เปิดบทเรียนทุจริตบ้านผีเขื่อนโปร่งขุนเพชร ‘อุเทน’ หวั่นโครงการน้ำซ้ำรอย
ย้อนรอยเขื่อนโปร่งขุนเพชร โครงการปัดฝุ่นยัดเข้าโครงการน้ำ นายทุนกว้านซื้อสร้าง 6 หมู่บ้าน หวังงาบหลังละ 1 ล้าน 'อุเทน' ชี้เป็นบทเรียนโครงการล่าช้า มีช่องโหว่ทุจริตมาก
จากกรณีที่มี กลุ่มชาวบ้านใน อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เข้าร้องเรียนกับ นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ถึงกรณีที่มีนายทุนเข้าไปกว้านซื้อที่ดินใน อ.หนองบัวระเหว แล้วก่อสร้างหมู่บ้านที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย เพื่อรองรับค่าชดเชยเวนคืนที่ดิน ในโครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชร ที่มีกรมชลประทานรับผิดชอบ ซึ่งได้ถูกบรรจุอยู่ในโมดูลบี 1 ศึกษา ออกแบบ และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล
นายพรศักดิ์ ได้แต่งตั้งให้ นายนิพนธ์ สาธิตสมิตพงษ์ รองผู้ว่าฯ ชัยภูมิ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และลงสำรวจพื้นที่สำรวจโครงการดังกล่าว และพบว่า มีนายทุนต่างถิ่น และแกนนำชาวบ้านเกี่ยวข้องในโครงการจริง ขณะนี้ได้เตรียมสอบเจ้าหน้าที่ทะเบียนที่ออกบ้านเลขที่ให้อย่างมีเงื่อนงำ เพราะออกทะเบียนบ้านมากขึ้นหลังโครงการผ่าน ครม. ทั้งนี้ จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเอาป้ายไปติดแจ้งเตือนประชาชนไม่ให้หลงเชื่อแล้ว
ล่าสุด นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการระบายน้ำ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงกรณีดังกล่าวว่า โครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชรนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2532 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้ดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2533 มีการออก พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน มาเรื่อยๆ แต่เนื่องจากมีเอ็นจีโอร้องเรียนในหลายเรื่อง โดยเฉพาะค่าเวนคืนที่ดิน กระทั่งในปี 2537 ก็ยกเลิกโครงการไป
กระทั่งเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2555 ที่การประชุม ครม.สัญจร จ.สุรินทร์ มีการปัดฝุ่นโครงการนี้เข้ามา ซึ่งทราบว่าเป็นการเสนอจากคนในจังหวัดสุรินทร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ครม.ชุดนี้ และมีผู้อาศัยช่องโหว่จากโครงการนี้ไปหาประโยชน์อีกทอดหนึ่ง โดยการออกบ้านเลขที่ใหม่ จำนวน 6 หมู่บ้าน กว่า 200 หลังคาเรือน ในเขตอำเภอหนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ได้แก่ หมู่ 1-2 ต.โคกสะอาด หมู่ 3 หมู่ 4 และหมู่ 6 ต.ห้วยแย้
อย่างไรก็ตาม นายอุเทน แม้หมู่บ้านเหล่านั้นจะมีทะเบียนบ้าน แต่ก็เป็นบ้านผี บ้านร้าง ที่ไม่มีคนอยู่ ไม่สามารถทราบได้จะโยกย้ายคนมาจากที่ใด แต่ที่ทราบมาเบื้องต้นถึงสิทธิที่จะได้รับในการเวนคืนที่ดินจะได้รายละ 1 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดชัยภูมิก็รับว่าผิดกฎจริง และได้ตั้งคระกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว
กรณีโครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชรเป็นเพียงเขื่อนเล็กๆ ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ถูกหยิบมาปัดฝุ่นใหม่ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่มากมายที่เป็นบทเรียนได้ชัดเจนแก่การก่อสร้างเขื่อนที่ใหญ่กว่าในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาล ได้แก่
1.ความล่าช้าในการก่อสร้าง นับตั้งแต่ปี 2532 กระทั่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ไม่สามารถเริ่มโครงการได้ ฉะนั้น รัฐบาลจะมั่นใจได้หรือไม่ว่าโครงการใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะไม่ประสบปัญหาเดียวกัน
2.ปัญหาการเวนคืนที่ดิน และการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มีช่องโหว่มากมายให้นายทุนเข้าไปหาผลประโยชน์ และตั้งตุ๊กตาขึ้นมารับผลประโยชน์ ยิ่งโดยเฉพาะในเขื่อนใหญ่ๆ ที่ต้องกินอาณาเขตบริเวณกว้างกว่านี้