จากกรณีจับ "ครูสาวตาดีกา" ถึงคดี "มูฮาหมัดอัณวัร"
ผมคิดว่าการที่รัฐไทยเสียเปรียบในบริบทของการพูดคุยเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น นอกจากประเด็นความรุนแรงไม่ลดลง และความไม่พร้อมของฝ่ายรัฐไทยเองแล้ว ยังเป็นผลจากความล้มเหลวเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ชายแดนใต้อีกด้วย
และนั่นคือที่มาของข้อหา "ความไม่เป็นธรรม" ที่รัฐไทยดิ้นยังไงก็ดิ้นไม่หลุด
ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ทั้งๆ ที่ทำได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่กลับไม่เลือกที่จะทำ!
เอาแค่ 2 กรณีล่าสุด คือ คดีของ มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเตะ และกรณีควบคุมตัวครูสาวตาดีกา ก็จะพอมองเห็นอะไรๆ หลายอย่างทั้งในแง่ของนโยบายการอำนวยความยุติธรรมที่ลักลั่น สับสน และในแง่ของปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย (พิเศษ) ของรัฐไทย
เริ่มจากคดี มูฮาหมัดอัณวัร ก่อน หลายท่านอาจไม่ได้ตามอ่านเว็บศูนย์ข่าวอิศราแบบเกาะติดทุกวัน จึงขอย้อนความให้ฟังเล็กน้อย คือเมื่อเร็วๆ นี้มีคำพิพากษาคดีความมั่นคงชายแดนใต้คดีหนึ่งที่ก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่อย่างกว้างขวาง แต่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวในสื่อส่วนกลาง คือคดี นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเตะ ผู้ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 12 ปี ฐานกบฏ ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร
มูฮาหมัดอัณวัร หรือ "อันวาร์" ถูกจับกุมและแจ้งข้อหาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2548 สืบเนื่องจากคดีฆ่าตำรวจ สภ.ยะรัง จ.ปัตตานี และคนร้ายได้ขโมยโทรศัพท์ของตำรวจผู้ตายไป จากนั้นเจ้าหน้าที่พบความเคลื่อนไหวการใช้โทรศัพท์ในโรงเรียนปอเนาะใกล้ๆ จุดเกิดเหตุ จึงเข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหาได้ชุดหนึ่ง
ผู้ต้องหาชุดแรกได้ให้การซัดทอดถึงผู้ต้องหาชุดที่ 2 จำนวน 11 คน ซึ่งมี มูฮาหมัดอัณวัร รวมอยู่ด้วย แต่เนื้อหาของคำซัดทอดไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีฆ่าตำรวจโดยตรง แต่เป็นการขยายผลเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก "ขบวนการกู้ชาติปัตตานี" ซึ่งในคำพิพากษาอธิบายความไว้ด้วยว่า "หรือขบวนการบีอาร์เอ็น"
และการเข้าร่วมขบวนการกู้ชาติปัตตานีนี้เองที่ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดฐานกบฏ ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร จนนำไปสู่คำพิพากษาจำคุก 12 ปี โดยเนื้อหาในคำพิพากษา 14 หน้า ไม่ได้ระบุถึงความผิดอื่นที่เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เช่น ฆ่า หรือลอบวางระเบิด
สาเหตุที่คดีนี้เป็นกระแสขึ้นมา เพราะ มูฮาหมัดอัณวัร เป็นบุคคลในที่สว่าง หลังจากต้องหยุดเรียนกลางคันที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในชายแดนใต้เนื่องจากถูกดำเนินคดี เขาก็ทำงานในแวดวงสื่อทางเลือกและภาคประชาสังคมมาตลอด จึงไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษ เพราะศาลอุทธรณ์ก็เคยยกฟ้องเขามาแล้ว
คดีนี้หากพิจารณาในแง่ตัวบทกฎหมายย่อมไม่มีประเด็นใดเป็นข้อสงสัย เพราะความผิดตามฟ้องเป็นความผิดลักษณะพิเศษ แค่ตระเตรียมการ (กรณีกบฏ ก่อการร้าย) หรือเข้าเป็นสมาชิก (กรณีอั้งยี่) ก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ไม่จำเป็นต้องกระทำการสำเร็จตามความมุ่งหมายแต่ประการใด
ฉะนั้นในทางกฎหมายจึงถือว่าจบ แต่ในทางความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่ยังไม่จบ ด้วยคำถามประกอบกับข้อสังเกตที่ว่า "แค่ร่วมขบวนการกู้ชาติปัตตานีก็โดนจำคุก 12 ปีแล้วหรือ?"
ผมคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายคน พบว่าส่วนใหญ่ยังมองอย่างไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้กลายเป็นกระแสขึ้นมาได้อย่างไร จึงอยากอธิบายให้ฟังง่ายๆ ดังนี้
1.คดียังไม่มีหลักฐานว่ากระทำความผิดอาญาอื่นใด นอกจากความผิดฐานตระเตรียมการเพื่อกบฏ ก่อการร้าย ฯลฯ ซึ่งกฎหมายระบุไว้ว่าเป็นความผิด
2.ข้าราชการระดับสูงที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เคยพูดว่า สังคมไทยต้องมาตั้งหลักกันใหม่ว่าอุดมการณ์แยกดินแดนหรืออุดมการณ์แยกรัฐปัตตานีเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือเป็นแนวคิดที่สามารถขับเคลื่อนได้ตามความเชื่อ ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้อื่น
3.รัฐบาลไทยกำลังยอมรับกลุ่มบุคคลที่คิดเห็นต่างจากรัฐ มีอุดมการณ์แยกรัฐปัตตานีเพื่อตั้งรัฐใหม่ชัดเจนอย่าง "ขบวนการบีอาร์เอ็น" ถึงขั้นส่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และคณะไปพูดคุยเพื่อริเริ่มกระบวนการสันติภาพ โดยผู้ร่วมพูดคุยบางคนก็มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าถูกออกหมายจับโดยศาลไทย แต่ข้าราชการระดับสูงในฐานะตัวแทนรัฐบาลก็ยังไปพูดคุยด้วยได้ แล้วกรณีของ มูฮาหมัดอัณวัร เหตุใดจึงถูกตัดสินโทษ
4.รัฐบาลเองก็มีโครงการรองรับ "ผู้หลงผิด" หรือ "ผู้กลับใจ" โดยใช้มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) โดยไม่ว่าจะกระทำผิดอาญาฐานใด ตั้งแต่กบฏ ก่อการร้าย ฆ่า ระเบิด ฯลฯ ล้วนมีช่องทางเข้าแสดงตัวกับรัฐได้ และหากแสดงเจตจำนงเข้าร่วมอบรมตามโปรแกรมของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพียง 6 เดือน ก็ไม่ต้องรับโทษอาญาใดๆ (ดูลักษณะความผิดแนบท้ายมาตรา 21 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 3 ง วันที่ 12 ม.ค.2554 เรื่อง กำหนดลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคง)
5.กองทัพภาคที่ 4 มีโครงการ "พาคนกลับบ้าน" เปิดทางให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่หลบหนีอยู่เข้าแสดงตัวต่อทางราชการ และจะได้รับการรับรองช่วยเหลือทางคดี แม้จะไม่ถึงขั้นปลดหมายจับหรือยกเว้นความผิด แต่หลายคนที่เคยมีชื่ออยู่ในหมายจับคดีอุกฉกรรจ์ วันนี้ได้กลายเป็นวิทยากรของกองทัพ เดินสายชักชวนเพื่อนร่วมอุดมการณ์ให้วางปืนและออกมาแสดงตัวโดยที่ยังไม่ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีหรือฟ้องร้องต่อศาลแต่อย่างใด
นี่คือความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมายที่หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะ "คณะพูดคุยสันติภาพ" น่าจะนำไปขบคิดว่ามันได้กลายเป็น "เงื่อนไข" ในกระบวนการสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อก้าวเดินสู่สันติภาพหรือไม่?
อีกเรื่องคือกรณีควบคุมตัวครูสาวตาดีกา ที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อ 18 เม.ย.2556 เนื่องจากตกเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยครู (รปภ.ครู) กองร้อยทหารพรานที่ 4203 (ร้อย ทพ.4203) บริเวณป่าสวนยางพาราตรงข้ามโรงเรียนบ้านป่าบอน หมู่ 1 ต.ป่าบอน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ปีเดียวกัน
แม้ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารได้ตัดสินใจปล่อยตัวครูสาว แต่ก็จับกุมพี่ชายของเธอไปแทน!
แน่นอนว่าในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก (โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457) และพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบไปซักถามได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อหา โดยอำนาจตามกฎอัยการศึกสามารถคุมตัวได้ 7 วัน ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมตัวได้ไม่เกิน 30 วัน
แต่ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวเช่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมิติความแตกต่างทางภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และในมิติของความขัดแย้งหวาดระแวงที่ยืดเยื้อยาวนาน การปฏิบัติตามกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
หากพิจารณาพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกรณีจับครูสาวตาดีกาจะพบว่า
1.เป็นการเข้าควบคุมตัวครูสาวระหว่างจัดกิจกรรมค่ายอบรมจริยธรรมภาคฤดูร้อน
2.เป็นการเข้าควบคุมตัวครูซึ่งเป็นหญิงมุสลิมในยามวิกาล ซึ่งนับว่าละเอียดอ่อนเป็นพิเศษในแง่วิถีปฏิบัติที่ยึดโยงกับศาสนาด้วย
3.โรงเรียนตาดีกาเป็นดั่งแหล่งสืบทอดอัตลักษณ์ของมลายูมุสลิม เป็นดั่งโรงเรียนปฐมวัยในชุมชน ครูจึงมีความผูกพันกับคนในชุมชนอย่างมาก การบุ่มบ่ามเข้าไปจับกุมย่อมเสี่ยงที่จะถูกต่อต้านหรือมองในแง่ลบจากชุมชน
4.พยานหลักฐานที่ยังไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิดจริงหรือไม่ ยิ่งทำให้การควบคุมตัวมีความชอบธรรมน้อยลงเมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อม 3 ข้อข้างต้น
ประเด็นที่น่านำมาขบคิดก็คือ เจ้าหน้าที่มีช่องทางหรือวิธีการทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ คำตอบคือ "ได้" แต่กลับ "ไม่ยอมทำ"
ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ การจับกุม "กำนันเป๊าะ" หรือ นายสมชาย คุณปลื้ม ผู้กว้างขวางแห่งภาคตะวันออก จำเลยคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินเขาไม้แก้วที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อ 30 ม.ค.2556 ซึ่งการจับกุมครั้งนั้นใช้เทคนิคการสืบสวนตาม "ทฤษฎีตำรวจสมัยใหม่" จึงถึงพร้อมทั้งพยานหลักฐาน และเก็บความลับได้อย่างมิดชิดถึงขั้นที่ลูกชายของกำนันเป๊าะซึ่งเป็นถึงรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลยังช่วยพ่อไม่ได้
คำถามคือทำไมไม่นำวิธีการแบบนั้นมาใช้กับการจับกุมผู้ต้องหาในภาคใต้บ้าง? จะได้ไม่ต้องมีการจับแพะ จับผิดตัว จับแล้วปล่อย หรือสร้างประเด็นคาใจกันให้วุ่นวาย
ที่สำคัญก็คือ การจัดการปัญหาภาคใต้ที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็น "วาระแห่งชาติ" นั้น ได้ใช้เจ้าหน้าที่ที่ดีที่สุดและเก่งที่สุดหรือยัง?
ไม่รู้ว่าด้วยเหตุการณ์เหล่านี้หรือเปล่าที่ทำให้โครงการเปิดให้ผู้ที่โดนหมายจับคดีความมั่นคงแล้วรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเข้าแสดงตัวที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เพื่อใช้เป็นผลงานนำไปเจรจากับแกนนำบีอาร์เอ็น จึงถูกตอบสนองด้วยอาการ "เฉยเมย" จากคนในพื้นที่ ถึงขั้นที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาบ่นดังๆ ว่า...
ส่งสัญญาณไป แต่ไม่มีใครตอบรับ!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มูฮาหมัดอัณวัร กับร้านชาชักหน้าบ้านของเขา
2 การประท้วงให้ปล่อยตัวครูสาวตาดีกา