เปิดงานวิจัยคดี "ผู้หญิงค้ายา" เมื่อ ก.ม.อาจสวนทางความเป็นธรรม
(เทพียุติธรรม)
"ความยุติธรรมทางกฎหมายกับความยุติธรรมทางสังคม" เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในระยะหลัง แต่ยังหาทางออกไม่เจอ ไม่เฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการเมืองซึ่งมีเสียงวิจารณ์เรื่อง "สองมาตรฐาน" เท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึงคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านร้านตลาดทั่วๆ ไปด้วย
ยิ่งเป็นคดีที่ "รัฐ" เป็นผู้เสียหาย หรือเป็น "โจทก์" เสียเองอย่างคดียาเสพติด ซึ่งมีนโยบายของรัฐบาลกำกับให้ทุกฝ่ายร่วมกัน "ประกาศสงครามกับยาเสพติด" ด้วยแล้ว
ยิ่งทำให้ความยุติธรรมของ "คนเล็กคนน้อย" ถูกละเลยไป เพราะเมื่อประกาศสงครามแล้วรัฐต้องเป็นฝ่ายชนะ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็ถูกมองว่าเป็น "ศัตรูร้ายของประเทศ"
ปัญหาก็คือผู้ที่ถูกจับกุมและถูกพิพากษาว่ามีความผิด ต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ เป็นผู้กระทำผิดจริงทุกคนหรือไม่ ?
เพราะมีโอกาสไม่น้อยที่เมื่อการปราบยาเสพติดเป็นนโยบายระดับ "ประกาศสงคราม" ย่อมมีความเป็นไปได้ที่กระบวนการยุติธรรมในระบบกล่าวหาโดยรัฐจะมี “น้ำหนัก” มากกว่าประชาชนที่ถูกมองตั้งแต่ต้นว่าเป็นผู้ร้าย ได้เหมือนกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงยุติธรรมได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ในหัวข้อ "ความยุติธรรมทางอาญากับความยุติธรรมทางสังคม" ภายใต้การวิจัยเรื่อง "คำให้การของผู้หญิงที่ถูกพิพากษาในคดียาเสพติด" ตามโครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งข้อมูลหลายส่วนจากงานวิจัยนับว่าน่าสนใจและท้าทายกระบวนการยุติธรรมทาง อาญาของไทยเป็นอย่างยิ่ง
ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ อดีตรองประธานศาลฎีกา และอดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ บรรยายในหัวข้อ "ความยุติธรรมทางอาญากับความยุติธรรมทางสังคม" ว่า ในทางทฤษฎีความยุติธรรมทั้งสองอย่างควรเดินทางเดียวกันและทับรอยกันสนิท แต่โดยสภาพความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ทั้งนี้เพราะกระบวนการยุติธรรมทางอาญามี 2 องค์ประกอบ คือ 1.ตัวบทกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษ กับ 2.ผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งองค์ประกอบที่ 2 นับว่ามีความสำคัญ เพราะต้องไม่คำนึงถึงเฉพาะตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาประกอบกับบริบททางสังคมด้วย
ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 รัฐกำหนดโทษผู้ค้ายาเสพติดให้สูงเพื่อผลคือการปราบปราม แต่จริงๆ แล้วก็เป็นดาบสองคม เพราะถ้ากระบวนการยุติธรรมชี้ว่าผิดโดยที่คนคนนั้นอาจไม่ผิด ก็จะต้องถูกลงโทษถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
เช่น มาตรา 65 พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ กำหนดให้ผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เช่น ยาบ้า หากมีจำนวนตามที่กำหนดในมาตรา 15 ซึ่งก็เพียงไม่กี่เม็ด ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ถ้าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายต้องระวางโทษประหารชีวิต
กรณีที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนชายขอบ เดินทางเข้า-ออกตามรอยต่อของประเทศ นำยาบ้าเข้ามาเพื่อเสพระหว่างทำงาน 4-5 เม็ด เมื่อถูกจับก็ต้องโดนโทษจำคุกตลอดชีวิต เพราะถือเป็นการนำเข้ายาเสพติด (นำเข้ามาในราชอาณาจักร) ถ้านำไปแบ่งให้เพื่อนผู้ใช้แรงงานด้วยกัน ถือว่าจำหน่าย โทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ถ้าคิดในมุมที่เกี่ยวกับสภาพครอบครัวและความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน จะถือว่าโทษหนักเกินไปหรือไม่
หรือคดีนักศึกษาขโมยไก่ 1 ตัวเวลากลางคืน เจ้าของเห็นขณะกำลังหนี นักศึกษาจึงใช้มือผลักเจ้าของไก่ การกระทำของนักศึกษาครบตามองค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืน ต้องระวางโทษจำคุก 10 ปีถึง 15 ปี แต่ในทางสังคม แม้จะลดโทษแล้วเพราะเป็นนักศึกษา และกระทำความผิดครั้งแรก แต่ขโมยไก่ตัวเดียวต้องติดคุกถึง 7 ปีเลยหรือ ถือว่าเป็นธรรมทางสังคมหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา
รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "คำให้การของผู้หญิงซึ่งถูกพิพากษาว่ากระทำผิดในคดียาเสพติด" โดยระบุตอนหนึ่งว่า ผู้หญิงที่ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดในคดียาเสพติดเข้าไปอยู่ในเรือนจำมากขึ้น เรื่อยๆ พิจารณาจากผู้ต้องขังหญิงในภาพรวม พบว่าเป็นคดียาเสพติดถึง 80%
ทั้งนี้ ประเด็นที่นำมาศึกษาและพบปัญหาในกระบวนการยุติธรรม คือ
1.ผู้หญิงอาจเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกทำให้กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือสม รู้ร่วมคิดกับการขายยาเสพติดทั้งโดยตรงและโดยอ้อมได้หรือไม่ เช่น ตนเองตกอยู่ในฐานะภรรยา คู่รัก หรือแม่ ที่ต้องอยู่ร่วมในครอบครัวกับผู้ชายซึ่งเป็นผู้ขายยาเสพติด นิยามของคำว่า "สมรู้ร่วมคิด" หรือการมีส่วนร่วม การสนับสนุน การได้รับประโยชน์ มีความชัดเจนเพียงใด โดยเฉพาะในบริบทของครอบครัว ซึ่งต่างจากการเป็นกลุ่มเพื่อน หรือผู้ร่วมธุรกิจค้ายาทั่วไป
2.ผู้หญิงอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ด้วยอำนาจเหนือการควบคุมในระบบยุติธรรมทางอาญา อาจทำให้ผู้หญิงคนนั้นกลายเป็นผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ เช่น มีเพียงจำเลยปากเดียวที่เบิกความยืนยันความบริสุทธิ์ของตน จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่น่าเชื่อถือ
หรือชุดความจริงของผู้เชี่ยวชาญและผู้มีอำนาจมักได้รับการยอมรับว่าเป็นพยาน หลักฐานในการพิสูจน์ความจริงในศาลได้อย่างมีน้ำหนักกว่า หรือการเปิดโอกาสให้มีการใช้ข้อมูลจาก "สายลับ" โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลหรือความถูกต้องของการเป็น "สายลับ" เพราะระบบของศาลไทยอนุญาตให้มีการปกปิดชื่อและตัวตนของสายลับ อาจทำให้มีการใช้ข้อมูลจาก "สายลับ" กล่าวหาปรักปรำใครก็ได้
นอกจากนั้น ยังพบปัญหาการให้ความสำคัญกับพยาน ซึ่งเป็นตำรวจและเป็นฝ่ายโจทก์ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับพยานของฝ่ายจำเลย โดยมุมมองของศาลเกี่ยวกับสถานะของตำรวจซึ่งเป็นผู้จับกุมและพนักงานสอบสวน วางอยู่บนหลักคิด 3 ประการ คือ เจ้าพนักงานของรัฐย่อมไม่ให้ข้อมูลปรักปรำจำเลย, ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีเหตุโกรธเคืองหรือบาดหมางกับจำเลยมาก่อน และการที่ตำรวจชุดจับกุมกับชุดสอบสวนให้การสอดคล้องกัน ย่อมทำให้คำให้การนั้นเชื่อถือได้ ขณะที่ในกรณีของจำเลยจะหาพยานที่ทำให้ศาลรับฟังค่อนข้างยาก และอาจถูกมองว่ามาช่วยกันปกป้องความผิด
3.ผู้หญิงอาจตกเป็นเหยื่อหรือแพะรับบาปของการจับกุมและการสอบสวนเพราะขาด ความรู้ หรืออยู่ในสถานะที่ไม่มีทางต่อสู้กับผู้มีอำนาจ ไม่มีทรัพยากรหรือเครือข่ายที่จะป้องกันตนเองได้
ตัวอย่างเช่น การสารภาพของผู้ต้องหาในคดียาเสพติดในชั้นจับกุมและสอบสวน อาจเกิดได้หลายๆ กรณี เช่น ผู้ต้องหากระทำผิดจริงจึงสารภาพ หรือผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิดจริงแต่ตำรวจแนะนำให้สารภาพ โดยบอกว่าการสารภาพจะเป็นผลดี เพราะจะได้รับการลดโทษลงครึ่งหนึ่ง หรืออาจเกิดจากการข่มขู่คุกคามหรือทรมานให้รับสารภาพก็ได้ คำสารภาพจึงไม่ได้หมายความว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำผิดจริงเสมอไป
ทั้งหมดนี้คือข้อสังเกตจากงานวิจัยที่ท้าทายกระบวนการยุติธรรมไทยในการขับ เคลื่อนให้ความยุติธรรมทางกฎหมายสอดคล้องและทับรอยกันสนิทกับความยุติธรรม ทางสังคม!
(เขียนโดน ปกรณ์ พึ่งเนตร ตีพิมพ์ครั้งแรก ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 21 พ.ค.2556)
-----
คำอธิบายรูปภาพ
สัญลักษณ์ เทพียุติธรรม (Lady Justice) ของชาวโรมัน ใช้ผ้าปิดตา ไร้อคติใดๆ ต่อสายตาทางโลก มือข้างหนึ่งถือตาชั่ง ชั่งน้ำหนักความดีชั่วให้สมดุล มืออีกข้างถือดาบ มีคมสองด้าน นัยหนึ่งคือมีอำนาจในการพิพากษา แต่อีกนัยคือเตือนว่าถ้าใช้อำนาจพิพากษาไม่ถูกต้อง อาจทำร้ายผู้คนได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนเลว