"ซื้อหาการศึกษาที่ดีให้ลูกหลานได้ ด้วยราคาที่แพง" :ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ
งานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ก่อประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร เป็นคำถามที่ชวนหาคำตอบ...
ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงปาฐกถาเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ ในการประชุมสุดยอดมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อเร็วๆ นี้
สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงความส่วนหนึ่งมานำเสนอ
“ผมแจงวิชาออกเป็นสามกลุ่ม คือ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แต่ผลกระทบของงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีต่อสังคมเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ไม่ชัดเจนเหมือนวิทยาศาสตร์ที่มีผลกระทบก่อให้เกิดเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
แต่งานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีความสำคัญตรงที่ว่า เป็นพื้นฐานที่จะเป็นทางให้เราไปทำอะไรที่มีความหมายต่อสังคมได้มาก มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นวิชาว่าด้วยการศึกษาพฤติกรรมของคนและสถาบันทางสังคมต่าง ๆ โดยใช้วิธีการสังเกตและการวิเคราะห์ ออกมาเป็นกฎเกณฑ์และทฤษฎี
แต่ปัญหาตอนนี้คือ กฎเกณฑ์และทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษาทางสังคมศาสตร์ในประเทศไทย ส่วนใหญ่หยิบยืมมาจากตะวันตก ไม่พยายามสกัดออกมาจากประสบการณ์ จากการวิจัยและเฝ้ามองสังคมไทยของเราเอง
ซื้อหาการศึกษาที่ดีให้ลูกหลาน ด้วยราคาที่แพง
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ ศ.เสน่ห์ จามริก เรื่องการเมืองกับการศึกษาไทย ว่าด้วยการเปรียบเทียบการปรับเปลี่ยนประเทศให้ทันสมัยระหว่างไทยกับญี่ปุ่นโดยเอาการศึกษาเป็นตัวตั้ง โดยเปรียบเทียบกับสมัยเมจิของญี่ปุ่น งานชิ้นนี้ระบุว่า การศึกษาของไทยเริ่มต้นด้วยการที่ผู้ที่มีบุญบารมีแบ่งปันการศึกษา "เป็นเศษเป็นเลย" ให้กับมหาชนส่วนใหญ่ ผู้ที่อำนาจทางการเมืองการปกครอง "แบ่งปัน" การศึกษาไปให้ ไม่ใช่สิทธิของประชาชน
สิ่งที่เป็นอยู่ ที่เราได้เห็นอยู่ทุกวันนี้ก็คือ อำนาจเงินตรา คือตัวที่จะซื้อการศึกษาให้แก่ลูกหลานได้
ลองเทียบดูกับโรงเรียนในต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลกับโรงเรียนที่ต้องเสียแป๊ะเจี๊ยะ ในที่สุด การศึกษาที่ดีที่สุดที่เราจะให้ลูกหลานได้ จึงต้องซื้อมาด้วยราคาแพง อย่างนี้หรือคือสังคมอันพึงปรารถนา และสังคมศาสตร์จะต้องวิจัยกันอีกนานสักเท่าไร จึงจะได้คำตอบ
สมัยก่อนนั้นเด็กที่เรียนเก่งที่สุดในจังหวัด เขาจะเอาทุนไปให้ เพื่อเอามาเรียนครูที่โรงเรียนฝึกหัดครูสมเด็จเจ้าพระยา และโรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา ตรงนี้แหละที่ว่า มหาวิทยาลัยก็กำลังเปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน มหาวิทยาลัยกำลังเปลี่ยน จากหลักการเดิมที่ว่า วิทยาทานเป็นตัวตั้ง
ขณะนี้การศึกษาหรือความรู้ เป็นเรื่องที่ซื้อหาได้ราวกับเป็นสินค้า และมหาวิทยาลัยที่ดีก็จะต้องมีราคาแพง และก็จะเข้าไปได้ยาก เพราะคนที่มีสติปัญญาจะเข้าได้ หรือจะต้องได้ทุน แต่คนจำนวนหนึ่งที่อยู่ระดับรอง ๆ ลงมาคงไม่มีโอกาส ผู้ที่มีโอกาสและอยู่ในระดับรองลงมาคือผู้ที่มีโภคทรัพย์ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดกันอีกมาก และคงไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ได้ในระยะเวลาอันสั้น
พัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ต้องพัฒนาครู
ทีดีอาร์ไอเสนอผลวิจัยเรื่องการศึกษาออกมาแล้วว่า ขณะนี้การศึกษาไทยได้รับเงินจากงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก ครูบาอาจารย์ที่อยู่ในระบบก็ก้าวหน้าเป็นอย่างดี ครูระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษามีรายได้เทียบเคียงได้หรือมากกว่าศาสตราจารย์เสียด้วยซ้ำ (ถ้าท่านทำผลงานวิชาการ)
แต่ในที่สุดแล้ว ถามว่า คุณภาพดีขึ้นหรือไม่ ?
ตรงแหละที่ว่า ตัวเลขงบประมาณมันไม่ช่วย เพราะว่าเราเพ่งไปไม่ถูกจุด จุดที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาครู ซึ่งขณะนี้ครูเขาเองก็เรียกร้องความรู้ เวลามีการจัดประชุมเรื่องประวัติศาสตร์ยาก ๆ ครูจากทั่วประเทศมากันเป็นจำนวนมาก แต่ครูมหาวิทยาลัยไม่ไปเลย
เขาบอกว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ย้อนหลังไปไกลขนาดนั้น ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง จะต้องศึกษาเฉพาะประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลังรัชกาลที่ 5 ยิ่งดีไปกว่านั้นคือหลัง พ.ศ.2500
ผมได้ยินมาอย่างนั้นเป็นที่น่าวิตก!!
มันมีวิธีการอย่างอื่นที่จะแสวงหาความรู้ เช่น ด้วยวิธีการเรียนไปทำไป ผมยกตัวอย่างเรื่องของประเทศเวเนซุเอลา ก่อนที่จะทำเรื่องนี้มันต้องมีความเชื่อเสียก่อน
ความเชื่อที่ว่า “ดนตรีจะเป็นสิ่งซึ่งย้อมใจมนุษย์” ให้อยู่ในกรอบของความพอเหมาะพอดี มีพฤติกรรมอันดีในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมอารยะ มีเด็กเดินอยู่ข้างถนนเต็มไปหมดเมื่อสามสิบปีที่แล้ว สูบยาก็มี เล่นการพนันก็มี ชกต่อยวิวาทกันก็มี มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมาช่วยกันคิดว่า เอาดนตรีนี่แหละ จะช่วยให้คนเหล่านี้เป็นพลเมืองดีให้ได้ ใช้เวลาสามสิบปี ตั้งศูนย์ฝึกอบรมดนตรีทั่วประเทศ เด็กยากจนก็มีเครื่องดนตรีถูก ๆ ให้ยืม จนในที่สุดทั่วประเทศก็มีเสียงดนตรี แล้วก็มารวมเป็นวงใหญ่ ออกไปเล่นทั่วโลก ไปเล่นที่กรุงบอร์น เล่นดนตรีของบีโธเฟ่น
นี่คือผลงานของประเทศเวเนซุเอลา ใช้เวลาสามสิบปี
ที่บ้านเราก็มี วัดที่คลองเตยพระท่านไปเก็บเอาเด็กที่ติดยามาตีระนาด ท่านบอกว่า บางคนตีได้ยอดเยี่ยม มีคนไปถามผู้ที่ก่อตั้งโครงการนี้ที่เวเนซุเอลา ถามว่าความทะเยอทะยานของท่านคือท่านจะทำให้ประเทศเวเนซุเอลาเป็นเมืองแห่งดนตรีที่ดีที่สุดของโลกกระนั้นหรือ ต้องการผลิตให้คนทุกคนเป็นนักดนตรีกระนั้นหรือ
เขาบอก “ไม่ใช่ครับ ไม่ใช่ สิ่งที่พวกเราต้องการก็คือว่า ให้คนมาเล่นดนตรีให้มากที่สุด และจะมีคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่จะกลายเป็นนักดนตรีอาชีพที่มีคุณภาพ แต่คนที่ได้ผ่านกระบวนการฝึกอบรมของการเล่นดนตรีด้วยกันแล้ว เขาจะกลายเป็นพลเมืองดี”
เขาเชื่ออย่างนี้และเขาคิดว่ามันเป็นอย่างนี้ สาบสิบปีอาจยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่นี่คือ action research ทำไป มันมีวิธีการที่จะถ่ายทอดดนตรี ทำอย่างไรจะย้อมใจคน ก็ให้เขาเล่นดนตรีจนเกิดความเป็นมิตรต่อกัน และความเป็นมิตรนั้นมันถาวร แล้วจะทำให้คนกลายเป็นพลเมืองดีได้หรือไม่
นี่ยังเป็นสมมติฐาน แต่สามสิบปีเขาทำได้ในระดับหนึ่ง
ที่ฟิลิปปินส์กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็นนโยบายเมื่อสี่สิบปีที่แล้วว่า เด็กทุกคนในโรงเรียนจะต้องเล่นเครื่องดนตรีหนึ่งชิ้นหรือร้องเพลง ไม่ช้าไม่นานเพียงสิบกว่าปีเท่านั้น นักดนตรีที่เล่นอยู่ตามโรงแรมชั้นหนึ่งในประเทศไทย เป็นฟิลิปปินส์ทั้งหมด
เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เราน่าจะนำมาพิจารณาเหมือนกัน
สร้างรากฐานสังคมแห่งความรู้ ไม่ทำวิจัยไม่ได้
สรุป การวิจัยคือการแสวงหาความรู้ เป็นการสร้างรากฐานสังคมแห่งความรู้ ไม่ทำวิจัยไม่ได้ ความรู้นั้น จะต้องเป็นฐานให้เราแสวงหาความจริง เมื่อได้ความจริงมาแล้ว ประมวลความจริงมาจากแหล่งต่าง ๆ แล้ว นำมากลั่นกรองไตรตรอง พินิจพิจารณา แล้วจะได้สิ่งที่เรียกว่า “สัจธรรม”
สัจธรรมนั้นคืออะไร คือความสำนึกในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ผมว่าตรงนี้จะเป็นตัวกำกับ มันทำให้เกิดการกระทำทั้งหลายทั้งปวงที่จะนำไปสู่ประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ แต่ผมคิดว่าถ้าจะมาเหมาว่า กิจกรรมที่เรียกว่าการวิจัยนั้น คือกิจอันยิ่งใหญ่ที่สุดของสังคมนั้น ผมคิดว่า การวิจัย “เล็ก” เกินไป เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาสังคมได้เพราะมันจะต้องมีขั้นตอนอะไรอีกหลายอย่าง
ผมพูดมาทั้งหมดเพื่อต้องการจะบอกว่า มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ส่วนหนึ่งมันไม่ใช่การวิจัยที่ให้คำตอบที่เป็นรูปธรรม แต่มันเป็นเรื่องของการสร้างความสำนึก และความสำนึกอันนั้นมันน่าจะเริ่มต้นด้วยการสำนึกในคุณค่าของความเป็นมนุษย์