ป.ป.ช.ออกข้อเสนอแนะ หวั่นโครงการน้ำ เกิดอุบัติเหตุ ต้องล้มประมูล
ป.ป.ช เปิดจุดเสี่ยงโครงการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ส่งด่วนข้อเสนอถึงรบ.ยิ่งลักษณ์ ดร.พรายพล ชี้ชัดเป็นไปได้สูง อาจมีอุบัติเหตุล้มประมูล ระบุ หากต้องนับหนึ่งใหม่ ขอให้หยิบ “คู่มือการพิจารณาโครงการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ” ปี'46 ขึ้นมาดู
วันที่ 17 พฤษภาคม นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. นายเมธี ครองแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการมาตรการป้องกันการทุจริต ป.ปช. และดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานคณะทำงานฯ เปิดแถลงข่าวสรุปแนวทางและมาตรการป้องกันการทุจริตโครงการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ณ ห้องแถลงข่าว อาคาร 1 ชั้น 1 สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบมาตรการป้องกันการทุจริตโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ตามที่คณะอนุกรรมการฯ ที่มีนายเมธี เป็นประธานเสนอมา โดย ป.ป.ช. ได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบแล้ว
“ ข้อเสนอเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่รัฐบาลกำลังจัดประชุมเรื่องน้ำที่เชียงใหม่ อีกทั้งไม่ได้เป็นการกล่าวหารัฐบาลทุจริตแต่อย่างใด แต่คณะทำงานฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการนี้ใช้งบฯ จำนวนมาก อีกทั้งมีหลายจุดสำคัญที่มีความเสี่ยง ที่อาจเกิดปัญหาตามมาได้ จึงได้ทำการศึกษาเพื่อชี้จุดให้รัฐบาลได้ทราบเพื่อได้ทำการแก้ไข” นายกล้านรงค์ กล่าว และว่า ป.ป.ช.ได้ปฎิบัติตามตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 19 (11) เสนอความคิดเห็นต่อครม. รัฐสภา ศาล และสตง.เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานของส่วนราชการเพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริต
นายกล้านรงค์ กล่าวถึงข้อเสนอป.ป.ช. นั้น มี 3 ขั้น ตั้งแต่ข้อเท็จจริง ข้อเสี่ยง ข้อห่วงใย ครอบคลุมประเด็นการคัดเลือกผู้รับจ้าง การจ้างเหมาะแบบเบ็ดเสร็จ การประกันราคา การจ้างเหมาช่วงในพื้นที่กว้าง งานมากมายมหาศาล และการไปปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ 2535 โดยมีข้อเสนอให้กับรัฐบาลด้วยว่า ควรทำอย่างไร สุดท้ายหากสมมุติโครงการนี้เกิดอุบัติเหตุ ล้มไป ควรเริ่มต้นใหม่อย่างไร
“เจตนาของเราต้องการให้โครงการนี้สำเร็จ อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จ มีความโปร่งใส จึงออกข้อเสนอแนะด้วยความห่วงใย ส่วนรัฐบาลจะปฏิบัติอย่างไรหรือไม่นั้น ก็ไม่ได้มีข้อบังคับ”
ด้านนายเมธี กล่าวว่า คณะทำงานฯ ได้ใช้เวลาศึกษาในรายละเอียดเรื่องนี้นานกว่า 10 เดือน จนตกผลึกทางความคิด สุดท้ายเห็นว่า ข้อเสนอมีประโยชน์ เห็นจุดต่างๆ ที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงที่อาจทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งครม.ควรรับรู้โดยเร็ว
สำหรับผลของการศึกษาเพื่อป้องกันการทุจริตฯ จากโครงการระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนฯ นั้น ดร.พรายพล กล่าวถึงข้อสังเกตของคณะทำงานฯ มีตั้งแต่การคัดเลือกผู้รับจ้าง การจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จในรูปแบบ Design-Build การประกันราคาไม่เกินวงเงินสูงสุด (Guaranteed Maximum Price) การจ้างเหมาช่วง การไม่ปฎิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เกี่ยวกับความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการ และการกระทำที่อาจเป็นการขัดกับมาตรการป้องกันการทุจริตตามที่กฎหมายกำหนด
ดร.พรายพล กล่าวถึงข้อเสนอในการพิจารณาคัดเลือกผู้รับจ้าง ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะใน 6 โมดูล เหลือบริษัทแค่ 2 ราย ดังนั้นเกณฑ์การคัดเลือกต้องชัดเจน เพื่อให้การคัดเลือกเป็นไปด้วยความโปร่งใส และหากปรากฏว่า เหลือผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์เพียงรายเดียว คณะกรรมการคัดเลือกก็ควรเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษด้วย และหากการเจรจาสุดท้ายมีราคาสูงเกินไป อาจต้องตัดสินใจยกเลิกการจัดจ้าง รวมถึงกบอ.จะต้องเปิดเผยรายงานผลการพิจารณาทั้งหมด
ขณะที่การทำสัญญาว่าจ้าง เพื่อแก้ปัญหาการรวมงานตั้งแต่ต้นจนจบนั้น ดร.พรายพล กล่าวว่า ไม่ควรรวมงานที่มีความหลากหลายทั้งแง่ของลักษณะงาน และในด้านพื้นที่ไว้ในสัญญาเดียวกัน โครงการนี้ ควรแยกสัญญา เพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น ทำสัญญาแยกสำหรับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำออกเป็น 4 สัญญา เป็นต้น
“การกำกับโครงการ หรือตรวจรับงาน ซึ่งจะมีการเริ่มงานพร้อมๆ กัน ตามที่ต่างๆ กันหลายร้อยแห่งนั้น หน่วยงานที่ดูแล ตรวจงาน เบิกจ่าย ควรมอบหมายหน่วยงานราชการโดยตรง ที่ไม่ใช่สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ และควรมีกลไกการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต ด้วยการจ้างที่ปรึกษาอิสระ ที่มีความรู้ความสามารถ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อให้มาช่วยทางราชการตรวจรับงานเหล่านี้ โดยมีข้อเสนอด้วยว่า ควรให้เครือข่ายภาคเอกชนที่ทำงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเข้ามาตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย”
ประธานคณะทำงานฯ กล่าวด้วยว่า สุดท้ายแล้วหากมีเหตุผลอะไรก็ตามทำให้โครงการน้ำนี้ล้มการประมูล หากจะเริ่มกันใหม่ อยากให้รัฐบาลไปดู “คู่มือการพิจารณาโครงการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ” ซึ่งครม. เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2546 เห็นชอบ ให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางดำเนินโครงการที่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่การจัดทำประกาศเชิญชวน เอกสารข้อเสนอ พร้อมดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างเพื่อดำเนินโครงการ ตามข้อ 54 ของระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ 2535 และแก้ไขเพิ่มเติมรวมทั้งการจัดทำสัญญา
ข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช.
การดำเนินโครงการเสนอกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย และตามข้อกำหนดและขอบเขต(TOR) การออกแบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ได้ดำเนินการภายใต้กรอบเวลาที่จำกัดและมีปัญหาในลักษณะต่างๆ ตามที่กล่าวไว้ในข้อพิจารณาดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการปฎิบัติราชการไม่เป็นไปตามกฎหมาย การสร้างความเสียหายแก่ทางราชการ และการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ จึงเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรีได้พิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา
1.การพิจารณาคัดเลือกผู้รักจ้าง
-ให้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกให้จัดเจน เพื่อให้การคัดเลือกเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักเกณฑ์การให้คะแนนและจัดลำดับคะแนนจากข้อเสนอด้านเทคนิค ควรมีรายละเอียดมากกว่าที่ปรากฎในข้อกำหนดและขอบเขตงาน(TOR)
-ถ้าพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคแล้ว ปรากฏว่าเหลือผู้ยื่นข้อเสนอเพียง 1 ราย คณะกรรมการควรเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวนั้นอย่างเข้มงวด เพราะบริษัทคู่เจรจาจะมีอำนาจต่อรองสูง
-ให้ กบอ. ดำเนินการให้มีการเปิดเผยรายงานผลการพิจารณาทั้งการพิจารณาในขั้น pre-qualification และหลักเกณฑ์ทางเทคนิคในการคัดเลือก ให้สาธารณชนได้รับทราบ
2.การทำสัญญาว่าจ้าง
-ไม่ควรรวมงานที่มีความหลากหลายไว้ในสัญญาเดียวกัน แต่ควรแยกทำสัญญาเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการ
-การทำสัญญาควรแยกงานศึกษาวิเคราะห์ ออกจากงานออกแบบและงานก่อสร้าง โดยกำหนดเวลากับงานต่างๆ แยกกันอย่างชัดเจน
3.การกำกับโครงการและตรวจรับงาน
-ให้มอบหมายให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานในโครงการเป็นผู้รับผิดชอบดูแลกำกับโครงการและการตรวจรับงาน
-ดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ที่เป็นอิสระ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีค่าจ้างที่เหมาะสม และช่วยตรวจสอบการทำงานในลักษณะเหมาช่วง
-ดำเนินการให้เครือข่ายภาคเอกชนต่อต้านการคอร์รัปชันได้เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบการดำเนินโครงการ
อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุใดที่ทำให้โครงการไม่สามารถดำเนินการต่อได้ แต่รัฐยังเห็นว่ามีความจำเป็น ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตาม “คู่มือการพิจารณาโครงการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ” ซึ่งครม.ได้ลงมติเมื่อ 11 พ.ย.2546 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่วยราชการต่างๆ ใช้เป็นแนวทางการดำเนินโครงการที่ถูกต้องต่อไป (รายละเอียด ปรากฎตามหนังสือสำนักเลขาธิการครม. ด่วนที่สุด ที่ นร.0504/17233 ลงวันที่ 14 พ.ย.2546) ซึ่งมีขั้นตอนโดยสรุปดังนี้
-ทางการควรรับผิดชอบพัฒนาแผนแม่บท กำหนดแนวทางและเครื่องมือจัดการน้ำด้วยตนเอง ทางการควรสำรวจทางเลือกที่มีให้ครบถ้วน และเลือกโครงการที่สอดคล้องโดยมีการปรึกษาหารือกับประชาชน และกำกับดูแลการศึกษาความคุุ้มค่า ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง
-จัดเตรียมรายละเอียดโครงการ การดำเนินโครงการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป