คนอีสาน ‘ค้านยุบรวม รร.เล็ก’ ห่วงการศึกษาไทยรั้ง 8 ใน 10 ปท.อาเซียน
เผยคนอีสานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยนโยบายยุบรวม รร.ขนาดเล็ก-ค้าน นร.ไว้ผมทรงอิสระ ห่วงมาตรฐานการศึกษาไทยรั้งท้าย 8 ใน 10 อาเซียน แต่ยังรับได้ผลงาน ศธ.-ปลื้มแทบเล็ต
วันที่ 21 พ.ค.56 ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลสำรวจ "ความเห็นชาวอีสานต่อการศึกษาไทยปัจจุบัน" ระบุว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ชี้ครูในอดีตอบรมสั่งสอนได้ดีกว่า ไม่เห็นด้วยกับการยุบรวมโรงเรียนเล็กและการให้อิสระนักเรียนไว้ผม เป็นห่วงมาตรฐานการศึกษาอยู่ในระดับแย่ แต่ยังพอใจในการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการยุคยิ่งลักษณ์และโครงการแจกแทบเล็ต
โดยพบว่าร้อยละ 60.3 เห็นว่าครูในอดีตสามารถอบรมสั่งสอนนักเรียนได้ดีกว่าปัจจุบัน ร้อยละ 24.7 เห็นว่าไม่มีความแตกต่าง ร้อยละ 15.0 ที่เห็นว่าครูในปัจจุบันอบรมสั่งสอนดีกว่า ส่วนโยบายให้อิสระนักเรียนไว้ทรงผมส่วนใหญ่ร้อยละ 69.5 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 30.5 รู้สึกเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว
สำหรับนโยบายการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน และไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้ ร้อยละ 56.0 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 44.0 เห็นด้วย ส่วนการพัฒนาการศึกษาโดยการแจกแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ให้แก่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ร้อยละ 77.9 รู้สึกพอใจ ร้อยละ 22.1 ไม่พอใจ
ดร.สุทิน กล่าวอีกว่าพบว่าคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของ 10 ประเทศอาเซียน และการศึกษาระดับอุดมศึกษาถูกจัดอยู่อันดับที่ 8 (อ้างอิงจากสถาบันวิจัยของสำนักพิมพ์ตำรา Pearson) จากข้อมูลดังกล่าวกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.8 เห็นว่าคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในระดับแย่ ร้อยละ 30.3 เห็นว่าคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในระดับพอใช้ ร้อยละ 1.9 เห็นว่าการศึกษาไทยอยู่ในระดับที่ดี
อีสานโพลยังสอบถามถึงกรณีทุจริตการสอบครูผู้ช่วย พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 90.4 เป็นห่วงมาตรฐานการศึกษาไทยจากกรณีดังกล่าว ร้อยละ 9.6 ไม่ได้รู้สึกเป็นห่วง อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจต่อการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการในยุครัฐบาลปัจจุบัน ร้อยละ 79.5 พอใจ ร้อยละ 20.5 ไม่พอใจ
ข้อเสนอแนะกระทรวงศึกษาธิการของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ต้องการให้จัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน พัฒนาครูให้มีคุณภาพอย่างแท้จริง ส่งเสริมและจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการพัฒนาการศึกษา กระจายสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยให้กับโรงเรียนในภูมิภาคได้มีโอกาสที่ทัดเทียมโรงเรียนในเมือง และไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญต่อเด็กพิการหรือด้อยโอกาส และเพิ่มจำนวนครู
"กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเป็นห่วงต่อคุณภาพของระบบการศึกษาปัจจุบันซึ่งมีแนวโน้มแย่ลง ส่วนใหญ่นั้นมองว่าครูในอดีตทำหน้าที่ได้ดีกว่า และยังไม่เห็นด้วยกับการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กและนโยบายให้ไว้ทรงผมอิสระ รัฐจึงควรรับฟังเสียงประชาชน การพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้นนโยบายการศึกษาต้องถูกทาง ชัดเจนและต่อเนื่อง จูงใจให้คนเก่งและคนดีเป็นครูมากขึ้น ขณะที่ผู้ปกครองและชุมชนเองก็ควรเข้ามามีส่วนร่วมและให้ความเอาใจใส่ต่อบุตรหลาน นอกจากนี้การศึกษายังจะต้องหล่อหลอมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็กซึ่งจะทำให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคตด้วย" ดร.สุทิน กล่าว
ทั้งนี้การสำรวจดังกล่าวทำขึ้นระหว่าง 17-18 พ.ค.56 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,050 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด .