หลายรัฐบาล "จำศีล" ระบบราง 'อาณัติ' ชี้ถึงเวลาของรถไฟความเร็วสูง
กรณีรัฐบาลออกพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งประเทศ พ.ศ.... เรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นจะมีการนำเม็ดเงินมาลงทุนระบบรางครั้งใหญ่ ซึ่งก่อกระแสเรียนรู้วิพากษ์วิจารณ์ไปพร้อม ๆ กันทั้งสังคม
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งทางรางอย่าง ศ.ดร.อาณัติ อาภาภิรม กรรมการบริษัทระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้ร่วมฉายภาพระบบขนส่งทางบกของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อม ๆ กับความคาดหวังต่ออนาคตของระบบรางไทย ไว้อย่างน่าสนใจ ในงานสัมมนาพิเศษเกี่ยวกับเทคโนโลยีหัวรถจักรที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศไทย จัดโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและคลุกคลีกับเรื่องเหล่านี้มานาน ศ.ดร.อาณัติ เล่าสิ่งที่ได้เห็นมาทั้งชีวิตว่า...
“ผมเห็นสถานีรถไฟหัวลำโพงตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ มาที่ยศเสก็เห็นรางรถไฟแล้ว ไปที่อรัญประเทศก็เห็นรถไฟ สมัยนั้นรถไฟถือว่าทันสมัยมาก ใคร ๆ ก็เดินทางโดยรถไฟ กรมรถไฟก็เป็นกรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
พอโตขึ้นหน่อย ผมก็เดินทางโดยรถยนต์ แรก ๆ คือถนนลูกรัง วิ่งไปไหนคนก็หัวแดงเต็มไปหมด ต่อมาก็เริ่มเห็นถนนลาดยาง แอสฟัลต์สายแรกก็คือถนนมิตรภาพที่รัฐบาลอเมริกามาสร้างให้ จากนั้นก็เห็นถนนไฮเวย์ ซูเปอร์ไฮเวย์ ถนนก็เพิ่มมากขึ้นทั้งจำนวนและคุณภาพ และเห็นโครงข่ายอย่างมากมาย อย่างที่ผมเกือบจะจำภาพเก่าไม่ได้
แต่เมื่อกลับมาดูรถไฟ
ผมก็ยังเห็นเหมือนเดิม เห็นหัวลำโพง ยังเห็นยศเส ยังเห็นจตุจักรที่เขาเวนคืนมาตั้งแต่สามสิบปีที่แล้ว กะว่าจะย้ายหัวลำโพงมาอยู่ที่บางซื่อ จตุจักร เดี๋ยวนี้จตุจักรก็ขายของหมดแล้ว
ที่เป็นอย่างนี้ ก็อยากจะถามว่า การพัฒนาการขนส่งทางบกของไทย มาถูกทางหรือเปล่า ไม่น่าจะถูก มันเป็นเพราะนโยบายสาธารณะของหลาย ๆ รัฐบาลที่ผ่านมา ที่จำศีลระบบราง แล้วไปพัฒนาระบบถนน สภาวะที่ไม่สมดุล ระหว่างระบบรางกับระบบถนนก็เกิดขึ้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้
รัฐบาลนี้กำลังจะใช้เงินพัฒนาระบบรางราว 1.5 แสนล้านบาท ประกอบกับระบบรางในกรุงเทพมหานครอีกราว 7 แสนล้านบาท นับว่ายุคนี้เป็นยุคของระบบรางจริง ๆ ซึ่งได้ปลุกระบบรางที่จำศีลอยู่นานขึ้นมา แต่ก็เป็นห่วงอยู่ประการหนึ่งว่า
ทำไมรถไฟถึงถูกจำศีลอยู่นาน ก็เพราะว่า เราให้ระบบรางไปแข่งกับระบบถนนอย่างไม่เป็นธรรม ระบบถนนรัฐบาลสร้างให้ ดูแลรักษาให้ คนใช้ถนนฟรีหมด เสียค่าภาษีรถยนต์นิดหน่อย
ส่วนระบบราง ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. ที่เปลี่ยนกรมรถไฟมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่นั้นมา การแข่งขันระหว่างระบบรางกับระบบถนนมันเทียบกันไม่ได้ อย่างที่ผู้ว่าการรถไฟฯ บอกว่า รถไฟไทยนั้นวิ่งช้า คนก็ไม่ขึ้น ส่วนการขนส่งพอเป็นรางเดี่ยว คนก็อยากขนส่งทางบกมากกว่า
ผมยืนยันได้ว่า ขณะนี้ความสมดุลระหว่างระบบรางกับระบบถนน ไม่สมดุลกันเลย !!
สำหรับระบบรถไฟรางคู่ ก็น่าจะทำมาตั้งนานแล้ว
ขณะที่เรื่องของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร โครงการทำไว้กว่า 400 กิโลเมตร ลงทุนประมาณ 7 แสนล้านบาท จะต้องให้เสร็จเดินรถได้ในปี 2562
"ผมอยากเห็นจริง ๆ ในช่วงชีวิตผม อยากดูว่ามันเปลี่ยนประเทศอย่างไร อยากดูว่าระบบการบริหารทั้งระบบเป็นอย่างไร วันนี้ยังดูไม่ออก ยังนึกไม่ได้"
เรื่องรถไฟความเร็วสูง หลายคนคงเห็นว่า เวียดนามเพิ่งจะมี ญี่ปุ่นมีมาตั้ง 50 ปีแล้ว จีนก็กำลังจะมีรถไฟความเร็วสูงขนาดยาวที่สุดในโลก เมืองไทยก็ควรจะมีบ้าง แต่มีเพื่อทันสมัยก็อย่างหนึ่ง มีเพราะจำเป็นก็อีกแบบหนึ่ง ผมอยากให้มีเพราะมันจำเป็นจะต้องมี
ผมเชื่อว่า รถไฟความเร็วสูงในเมืองไทย อย่างไรเสียในชีวิตผมคงได้เห็นสักสายหนึ่ง คงอยู่นานพอที่จะได้เห็น อย่างไรมันก็ต้องมี แต่อยากให้มีแบบระมัดระวัง อยากให้มีแบบสั้น ๆ ก่อน ไม่กี่สาย แล้วก็สร้างไปเรียนไป แล้วก็จะเป็นระบบสมบูรณ์อย่างที่เราอยากเห็น
ทั้งหมด ศ.ดร.อาณัติ อยากจะบอกว่า
"เราหยุดนิ่งกับระบบรางมานานมาก มายุคนี้จะพัฒนาก้าวกระโดดทันที การลงทุนจะสูง ต้องสร้างด้วยความเร็วที่สมเหตุสมผล และต้องมีโครงสร้างการบริหารที่เหมาะสมมารองรับกิจกรรม ขนาดมโหฬารและเงินจำนวนมากขนาดนี้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการวางแผนการใช้เงินและการกู้อย่างชาญฉลาด คงจะต้องมีการคิดกันมากพอสมควรเพื่อจะรับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับระบบรางของประเทศไทย"
--