วช.รุกทดลองพลังงานไฟฟ้าจากลม นักวิชาการแนะต้องประชาพิจารณ์ชุมชน
คกก.วิจัยแห่งชาติ รุกพัฒนาพลังงานไฟฟ้าทดแทนจากลม ชี้ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยเหมาะสุด นักวิชาการแนะศึกษาความคุ้มทุน-ผลกระทบชุมชนให้รอบด้าน พร้อมทำประชาพิจารณ์
เร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศ โดยนายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการ วช. กล่าวว่าพลังงานลมมีศักยภาพสูงที่สุดในบรรดาพลังงานทดแทน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายให้มาทดแทนพลังอื่น ๆ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต จึงได้จัดสรรทุนวิจัยแก่สถาบันอุดมศึกษาเพื่อหาพื้นที่ติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าภายใต้ปัจจัยที่มีความเร็วลมสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน โดยพบว่าพื้นที่มีศักยภาพที่สุดคือพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในภาคใต้
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี ศูนย์วิจัยพลังงาน ม.แม่โจ้ กล่าวว่าภาคเหนือตอนบนมีศักยภาพสูง 3 แหล่งคือบริเวณสถานีเกษตรดอยม่อนล้าน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ สถานีโครงการหลวงแม่เฮ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และสถานีกิ่วลม อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีศักยภาพความเร็วลมเฉลี่ยรายปี 4.58-5.36 เมตร/วินาที ที่ระดับความสูง 40 เมตร และ 80 เมตร จะมีความเร็วลมเฉลี่ย 4.90-5.14 เมตร/วินาที โดยสามารถติดตั้งฟาร์มกังหัน โดยใช้กังหันลมขนาด 1 MW ที่ความสูงศูนย์กลางกังหันลม 80 เมตร สามารถติดตั้งกังหันลมได้ 68 MW และผลิตไฟฟ้าได้ 160 GWh/year ทั้งนี้พื้นที่ 3 แหล่ง สามารถติดตั้งกังหันลมขนาด 1MW และ 3MW ได้ทันทีที่กำลังการผลิตรวม 9MW และ 27MW โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 18.7 GWh/year และ 44.9 GWh/year ตามลำดับ
การวิเคราะห์การลงทุนติดตั้งฟาร์มกังหันลม แบ่งเป็นต้นทุนต่ำ ต้นทุนปานกลาง และต้นทุนสูง ซึ่งมีการลงทุน 63.5, 68.8, 75.6 ล้านบาท/MW พบว่าค่า Capacity Factor ของโรงไฟฟ้า มีผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย กรณีที่ค่า C.F. เพิ่มขึ้น 112% (จาก C.F. 13.6 เป็น 28.9%) จะส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยลดลง 53% (จาก 3.32 เป็น 1.56 บาท/kWh) และจุดคุ้มทุนลดลง 58.60% (จาก 12.9 เป็น 5.3 ปี)
ผศ.ดร.จอมภพ แววศักดิ์ ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง กล่าวว่าศักยภาพพลังงานลมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของอ่าวไทยมี 14 สถานีวัดลมที่มีความเร็วลมเหมาะสมคือ สถานีท่าชนะ, กาญจนดิษฐ์, ดอนสัก, ขนอม, สิชล, ท่าศาลา, ปากพนัง, หัวไทร, ระโนด, สทิงพระ1, สทิงพระ2, สิงหนคร, จะนะ และเหนือคลอง ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าฟาร์มกังหันแล้วจะติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 1.0 MW ได้ 69 คลัสเตอร์ จำนวนกังหันลม 1.321 ตัว ปริมาณการผลิตติดตั้ง 1,321 MW ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1.5 MW ได้จำนวน 69 คลัสเตอร์ จำนวนกังหันลม 903 ตัว ปริมาณกำลังการผลิตติดตั้ง 1,354.5 MW และขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2.0 MW ได้ 69 คลัสเตอร์ กังหันลม 647 ตัว ปริมาณการผลิตติดตั้ง 1,294 MW
ด้านรศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี ม.ขอนแก่น กล่าวว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจากสถานีที่ติดตั้งเสาวัดลมที่มีความสูง 120 เมตร ได้แก่ ร.ร.บ้านหนองหัวช้าง อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น, ม.ขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย, ร.ร.คำบอนวิทยาสรรพ์ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธิ์ และอ่างเก็บน้ำห้วยมุก อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ซึ่งพบว่าพื้นที่ร.ร.หนองหัวช้างเป็นเขตที่มีศักยภาพพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้สูงที่สุด โดยมีพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เป็น 1,523.442 MWh ที่ระดับความสูง 120 เมตร
รศ.ดร.บัลลังก์ เนียมมณี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า การศึกษาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทยจนถึงจ.ตราด มี 2 สถานี คือ ม.บูรพา จ.ชลบุรี และต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี จากความสูงระดับ 10, 65, 90 และ 120 เมตร พบว่า ที่ม.บูรพา มีความเร็วลมเฉลี่ยเท่ากับ 1.60 เมตร/วินาที, 4.96 เมตร/วินาที, 5.25 เมตร/วินาที และ 5.53 เมตร/วินาที ตามลำดับ ส่วนที่ต.ทับไทรมีความเร็วลมเฉลี่ยเท่ากับ 2.80 เมตร/วินาที, 5.38 เมตร/วินาที, 5.81 เมตร/วินาที และ5.93 เมตร/วินาที ตามลำดับ ทั้งนี้ จากผลการศึกษา พบว่าหากได้รับค่ารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากการไฟฟ้า กังหันลมทุกประเภทมีความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับค่ารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่ม กังหันลมความเร็วลมต่ำหรือพื้นที่ที่มีความเร็วลมค่อนข้างดี คือ ทางเลือกที่ดีเท่านั้นสำหรับการพัฒนาทุ่งกังหันลมในอนาคต
ผศ.ณัฐวุฒิ ชยาวนิช ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่าการศึกษาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในไทยชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทยจนถึงภาคใต้ตอนบนจ.ชุมพร มี 4 สถานี คือ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน, ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล, บ้านหนองทราย จ.เพชรบุรี และเทศบาลต.ชุมโค จ.ชุมพร จากเสาวัดความเร็วและทิศทางลมระดับความสูง 40, 65, 90 และ 120 เมตร พบว่าเทศบาลต.ชุมโค ความเร็วลมเฉลี่ยต่อปีสูงสุด รองลงมาคือ ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และบ้านหนองทราย ส่วนพื้นที่ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน มีความเร็วลมเฉลี่ยต่ำสุด ขณะที่ผลการผลิตไฟฟ้าได้มากที่สุด และมีค่า Capaccity factor สูงสุด คือ พื้นที่เทศบาลต.ชุมโค ร้อยละ 37.3
อย่างไรก็ตามการเลือกกังหันลมนอกจากจะพิจารณาประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานแล้ว ยังต้องพิจารณาต้นทุนด้านราคาและการบำรุงรักษา เพื่อให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่ป่าในการดำเนินงานและคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้ดี โดยต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ในชุมชนด้วย มิเช่นนั้นหากเกิดการคัดค้านในพื้นที่ใดอาจส่งผลกระทบให้ต้องหยุดโครงการอื่นๆ
ศ.ดร.ธนัญชัย ลีภักดิ์ปรีดา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การศึกษาพื้นที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในเขตพื้นที่ภาคกลางของไทยมี 3 สถานี คือบริเวณศูนย์การทหารม้า อ.เมือง จ.สระบุรี, บริเวณม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตราชบุรี และบริเวณม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า พื้นที่ยังไม่มีศักยภาพสำหรับกังหันลมขนาดใหญ่พอที่คุ้มกับการลงทุนในการประเมินการเบื้องต้นในตำแหน่งสถานีวัดลมบนพื้นที่ราบต้องใช้เวลาโครงการมากกว่า 20 ปี จึงจะคืนทุน แต่ศักยภาพพื้นที่ใกล้เคียงสถานีวัดลมที่สระบุรีและราชบุรีในพื้นที่ภูเขาสูง น่าจะคุ้มทุนกว่า โดยคาดว่าในพื้นที่ภูเขา จ.ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการตัดสินใจติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้าระยะยาวต่อไป หรือหาศักยภาพพลังงานลมสำหรับการผลิตไฟฟ้าในการติดตั้งกังหันลมอื่น ๆ แทน ทั้งมิติของขนาดและชนิดให้เหมาะกับความเร็วเฉลี่ยพื้นที่ราบภาคกลาง
ผู้เข้าร่วมประชุมยังเสนอให้ภาครัฐและเอกชนที่จะดำเนินการติดตั้งฟาร์มกังหันลมนั้นต้องศึกษาความคุ้มทุนในถี่ถ้วน โดยเฉพาะในประเด็นการมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามเสนอให้แต่ละครัวเรือนหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากฟาร์มโซล่าเซลล์ก็จะเป็นพลังงานทดแทนได้อีกทางหนึ่ง.