ต้องโค่น“ประโยชน์ทับซ้อน”ที่ ม.เกษตรฯ ?
กรณีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำสัญญาว่าจ้างเอกชนรายหนึ่งคือ บริษัท แคนดูคอนสตรั๊คชั่น จำกัด รับเหมาโครงการก่อสร้างของมหาวิทยาลัยและจัดซื้อจัดจ้างอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จำนวน 36 สัญญา วงเงินรวม 2,055,147,842 บาท จากตัวเลขที่มหาวิทยาลัยจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้นกว่า 1,000 สัญญา วงเงินรวมประมาณ 8,700 ล้านบาท มีประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ กรณีผลประโยชน์ทับซ้อน ( Conflict of Interests) ระหว่างผู้รับเหมา กับ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง
ขอยกข้อมูลมาเสนอดังต่อไปนี้
1.มหาวิทยาลัยเป็นคู่สัญญากับเอกชนรายนี้จำนวน 36 สัญญา วงเงินรวม 2,055,147,842 บาท (ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา) ไล่เรียงเฉพาะ 10 โครงการที่มีวงเงินสูงตามช่วงเวลาดังนี้
26 พ.ค. 2549 จ้างก่อสร้างอาคารการเรียนรู้ วิทยาเขตบางเขน วงเงิน 128,500,000 บาท
13 ก.ย. 2550 จ้างก่อสร้างอาคารวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตรเกษตร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์(อาคารวชิรานุสรณ์) วงเงิน 153,850,000 บาท
31 มี.ค. 2551 จ้างก่อสร้างอาคารเรียนการสอนคณะบริหารธุรกิจ วงเงิน 169,900,000
25 พ.ค. 2552 จ้างก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการ 1 หลัง วงเงิน 162,000,000 บาท
9 มิ.ย. 2552 จ้างก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการ(วิทยาลัยสิ่งแวดล้อม) 1 หลัง วงเงิน 104,900,000 บาท
22 ก.ค. 2552 จ้างก่อสร้างอาคารการเรียนการสอนคณะบริหารธุรกิจ ระยะที่ 2 วงเงิน 104,000,000 บาท
19 ม.ค. 2553 จ้างก่อสร้างโครงการครุภัณฑ์และเทคโนโลยีสารสนเทศอาคารการเรียนการสอนคณะบริหารธุรกิจ ระยะที่ 3 วงเงิน 45,100,000 บาท
22 เม.ย. 2553 จ้างก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์กายภาพและด้านคอมพิวเตอร์ วงเงิน 505,000,000 บาท
28 มิ.ย. 2555 จ้างก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์กายภาพ วงเงิน 112,904,578 บาท
19 ก.พ. 2556 จ้างก่อสร้างระบบไฟฟ้าและสื่อสาร อาคารเรียนและปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์กายภาพ คณะวิทยาศาสตร์ วงเงิน 13,551,222 บาท
2.บริษัท แคนดูคอนสตรั๊คชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2526 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ในช่วงแรกมีผู้ถือหุ้น 7 คน ประกอบด้วย นายอนันต์ เนตยสุภา นายอำนวย เนตยสุภา นางอัมพร ตยางตานนท์ นายบุญศิริ โกศลวิจักขณ์ นายอนันทเดช ปิยะพันธ์ นายพรชัย จินดามพร และนายมานิตย์ สุพุทธิกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ นายอำนวย เนตยสุภา
วันที่ 4 กรกฎาคม 2549 นายอนันต์ เนตยสุภา ก่อนหน้านี้ถือครองหุ้น จำนวน 170,200 หุ้น (17.02%) ได้โอนหุ้นให้ นางรัมภา เนตยสุภา ทั้งหมด ผู้ถือหุ้นใหญ่คือนายอำนวย เนตยสุภา จำนวน 350,200 หุ้น (35.02%)
วันที่ 10 มีนาคม 2551 มีผู้ถือหุ้นจาก 7 คนเป็น 9 คน ผู้ถือหุ้นรายใหม่คือ นายวุฒิไกร ภัทรจินดานุวงศ์ และ นายพงศ์ภูมิ เทียนวิบูลย์ ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ นายอำนวย และ นางรัมภา เนตยสุภา
ไม่มีการเปลี่ยนแปลง กระทั่งถึงปัจจุบัน
3.โครงสร้างของกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีกรรมการจากหลายประเภท รวม 31 คน (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย) ในจำนวนนี้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง 3 คน คือ อธิการบดี ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย และ ประธานสภาข้าราชการ มก.
ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2553 – 1 ธันวาคม 2555 คือ นายอำนวย เนตยสุภา เจ้าของบริษัท แคนดูคอนสตรั๊คชั่น จำกัด
กรณีนายอำนวย เนตยสุภา จึงมีสถานะเป็นทั้งประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง และ เจ้าของบริษัทรับเหมาที่เป็นคู่สัญญากับมหาวิทยาลัย
4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และ 2544 มาตรา 100 ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใดเป็นคู่สัญญา เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจกำกับ ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทนพนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซี่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
ในยุคนายโอภาส อรุณินท์ เป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 ได้ออกประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องห้ามกระทำการในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพียง 2 ตำแหน่งคือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวมถึงคู่สมรส (ประกาศฉบับแรก)
ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2555 นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน กรรมการ ป.ป.ช. ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 2 เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ ห้ามกระทำการในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเพิ่มเติม คือ ผู้บริหารท้องถิ่น และรองผู้บริหารท้องถิ่น
ประกาศของ ป.ป.ช.ทั้งสองฉบับมิได้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งอื่น และประธาน ป.ป.ช.ยังไม่ได้กำหนดตำแหน่งใหม่เพิ่มเติม ห้ามกระทำการในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะฉะนั้นบทบัญญัติมาตรา 100 ของ ป.ป.ช.จึงไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง
กรณีนี้ถ้าพบความไม่โปร่งใสในกระบวนบริหารงบประมาณ อาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือกฎหมายอื่นหรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบ อาทิ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ป.ป.ช. จะเอาจริงเอาจังมากน้อยแค่ไหน
ความจริงมาตรการทางกฎหมายก็เป็นเรื่องหนึ่ง ขณะที่มาตรการทางสังคมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
หากเปรียบเทียบกับกรณี “ทางด่วน” การขับเคลื่อนขององค์กรภายในมหาวิทยาลัย ผู้บริหารและประชาคม ม.เกษตรฯ ต่างสำแดง“อัตลักษณ์” คัดค้านอย่างเข้มข้นแข็งขัน
กรณีประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง กรณีเงินกู้สหกรณ์ 4 พันล้าน และหรือกรณีอื่นก่อนหน้านี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณ และเกี่ยวโยงกับปรัชญา วิสัยทัศน์ และพันธกิจของมหาวิทยาลัย อันยึดโยงกับผลประโยชน์ชาติ
สังคมกลับมิได้เห็นถึงการสำแดง“อัตลักษณ์”ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน?
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิใช่ความเห็นและมีส่วนเกี่ยวข้องกับ สำนักงาน ป.ป.ช.
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://www.tlcthai.com/