ดันพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม หวังลดเหลื่อมล้ำคนจนเข้าถึงสิทธิ
เอกฉันท์รับรองมติสมัชชาฯ ดันพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ฉบับปชช. หวังคนจนรับเยียวยา-ลดเหลื่อมล้ำ-เข้าถึงสิทธิ ‘นพ.ชูชัย’ ชี้คลอดกม.ภาษีที่ดินไม่ได้ เหตุติดขัดคนเพียง 1% ที่เสียประโยชน์
วันที่ 15 พ.ค. 56 สำนักงานปฏิรูปเพื่อสังคมไทยที่เป็นธรรม (สปร.) ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเพื่อรับรอง (ร่าง) มติสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น ‘การปฏิรูปกองทุนยุติธรรม เพื่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม’ ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
โดยที่ประชุมรับรอง (ร่าง) มติ สมัชชาปฏิรูปฯ เพื่อการปฏิรูปกองทุนยุติธรรม ดังต่อไปนี้ 1.สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนยุติธรรม พ.ศ. .... ฉบับประชาชน ซึ่งมีหลักการสำคัญ ได้แก่
1.1 ยกระดับจากระเบียบกระทรวงเป็นพ.ร.บ. โดยให้กองทุนยุติธรรมมีสถานะเป็นนิติบุคคล เป็นอิสระ และสามารถรับช่วงสิทธิเพื่อไล่เบี้ยกับผู้ที่สมควรรับผิดชอบในความผิดอย่างแท้จริง 1.2 คณะกรรมการของกองทุนต้องประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และภาคประชาชน ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้การพิจารณาช่วยเหลือเป็นไปอย่างโปร่งใส โดยผู้แทนจากภาคประชาชนให้เสนอโดยการคัดสรรจากกลไกของประชาชนเอง ทั้งนี้ตำแหน่งประธานและรองประธานต้องมาจากการสรรหาของคณะกรรมการกองทุนฯ
1.3 สร้างความยั่งยืนทางการเงินโดยการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ทั้งต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดินที่ได้รับจากการจัดสรรโดยรัฐเป็นหลัก และพึ่งงบประมาณจากแหล่งอื่นที่มีศักยภาพและมีความเชื่อมโยงกับกองทุนยุติธรรม โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักการ “เฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุขในสังคม” เป็นสำคัญ 1.4 ขยายภารกิจของกองทุนยุติธรรม นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านการเงินหรือค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน กลุ่มคนไร้สัญชาติ ชนกลุ่มน้อย และผู้ด้อยโอกาส ในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ให้เป็นแหล่งเงินทุนในการเยียวยาผู้เสียหายหรือจำเลยที่ถูกยกฟ้องคดีอาญา ตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 รวมถึงให้กองทุนมีบทบาทในการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้วย 1.5 ว่าด้วยเรื่องการเยียวยาค่าชดเชยแก่โจทก์ผู้ฟ้องที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว
2.สนับสนุนให้ภาคประชาสังคมและประชาชนร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายในการสนับสนุน ‘ร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ฉบับประชาชน’ ซึ่งเป็นสิทธิของชนชาวไทย ตามบทบัญญัติมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 3.รับทราบว่ากระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการเสนอ ‘ร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ฉบับกระทรวงยุติธรรม’ และเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการปรับปรุงร่างฯ ของกระทรวงฯ เพื่อให้สอดคล้องกับมติสมัชชาปฏิรูประดับประเทศครั้งที่ 1 และ 4.ขอให้สำนักงานปฏิรูปรายงานการดำเนินการในการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2556
ขณะที่เวทีเสวนา ‘กองทุนยุติธรรมกับการลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม’ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานดำเนินการประชุมสมัชชา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีประชาชนกว่า 50,000 คนถูกคุมขังและไม่มีเงินประกันตัว ซึ่งต้องช่วยเหลือโดยใช้งบประมาณปีละ 30 ล้านบาท ส่วนประชาชนที่ถูกจับเข้าคุก และพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้กระทำความผิดจริง รัฐต้องจ่ายค่าตอบแทนความเสียหายปีละ 300 ล้านบาท ดังนั้นกรณีเหล่านี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ควรเร่งแก้ไข
ทั้งนี้ยังกล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าว่า กระทบประชาชนเพียง 1% ของประชากรทั้งประเทศ กับการเก็บภาษีที่ดินผู้ครอบครองที่ดินเกิน 50 ไร่ อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่สามารถผลักดันได้ รวมถึงกรณีการไม่รับร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นวุฒิสมาชิกกลุ่มใดจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้ว่าการไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมนั้นขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งกรณีข้างต้นอาจจะมีผลต่อการพิจารณากฎหมายฉบับประชาชนในอนาคตได้
ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท รองประธานดำเนินการประชุมสมัชชาฯ ในฐานะผู้ร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ฉบับประชาชน กล่าวว่า ข้อจำกัดของกองทุนยุติธรรมในปัจจุบันคือ 1. กองทุนยุติธรรมเป็นระเบียบไม่ใช่กฎหมายทำให้สามารถยกเลิกได้ตลอด 2. ระบบกองทุน ยุติธรรมเป็นของภาครัฐ 100% ทำให้การดำเนินการล่าช้าไม่ตอบสนองต่อประชาชน 3. ขาดแหล่งเงินทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการช่วยเหลือของประชาชน รวมถึงปัญหาการจ่ายค่าเยียวยาผู้เสียหายกับจำเลยที่ศาลยกฟ้อง 4.ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มีกองทุนรวมอยู่ศูนย์กลางกว่าจังหวัดจะส่งเรื่องเข้ามาที่กระทรวงยุติธรรม จึงใช้เวลาเป็นเดือน
รองประธานฯ กล่าวอีกว่า เป้าหมายสำคัญของการยกร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม คือ การลบความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของประชาชน โดยมีข้อเสนอในการปฏิรูปกองทุนยุติธรรมมีดังนี้ 1. ให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนยุติธรรมให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล เพื่อให้เกิดความคล่องตัวของการดำเนินงานให้รวดเร็วโดยสามารถตรวจสอบได้ อย่างโปร่งใส 2.ขยายภารกิจของกองทุนยุติธรรมให้กว้างขึ้น เพราะปัจจุบันกองทุนยุติธรรมให้การช่วยเหลือด้านค่าทนายความ ค่าขึ้นศาล หรืออื่นๆในการดำเนินคดี โดยให้เพิ่มเรื่องของการเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยที่ถูกยกฟ้องคดีอาญา เช่นการถูกขังในเรือนจำระหว่างรอคำพิพากษาของศาลและสุดท้ายศาลตัดสินว่าไม่ มีความผิด 3.ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการและภาคประชาชน.
ด้านนางทัศนา นาเวศน์ ผู้แทนชุมชนบ้านทับยาง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ชุมชนที่ได้รับผลกระทบกรณีปัญหาการบุกรุกที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ กล่าวว่า พื้นที่บ้านทับยางประสบปัญหาการถูกไล่รื้อที่ดินสัมปทานเหมืองแร่เก่าจากกลุ่มนายทุน ซึ่งชุมชนได้รับความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีจากกองทุนยุติธรรม อาทิ ค่าเดินทาง ค่ากระบวนการศาล หรือค่าเอกสาร อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือจากกองทุนฯ ยังเข้าไม่ถึงประชาชนมากนัก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย จึงเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมส่งผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนในชุมชน พร้อมให้อำนาจหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในการรับเรื่องร้องเรียนและแก้ปัญหาด้วย
อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ควรเปลี่ยนระบบแนวคิดของกองทุนยุติธรรมใหม่ โดยมองในแง่การเข้าถึงสิทธิของประชาชนมากกว่าการสงเคราะห์ด้วยเงิน ที่สำคัญ ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรม โดยการลดขั้นตอนพิจารณาคดีทางเทคนิคลง พร้อมขยายช่องทางเข้าถึงความช่วยเหลือของประชาชน
ขณะที่นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผอ.กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถิติการขอรับบริการกองทุนยุติธรรม ทั้งสิ้น 9,721 ราย แต่เงินในการให้ความช่วยเหลือทางคดียังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงเสนอให้เงินกองทุนยุติธรรมควรมาจากหลายแหล่ง โดยไม่อิงกับระเบียบราชการ เพื่อให้เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชน และต้องกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาคด้วย.
ที่มาภาพ:http://www.phetchabunjustice.org/web/index.php/component/content/article/37-hotnews/71-30-12-53