไม่ได้บีบให้รัฐบาลต้องทำอะไรมากนัก ทั้งที่อำนาจมีมากกว่านี้
"จากนี้เป็นการวัดใจรัฐบาลว่จะทำอย่างไรต่อ ซึ่งเมื่อมองท่าทีของรัฐบาลแล้วก็เหมือนจะไม่ได้ยินเลย และจะเดินหน้าต่ออย่างเดียว โดยไม่นำประเด็นเหล่านี้มาปรับ ทั้งที่ ป.ป.ช.ระบุชัดว่าถึงแนวทางหรือขั้นตอนที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องราคากลางที่ยังไม่มีความชัดเจน และผู้อนุมัติโครงการตลอดทางจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือคณะรัฐมนตรี จึงเป็นสิ่งที่คณะรัฐมนตรีต้องรอบคอบ คิดให้มากขึ้น เนื่องจากต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่แค่ กบอ.เท่านั้น"
ขณะที่นายหาญณรงค์ กล่าวว่า การจัดการประชุมผู้นำด้านน้ำที่กำหนดค่าลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมคนละ 9,000 บาทนั้น นับว่าเป็นการปิดกั้นบุคคลและเครือข่ายไม่ให้เข้าร่วมได้ ทั้งที่เครือข่ายก็ทำงานกับกรมน้ำมาเป็นเวลานาน แต่เท่าที่ติดตามเห็นว่าการจัดงานครั้งนี้เปลี่ยนประเด็นไปสิ่งมีประโยชน์ที่ควรจะเกิดขึ้นก็ไม่เกิด
"ยังมองไม่เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร และไม่เกิดผลตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ เห็นแต่การถกเถียงและสร้างวาทะกรรม สำหรับปฏิญญาเชียงใหม่ 13 ข้อ เห็นว่าน่าจะใช้จริงได้เพียงไม่กี่ข้อ ที่สำคัญไม่ได้ระบุว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือ การปฏิบัติจริงหรือต้องรายงานผลการปฏิบัติในการประชุมครั้งหน้าด้วยหรือไม่"
เรื่องกู้เงินไว้ทีหลัง แนะศึกษา-ร่างทีโออาร์ใหม่
นายหาญณรงค์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ภาคประชาชนขณะนี้ คือ ยกเลิกทีโออาร์ก่อน แล้วเริ่มศึกษาใหม่ตามระบบขั้นตอน เมื่อเห็นอะไรที่เป็นรูปเป็นร่าง ตอบประชาชนได้ชัด ค่อยพูดเรื่องเงินกู้ จะกู้เมื่อไหร่คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าจะมาขอคุยแล้วดำเนินการต่อก็คงไม่มีประโยชน์
"ควรเริ่มโครงการใหม่ ถอดบทเรียนจากต้นเหตุของปัญหา ศึกษาความคุ้มค่าในการก่อสร้างและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงพื้นที่ต้นน้ำและรักษาระบบนิเวศลำน้ำ เน้นปลูกป่าติดลำน้ำ มากกว่าแค่ขุดลอก เช่นในแผนของไจก้าก็มีข้อเสนอที่เหมาะสม โดยเฉพาะการผันน้ำไปฝั่งตะวันออกที่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม สำหรับการจัดการเรื่องป่าไม้ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแล ไม่อย่างนั้นจะเป็นการปลูกป่าที่ไม่ได้ป่า ส่วนที่ดินที่ติดกับลำน้ำ ต้องรื้อทางน้ำเดิมกลับมาให้ได้"
ด้านนายประสาร กล่าวว่า หากยกกรณีของเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาเปรียบเทียบจะเห็นได้ชัดว่าเป็นโครงการที่ไม่มีทางสร้างให้เสร็จได้ภายใน 5 ปี ทั้งที่เคยมีการศึกษามากมาย ดังนั้น คงฟันธงได้ว่าโครงการบริหารจัดการน้ำที่มีแผนก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมากมายนี้ไม่มีทางเสร็จได้ภายใน 5 ปีตามที่กำหนด อีกทั้ง ล้วนเป็นโครงการที่ข้ามขั้นตอน ยังไม่ได้ศึกษาความคุ้มทุนและผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีเพียงการยืนยันจากจากผู้ที่ใช้อำนาจเป็นใหญ่ แต่ทำลายสิทธิชุมชน สิทธิชาวบ้านในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งทำผิดรัฐธรรมนูญ
"ก่อนหน้านี้ทั้งวิศวกรรมสถาน ทีดีอาร์ไอและอีกหลายสถาบันก็ศึกษาและเห็นสอดคล้องกันว่า การก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายโครงการไม่คุ้มทุน ผมติดตามมาตลอดก็กล้าพูดว่าโครงการนี้จะแท้งก่อนคลอด เพราะความเป็นจริงไม่มีทางเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ที่สำคัญโครงการจะสำเร็จไม่ได้หากไม่เคารพประชาชน"
นายประสาร กล่าวต่อว่า ตนไม่เห็นความจำเป็นในการใช้วิธีรวบหัวรวบหางให้โครงการเสร็จภายใน 5 ปี แต่ควรปรับโครงการใหม่ให้เคารพสิทธิชุมชน ปรึกษาประชาชนอย่างมีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ใช่จัดฉากให้คนบางกลุ่มมีบทบาท แต่ไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งให้สังคม รวมถึงปรับบทบาทกรรมการลุ่มน้ำให้ทำงานอย่างบูรณาการจริงๆ