‘บวรศักดิ์’ มอง 2 ปี คปก.ให้ความเห็นมากไป หนุนทำแผนแม่บทลดเหลื่อมล้ำ
วิพากษ์ 2 ปีการทำงาน คปก.ชี้เสนอความเห็นด้าน กม.มากไป แนะทบทวนถูกกาละหรือไม่ หนุนวางยุทธศาสตร์สร้างความเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาส ปชช.มีส่วนร่วมเสนอความเห็น
วันที่ 15 พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดสัมมนา "สองปี คปก.กับการปฏิรูปกฎหมาย สร้าความเป็นธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำ" ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ โดยมี ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาการสถาบันพระปกเกล้า ศ.วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นางจินตนา แก้วขาว ผู้แทนกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด และนายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมอภิปราย
แนะทบทวนการเสนอความเห็นด้า กม.ถูกกาละหรือไม่
ศ.บวรศักดิ์ มองย้อนหลังการทำงานของ คปก.ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาว่า วิสัยทัศน์มุ่งสร้าความเป็นธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำเป็นเรืองที่น่าสนับสนุน แต่ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่มีการจัดทำเป็นแผนแม่บทด้านนี้ และไม่ได้จัดทำฐานความรู้ รวบรวมข้อมูลการขจัดความเหลื่อมล้ำและการปฏิรูปกฎหมายจากองค์กร หน่วยงานต่างๆ การทำงานที่ผ่านมาล้วนเป็นการเสนอความเห็นให้มีการปรับแก้หรือจัดให้มีกฎหมาย แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการเสนอนั้น เป็นไปอย่างถูก 'กาละ' แล้วหรือไม่
"การเสนอความเห็นที่ถูกกาละเป็นเรื่องสำคัญ ที่ ครม.หรือสำนักงานกฤษฎีกาจะมองเห็นและนำไปใช้ แต่เท่าที่ทราบจากสำนักงานกฤษฎีกา พบว่า ข้อเสนอส่วนใหญ่ของ คปก.ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะเป็นความเห็นและข้อเสนอในกฎหมายหรือร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว ดังนั้น คปก.ต้องประสานงานทั้งกับเลขาธิการ.ครมและเลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อผลักดันกฎหมายที่ถูกกาละมากขึ้น"
ศ.บวรศักดิ์ กล่าวถึงการให้ความสำคัญในการให้ความเห็นด้านกฎหมายของ คปก.ว่ามีมากเกินไป และไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์แต่อย่างใด เพราะรัฐบาลไม่นำไปใช้ เพียงรับทราบเท่านั้น ควรมุ่งเน้นวิสัยทัศน์ของตนเอง คือ จัดทำแผนแม่บท หรือร่าง พ.ร.บ.ที่ให้ความสำคัญในการปรับปรุงหรือพัฒนากฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม ผลักดันให้เป็นการเคลื่อนไหวของทั้งสังคมและออกเป็นกฎหมาย แทนที่จะเสียเวลาทำในสิ่งที่มีชิ้นงานมาก แต่มีผลลัพธ์และผลกระทบน้อย
ศ.บวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า กลุ่มคนที่เหลื่อมล้ำ มีทั้งกลุ่มที่ขาดความมั่งมีและกลุ่มที่ด้อยสิทธิ ซึ่งการคิดแผนแม่บทสำหรับคนทั้ง 2 กลุ่มว คปก.ต้องมีแผนผลักดันให้รัฐมีแนวทางอุ้มชูกลุ่มคนที่อ่อนแอ และมองเห็นว่าช่องว่างที่ต้องเข้าไปส่งเสริม ผลักดันให้รัฐเพิ่มหรือจัดหาปัจจัยและทุนในการผลิตสำหรับธุรกิจขนาดจิ๋ว รวมถึงอุ้มชูเรื่องการตลาดแก่ธุรกิจของชาวบ้าน
ทั้งนี้ ควรผลักดันให้มีการปฏิรูประบบภาษีที่ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อหารายได้ไปจุนเจือคนที่อ่อนแอกว่า และจัดโครงสร้างทางอำนาจใหม่ให้ประชาชนเข้าถึงปัจจัยด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรให้มีความสมดุลทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนและส่วนท้องถิ่น นโยบายการขับเคลื่อนสังคม ต้องมุ่งเน้นรองรับสังคมผู้สูงอายุ และมีการเตรียมความพร้อมกฎหมายเพื่ออาเซียน ที่ไม่ใช่เพียงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ขณะที่ศ.วิทิต กล่าวว่า เมื่อพิจารณาอาณัติ หรือขอบเขตการทำงานของ คปก.ตลอด 2 ปีนั้นกว้างมาก จากแผนปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2555-2558 ใน 8 ด้าน ได้แก่ 1.การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาพใหญ่ของด้านนี้อยู่ที่ประชาธิปไตยของไทย และการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องมีการปรับ สำหรับรัฐธรรมนูญ ในอนาคตจะต้องมีการปฏิรูปอย่างสันติ เช่นเดียวกับการเจรจาที่ภาคใต้ ส่วนพื้นที่อื่นควรมุ่งเน้นสนับสนุนการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นให้มีความโปร่งใส
2.ด้านสวัสดิการสังคม จะเห็นได้ว่า ระบบสาธารณสุขไทยมีการปรับปรุงที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงได้หรือไม่ หรือเฉพาะคนไทยเท่านั้นที่เข้าถึงได้ 3.ด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ มีปัญหาในการบังคับใช้และกฎหมายบางข้อที่ล้าสมัย 4.ด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่มีปัญหาประโยชน์ทับซ้อนระหว่างอำนาจรัฐ เอกชน และสิทธิชุมชน 5.ด้านการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 6.ด้านกระบวนการยุติธรรม 7.ด้านหลักประกันธุรกิจ และ 8.ด้านกฎหมายเอกชนและการเตีรยมความพร้อมสู่ AEC ต้องผลักดันมากกว่าแค่ด้านเศรษฐกิจ แต่มุ่งเน้นสังคมและการเมือง โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนในอาเซียน
ภาคปชช.สะท้อนปัญหา 2 ปี คปก.ผลักดันความเห็น-กม.ดี แต่ไม่มีใครฟัง
ด้านนางจินตนา สะท้อนมุมมองภาคประชาชนที่เข้าร่วมและติดตามการทำงานของ คปก.มาโดยตลอดว่า ในทางปฏิบัติตลอด 2 ปีการทำงานของ คปก.มีปัญหาในส่วนปลายทาง ที่เสนอความเห็นไปแล้วรัฐบาลไม่ฟัง และไม่ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะกฎหมายหลายฉบับที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้งถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และไร้สิทธิในการต่อสู้คดี ทั้งนี้ กฎหมายหลายฉบับที่ผ่านการพิจารณาและบังคับใช้ไปแล้ว แต่มีความล้าสมัยและเมื่อบังคับแล้วกลับสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน จึงควรต้องปรับปรุง เช่น การจัดผังเมือง ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จริง
"ในสายตาประชาชนมองว่าจะไม่มีทางขจัดความเหลื่อมล้ำได้หากกฎหมายและความยุติธรรมยังไปไม่ถึงประชาชน และการบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่เป็นธรรม ฉะนั้น แนวทางแรกรัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้คนกลุ่มอื่นได้มีส่วนร่วมบ้าง รวมถึงรับฟังและให้ความสำคัญกับกฎหมายภาคประชาชนที่ผลักดันผ่าน คปก.ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่อย่างนั้นอาจเป็นไปได้ว่าอนาคตจะมีผู้ต้องขังที่เป็นคนจนทั้งหมด"
วางพันธกิจ คปก.หนุน ปชช.เข้าถึง กม.มากขึ้น ลดอำนาจกระจุกตัว
ส่วนนายไพโรจน์ กล่าวในส่วนการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายว่า จากการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา พบว่าสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยังมีความมั่งคั่งกระจุก โดยเฉพาะด้านทรัพยากร การถือครองที่ดินมีความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษาก็ยังไม่ทั่วถึง ไมครอบคลุม ทั้งที่เป็นหน้าที่ขั้นต่ำของรัฐที่ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุด
โดยที่การเข้าถึงด้านการศึกษาจะทำให้การเข้าถึงสิทธิด้านอื่นๆ เกิดขึ้นได้จริง เช่นเดียวกับกระบวนการยุติธรรม หากประชาชนยังเข้าไม่ถึงและไม่มีส่วนร่วมก็จะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านอื่นๆ ได้ ดังนั้น แนวทางปฏิบัติสำหรับ คปก.จากนี้ จึงมุ่งปฏิรูปกระบวนการ และปฏิรูปเนื้อหา เพื่อสร้างสมดุลอำนาจใหม่ ให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น ไม่อย่างนั้นกระบวนการทางกฎหมายและอำนาจต่างๆ จะกระจุกตัวอยู่แค่ในคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น