นักวิชาการชี้ โครงการ 3.5 แสนล้านสำเร็จยาก หวั่นก่อความรุนแรง
นักวิชาการชี้ โครงการ 3.5 แสนล้านสำเร็จยาก หวั่นขัดแย้งกับคนในพื้นที่ ด้าน “หาญณรงค์” โวยทนไม่ได้เตรียมเคลื่อนไหวโต้ “ปลอดประสพ” ว่า NGO เป็นเหมือนขยะมาเกะกะ ลั่นดูหมิ่นประชาชน
วันที่ 14 พ.ค. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานวิชาการ ประเด็น การบริหารจัดการน้ำและแก้ไขอุทกภัยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ สำนักงานปฏิรูป จัดเวทีเสวนา “ส่อง 3.5 แสนล้าน ผ่านแว่นวิชาการ” เพื่อนำเสนอความเห็นละบทวิเคราะห์ของนักวิชาการต่อแผนงานบริหารจัดการน้ำของรัฐที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยขาดการสร้างการมีส่วนร่วมของผุ้มีส่วนได้-เสีย
ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นการนำโครงการต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่แล้วในกระทรวง หรือกรมต่าง ๆ โดยเฉพาะกรมชลประทาน แล้วนำแผนเหล่านั้นมารวมกันทั้ง ๆ ที่แผนเหล่านั้นยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนผู้เสนองานตามงบ 3.5 แสนล้านบาท ก็ไม่มีทางคิดอะไรใหม่ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะรัฐบาลวางแนวทางมาให้หมดแล้ว
นอกจากนี้ ผศ.ดร.คมสัน กล่าวอีกว่า ผู้เสนองานชาวต่างชาติยังไม่มีความเข้าใจลักษณะทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่โครงการที่ดีพอ อาจทำให้สร้างโครงการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาคือควรดึงภาคประชาชนมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา มิฉะนั้นโอกาสที่โครงการ 3.5 แสนล้านบาทนี้จะประสบความสำเร็จ มีน้อยมาก และเมื่อโครงการเริ่มดำเนินการ จะนำมาสู่ความรุนแรง เพราะผู้รับเหมาโครงการจะเร่งรัดงานให้เสร็จ ซึ่งจะไปขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่
ด้านรศ.ชัยยุทธ สุขศรี ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กระบวนการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ถูกต้องที่รัฐบาลกำลังทำนั้น อาจไปเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความสูญเสียมากขึ้นในอนาคต เพราะไม่ได้คำนึงถึงหลักการลดความเสี่ยง โดยกำหนดระดับความเสี่ยงที่สังคมยอมรับร่วมกันได้เป็นตัวตั้ง แล้วจึงมากำหนดระดับของการป้องกัน โดยเฉพาะการก่อสร้างทางวิศวกรรม
"รัฐบาลทำตรงข้ามกับหลักวิชาการ ที่ต้องคิดภาพรวมให้ชัดก่อน แล้วจึงลงมือทำ แต่ตอนนี้ดูเหมือนรัฐบาล คิดแค่ว่าจะทำเป็นโมดูลต่าง ๆ เรียกจึงเอกชนมาช่วยเขียนแผนภาพรวม ซึ่งไม่มีทางเขียนต่างไปจากที่รัฐบาลอยากให้เป็น เป็นการกำหนดงานโดยใช้เงินเป็นตัวตั้ง แล้วถ้าเงินไม่พอ จะทำอย่างไร"รศ.ชัยยุทธ กล่าว และว่า หรืออย่างรายละเอียดเรื่องระบบสูบน้ำ และการนำน้ำออก ก็ไม่ได้ระบุไว้ในแผนจัดการน้ำ เป็นเรื่องที่สังคมไม่ค่อยได้รับรู้ข้อมูล ไม่ได้รับรู้ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโครงการบริหารจัดการน้ำ
ส่วนนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า การจัดการน้ำด้วยงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ในเชิงวิชาการที่ถูกต้อง ต้องมีการออกแบบโครงการ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้ประชาชนมีส่วนร่วมก่อน แล้วจึงไปหาผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่สิ่งที่ทำอยู่กลับกันหมด โดยไปหาผู้รับเหมาก่อน หลายโครงการโดยเฉพาะในพื้นที่ยมบน-ยมล่างชาวบ้านจึงไม่ให้ความร่วมมือ การใช้งบประมาณจำนวนมากขนาดนี้ จึงควรให้ใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของชุมชนด้วย
"ที่สุดแล้วการใช้งบประมาณฟื้นฟูฯ เร่งด่วน 1.2 แสนล้านบาท เช่นนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง เช่น กรณีสร้างคันกั้นน้ำ ริมแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี ชาวบ้านจะไปถ่ายรูปไว้ก็ไม่ได้ เนื่องจากผู้รับเหมาเป็นผู้รับเหมาท้องถิ่นที่มีอิทธิพล สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการแสดงความคิดเห็นถูกตัดออกไป จากโครงการที่ไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม คนที่ได้ประโยชน์คือนักการเมืองผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เหล่านี้จะนำมาซึ่งความรุนแรง"
ส่วนงบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้น ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาดำเนินการเร่งรัดทำงานให้เสร็จนั้น นายหาญณรงค์ กล่าวว่า ก็อาจขัดแย้งและเกิดความรุนแรงกับคนในพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน
ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวถึงกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบการประชุมความมั่นคงทางน้ำ เอเชีย-แปซิคฟิค ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเปรียบเทียบกลุ่มมวลชนที่อาจมาชุมนุมแสดงความเห็นระหว่างการประชุมว่า เป็นเหมือนขยะมาเกะกะ และหากมีการชุมนุมประท้วงจะสั่งจับกุมให้หมดโดยไม่มีการเจรจาใด ๆ ด้วยว่า คำสัมภาษณ์ของรองนายกฯ เท่ากับเป็นการยั่วยุ ให้ประชาชนที่ตอนแรกไม่อยากไปร่วม แต่ตอนนี้อยากออกไปเคลื่อนไหวมากขึ้น
"และเมื่อพิจารณาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ประชาชนย่อมมีสิทธิในการแสดงออก การห้ามและเปรียบประชาชนกับขยะเช่นนี้ เท่ากับ ดูหมิ่นประชาชน"
ทั้งนี้ ส่วนการเคลื่อนไหวระหว่างการประชุมนั้น นายหาญณรงค์ กล่าวว่า จะเป็นในลักษณะ การตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงจุดยืนของภาคประชาชนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ งบประมาณในการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท รวมถึงเน้นย้ำให้ที่ประชุมให้ความสำคัญต่อประเด็นความมั่นคงทางน้ำระหว่างประเทศ และจะส่งสารเรื่องนี้ไปยังผู้นำประเทศต่าง ๆ ด้วย แต่ทั้งนี้ นายหาญณรงค์ ยืนยันว่า จะไม่มีการเคลื่อนไหวบุกรุกสถานที่ประชุมอย่างแน่นอน
ที่มาภาพ: http://www.facebook.com/photo.php?fbid=618293614849334&set=a.404038156274882.102422.100000061025864&type=1&theater
{youtubejw}z4Fs_UmbOhs{/youtubejw}