ม็อบพีมูฟจัดเวที 'คดีคนจน' ชี้รัฐลักหลั่นใช้ กม.เอาผิดชาวบ้าน
เวทีคดีคนจนกลางม๊อบพีมูฟหน้าทำเนียบฯ ‘หมอนิรันดร์’ ชี้รัฐยึดแต่ กม.ลูกเอาผิดชาวบ้าน ทิ้งหลักสิทธิชุมชนตาม รธน. ทนายวิพากษ์กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว เกษตรกรเผยนายทุนออกเอกสิทธิ์ที่ดินปลอมเกลื่อน
วันที่ 17 พ.ค. 56 ที่บริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มผู้ชุมนุมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ จัดเสวนาหัวข้อ ‘คดีความคนจนกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม’
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กล่าวว่า การดำเนินคดีกับคนจนในขบวนการยุติธรรมของไทยส่วนใหญ่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม จนกลายเป็นสำนวนคุ้นเคยที่ว่า ‘คุกมีไว้ขังคนจน’ โดยมีสาเหตุมาจาก 1. อำนาจหรือกลไกของรัฐ ที่ยึดถือกฎหมายของตนเป็นใหญ่ เช่น กฎหมายป่าไม้ กฎหมายอุทยาน โดยละเลยหลักสิทธิชุมชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งพ.ศ.2540 และ พ.ศ. 2550 ซึ่งถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ระบุว่ากฎหมายใดจะขัดต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดมิได้ 2. รัฐสภาไม่ให้ความสำคัญกับการตรากฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิชุมชน เช่น กฎหมายป่าชุมชน ที่ชาวบ้านเรียกร้องมากว่า 20 ปี และยังไม่บรรลุผล ขณะที่กฎหมายลูกของหน่วยงานรัฐซึ่งถูกนำมาใช้ริดรอนสิทธิชุมชนกลับถูกผลักดันออกมาโดยสะดวก และ3. การตีความกฎหมายของศาลที่เน้นเพียงการพิจารณาความผิดตามคดีแพ่งหรืออาญาเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงหลักความชอบธรรมของสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ
“ชาวบ้านหลายพื้นที่ถูกละเมิดสิทธิชุมชน ไม่มีสิทธิในการจัดการป่า ลุ่มน้ำ แร่ธาตุในพื้นที่ของตนได้ หลายคนถูกห้ามใช้ที่ดินของตัวเองเพราะนายทุนมีเอกสารสิทธิ พอชาวบ้านอ้างสิทธิชุมชนกระบวนการยุติธรรมก็เพิกเฉย ชาวบ้านจึงกลายเป็นผู้ต้องหา เกษตรกรยากจนไม่มีที่ทำกิน ลุ่มน้ำก็ถูกนำไปสร้างเขื่อน ประมงพื้นบ้านก็ถูกรุกรานโดยประมงพาณิชย์ แร่ธาตุก็ถูกบริษัทต่างชาติเข้าซื้อทำกิจการเหมืองแร่แต่ปล่อยสารพิษให้ชุมชนได้รับผลกระทบ ปัญหาเหล่านี้เป็นเพราะหน่วยงานของรัฐไม่จัดการแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงหลักสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ” นพ.นิรันดร์กล่าว
นายถนอมศักดิ์ ละวาดชัย ทนายความคดีคนจนภาคอีสานกล่าวว่า คนส่วนใหญ่มองว่ากฎหมายไม่เป็นธรรมรังแกประชาชน แต่ความจริงกฎหมายเป็นเพียงกติกาที่ตั้งขึ้น เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายคือปัญหาหลัก หากไม่ใช้ให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ กฎหมายเขียนดีอย่างไรก็ไร้ประโยชน์
“ปัญหาใหญ่ในการต่อสู้คดีของภาคประชาชน คือทัศนคติของผู้บังคับใช้กฎหมายเข้าใจชุมชนหรือสภาพปัญหาไม่มากพอ เวลามีการจับกุมแม้เราจะให้ข้อมูลในชั้นพนักงานสอบสวนไปว่า พื้นที่ตรงนี้ชาวบ้านอยู่มาก่อนตั้งแต่บรรพบุรุษ ก็มักถูกปิดปากด้วยคำว่าคุณมีเอกสารสิทธิ์หรือไม่รวมถึงเหตุผลที่ยกขึ้นกล่าวอ้างก็ไม่ได้ถูกบันทึกลงในคำให้การจะบันทึกเพียงว่าจำเลยให้การปฏิเสธหรือให้การรับสารภาพ
นอกจากนี้ศาลประเทศไทยส่วนใหญ่ยังใช้ระบบกล่าวหา เมื่อมีการจับกุมจึงมักเชื่อว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาคือผู้กระทำความผิด กฎหมายบ้านเราห้ามวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาล แต่เมื่อผู้บังคับใช้มีทัศนคติที่ไม่ความเข้าใจปัญหาด้านชุมชนอย่างแท้จริง ต่อให้กฎหมายเขียนดีขนาดไหน ทัศนคติของเขาคือตัวอันตรายที่สุด” ทนายความกล่าว
นายสุแก้ว ฟุงฟู ตัวแทน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมกรณีตกเป็นผู้ต้องหาในข้อหาบุกรุกเนื่องจากเข้าทำประโยชน์ในที่ดินสาธารณะจ.ลำพูนว่า ตนตกเป็นผู้ต้องหาคดีทั้งหมด43คดี ซึ่งเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ชาวบ้าน และเอกชน แต่ได้ต่อสู้คดีจนปัจจุบันเหลือเพียง2คดีและในทุกครั้งที่แพ้คดีความก็มักจับตนเข้าคุก
นายสุแก้วกล่าวอีกว่า ปัจจุบันปัญหาเรื่องการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบมีจำนวนมากแต่ไม่ได้รับการตรวจสอบ เช่น นายทุนอ้างว่าซื้อเอกสารสิทธิ์จากนายบัว บูรพันธ์ ซึ่งเอกสารสิทธิ์ออกในปี2532 แต่นายบัวตายตั้งแต่ปี2502 แล้ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้
“กฎหมายดีหมดแต่พอนำไปปฏิบัติมันล้มเหลว เรื่องผิดไม่มีคนตรวจสอบกลับมองว่าเอกสารสิทธิ์เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดในการเอาคนจนเข้าคุก มันเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ให้ความยุติธรรมกับคนจน” นายสุแก้วกล่าว
นายเด่น คำแหล่ ชาวบ้านต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งเพิ่งได้รับการประกันตัวออกจากเรือนจำ หลังถูกข้อหาบุกรุกสวนป่าโคกยาวของกรมป่าไม้ กล่าวว่า แต่เดิมตนไม่เข้าใจว่าการถูกละเมิดสิทธิชุมชนหมายถึงอะไร จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าป่าไม้ร่วมกับทหารพรานเข้าเผาไล่รื้อบ้านตนและเพื่อนบ้าน 10 ครอบครัวในพื้นที่ที่ตนทำกินมาก่อน แต่กรมป่าไม้เพิ่งมาประกาศเป็นพื้นที่ฟื้นฟูป่าในภายหลัง ทำให้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ร้าย ซึ่งปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐยกเลิกการจับกุมคนจนไว้ก่อนและศึกษาที่มาที่ไปให้ถ่องแท้