จับทิศรัฐไทยปรับใหญ่เจรจาดับไฟใต้ กับ10ข้อ"เฉลิม"อ่านใจ BRN
แม้ทุกฝ่ายจะชื่นชมในความกล้าหาญของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ส่งข้าราชการระดับเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้กับ "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" นำโดยกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ในรูปแบบ "เปิดเผย-บนโต๊ะ" ไม่ใช่แอบคุยกันลับๆ หรือคุยกัน "ใต้โต๊ะ" เหมือนที่เคยทำกันมาในอดีตหลายสิบปี
และแม้จะมีข่าวคราวเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ "กดปุ่ม-เปิดป้าย" ให้เกิดกระบวนการพูดคุยสันติภาพดังกล่าว ท่ามกลางคำถามมากมายว่าด้วยการเอื้อประโยชน์ทางการเมืองกับผู้นำมาเลเซียก็ตาม แต่หลายคนหลายฝ่ายก็พยายามมองข้ามไป เพราะเชื่อในหลักการที่ว่าทุกสงครามและทุกความขัดแย้งล้วนยุติลงบนโต๊ะเจรจาทั้งสิ้น
ทว่าหลังจากวันลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ "ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย" เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 และได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการไปแล้ว 2 ครั้ง (28 มี.ค. กับ 29 เม.ย.) ความรุนแรงในพื้นที่กลับไม่ลดระดับลง โดยเฉพาะในแง่ความรู้สึกของผู้คนที่รับรู้จากเหตุการณ์และข่าวสารจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าความรุนแรงกลับเพิ่มสูงขึ้นและโหดร้ายทารุณขึ้น ถึงขั้นยิงชาวบ้านมือเปล่า ยิงเด็กวัยแค่ 2 ขวบ รวมทั้งคนพิการ ล่าสุดยังเกิดเหตุลอบวางระเบิดย่านเศรษฐกิจกลางเมืองปัตตานีด้วย
เรียกว่าสิ่งไหนที่แกนนำบีอาร์เอ็นอย่าง นายฮัสซัน ตอยิบ เคยรับปากว่าจะไม่ทำในห้วงที่มีการพูดคุยสันติภาพ ล้วนเกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้นที่ชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ (ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เด็ก ผู้หญิง) และการลอบวางระเบิดในเขตชุมชนเมืองที่ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ท่ามกลางข่าวลือและข่าวจริงในพื้นที่ที่สับสนอลหม่าน เนื่องจากยังไม่มีกลไกร่วมระหว่างคู่เจรจาสันติภาพในการตรวจสอบเหตุร้ายที่เกิดขึ้นว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใดแน่
แถมฝ่ายบีอาร์เอ็นที่เป็นคู่เจรจาหรือผู้สมัครใจเข้าร่วมพูดคุยกลับไปแถลงข้อเรียกร้อง 5 ข้อผ่านโซเชียลมีเดียโดยไม่ได้ "เห็นหัว" หรือ "สนใจ" โต๊ะพูดคุยเลยแม้แต่น้อย
ไม่ว่าเหตุร้ายมากมายที่มีข้าราชการตั้งแต่ระดับรองผู้ว่าฯจนถึงชาวบ้านตาดำๆ ตกเป็นเป้าหมายจะเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในความรู้สึกของคนทั่วไปมัน "ใช่" และมองว่ากระบวนการพูดคุยเจรจามันล้มเหลวไปแล้ว
ณ วันนี้จึงมีกระแสเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ทบทวน "กระบวนการพูดคุย" ซึ่งมีข้อเสนอจากหลายฝ่าย ทั้งองค์กรอิสระ ภาครัฐ ฝ่ายการเมือง และมีท่าทีจากแกนนำหลักในคณะพูดคุยสันติภาพเองด้วย
สถาบันพระปกเกล้าฯแนะปิดจุดอ่อน 5 ข้อ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดเสวนาวงปิดที่ จ.ปัตตานี เพื่อระดมความเห็นจากนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข หรือ 4 ส. ซึ่งเปิดมาแล้ว 4 รุ่น มีผู้ทรงคุณวุฒิทุกสาขาอาชีพจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนกลางที่สนใจปัญหาภาคใต้เข้าร่วมอย่างคับคั่ง โดยประเด็นหลักคือข้อเสนอต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
ในวงเสวนา พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลฯ ได้สรุป "จุดอ่อน" และประเด็นที่ต้องแก้ไขทบทวนก่อนเดินหน้า "พูดคุยเจรจา" ต่อไป ดังนี้
1.จนถึงขณะนี้ยังไม่มีกรอบการพูดคุยเจรจา ไม่มีกรอบกติกาการสื่อสารและการแถลงข่าว แต่กลับข้ามไปคุยเรื่องเงื่อนไขกันแล้ว
2.ฝ่ายรัฐบาลไทยยังไม่มีแผนที่เดินทาง หรือ "โรดแมพ" ไม่มีข้อเสนอ และไม่มียุทธศาสตร์รับมือกับข้อเรียกร้องของอีกฝ่าย
3.คณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยประชุมเพื่อระดมสมองกันน้อยเกินไป ระยะเวลา 1 เดือนก่อนวันนัดพูดคุยแต่ละครั้งแทบไม่มีการประชุมกันเลย
4.ควรตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อพูดคุยเป็นการลับไปพร้อมกันด้วย โดยไม่ต้องรอคณะพูดคุยชุดใหญ่ที่กำหนดกรอบเวลาไว้เดือนละครั้งเท่านั้น
5.ค้นหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ฝ่ายการเมืองเห็นพ้องตั้ง "คณะเล็ก" คุยทางลับ
หลายประเด็นที่นำเสนอโดย พล.อ.เอกชัย แห่งสถาบันพระปกเกล้า สอดคล้องกับข้อเสนอของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะการตั้งคณะทำงานชุดเล็กพูดคุยในทางลับกับตัวแทนบีอาร์เอ็น
เริ่มจาก พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กลุ่มก่อความไม่สงบยังสร้างสถานการณ์ความรุนแรงเพื่อให้เห็นว่าในพื้นที่ภาคใต้ยังมีความรุนแรง ฉะนั้นคณะพูดคุยฝ่ายไทยต้องแก้ปัญหาการก่อเหตุในพื้นที่ให้ได้ โดยโยนปัญหานี้ให้กลุ่มบีอาร์เอ็นแก้ และระหว่างรอการพูดคุยอีกราว 1 เดือนเศษ น่าจะมีทีมพูดคุยย่อยเพื่อพูดคุยกันทางลับไปพร้อมกันด้วย ไม่ใช่แค่ให้คณะใหญ่ประชุมกันแค่ 1 เดือนครั้ง เพราะไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะมีการตั้งคณะทำงานคณะเล็กเพื่อให้มีการพูดคุยในทางลับกับผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็นเพื่อประเมินสถานการณ์ในพื้นที่และจัดทำข้อเสนอแนะก่อนจะมีการเจรจารอบใหม่ในเดือน มิ.ย.นี้ อีกทั้งเพื่อสรุปความเห็นด้วยว่าควรจะยังมีการพูดคุยสันติภาพต่อไปหรือไม่ เพราะคนที่มาพูดคุยต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องทำให้เกิดความสงบในพื้นที่ แต่การพูดคุยที่ผ่านมากลับกลายเป็นว่ามีความรุนแรงมากขึ้น
10 ข้อของ "เฉลิม" วิเคราะห์ท่าทีบีอาร์เอ็น
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยมีข้อพิจารณาทั้งหมด 10 ข้อ
1.วิธีการที่บีอาร์เอ็นใช้เสนอข้อเรียกร้องผ่านสื่อสาธารณะไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ควรเป็น (ควรเสนอในที่พูดคุย ) ซึ่งเข้าใจว่ามาจากผลการพูดคุยครั้งแรกที่บีอาร์เอ็นจะเสนอเรื่องอำนวยความยุติธรรม แต่ผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) ไม่เห็นด้วย และให้รอไว้ เพราะบรรยากาศไม่ดี และเห็นว่าข้อเสนอก้าวร้าวเกินไป บีอาร์เอ็นน่าจะมองว่าหากต้องการให้ข้อเสนอถูกนำมาพูดคุยกันต้องเสนอผ่านทางช่องทางอื่น ไม่ใช่ในที่พูดคุย มีข่าวว่าบีอาร์เอ็นต้องการให้เปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวก เพราะเห็นว่า ดาโต๊ะซัมซามีน (อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย) เข้าข้างไทย
2.การที่ นายฮัสซัน ตอยิบ กับ นายอับดุลการิม คาลิบ (สองแกนนำบีอาร์เอ็น) เป็นผู้ออกมาประกาศข้อเสนอ (ผ่านยูทิวบ์) น่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าทั้งผู้นำรุ่นเก่ากับแกนนำรุ่นใหม่ที่แข็งกร้าวมีท่าทีและแนวทางเป็นเอกภาพเห็นชอบร่วมกัน และเป็นสัญญาณสำคัญที่ส่งให้แกนนำและแนวร่วมระดับพื้นที่ได้เห็นความชัดเจน การดำเนินการในลักษณะนี้น่าจะชี้ให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นมีจุดยืนที่เป็นเอกภาพ อย่างไรก็ดี พิจารณาอีกด้านหนึ่งเป็นไปได้ว่าผู้นำรุ่นเก่าถูกกลุ่มหัวรุนแรงกดดันให้คนรุ่นเก่าประกาศยืนยันท่าทีที่แข็งกร้าวชัดเจน
3.ด้านเนื้อหาของข้อเสนอ เห็นว่าบีอาร์เอ็นแสดงจุดยืนชัดเจนว่ายึดอุดมการณ์เอกราชปัตตานี การโจมตีด้วยอาวุธจะดำเนินต่อไปหากยังไม่บรรลุอุดมการณ์นั้น ท่าทีครั้งนี้บีอาร์เอ็นได้วางข้อเสนอสูงสุดต่อรัฐไทย เพราะยังเชื่อว่ากำลังทหารของพวกตนยังสามารถปฏิบัติการได้ค่อนข้างเสรีและยังหาโอกาสก่อเหตุรุนแรงได้
4.นอกจากนั้นบีอาร์เอ็นยังตั้งใจยกฐานะของขบวนการ โดยให้รัฐไทยให้การรับรองสถานะที่เป็นขบวนการทางการเมืองที่กำลังต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยรัฐที่ถูกยึดครองโดยรัฐอื่น พร้อมกับยกระดับการพูดคุยให้สูงขึ้นเป็นระดับระหว่างประเทศ ด้วยการเสนอให้ดึงอาเซียน โอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) และเอ็นจีโอ เป็นผู้สังเกตการณ์
5.บีอาร์เอ็นตระหนักดีว่าไทยคงไม่ยอมรับข้อเสนอ แต่ทุกประเด็นที่ระบุไว้ในข้อเสนอมีความละเอียดอ่อนสำหรับฝ่ายไทยเป็นอย่างยิ่ง การทิ้งข้อเสนอไว้ทางสาธารณะเท่ากับโยนลูกให้ฝ่ายไทยเล่น ซึ่งเล่นยากกว่าบีอาร์เอ็น เพราะรัฐไทยเป็นผู้รับผลกระทบต่างๆ มากกว่า
6.การพูดคุยครั้งต่อไปอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญก็ได้ ขึ้นอยู่กับการวางเกมของฝ่ายเราที่ต้องใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่ายื่นข้อเสนอที่บีอาร์เอ็นต้องตั้งรับหรือแก้เกมบ้าง เช่น ให้ผู้โดนหมายจับสำคัญแสดงตน เป็นต้น เพราะลำพังเรื่องลดความรุนแรงไม่เพียงพอกดดันขบวนการ
7.เห็นว่าฝ่ายเราไม่ควรผ่อนปรนยอมรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นด้วยเหตุเพราะกลัวเรื่องความรุนแรง เพราะถึงอย่างไรความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นต่อไป ต่อให้ฝ่ายเรามีท่าทีโอนอ่อนผ่อนตาม ฝ่ายขบวนการก็จะก่อเหตุรุนแรงต่อไป
8.ฝ่ายเราน่าจะปรับวิธีการพูดคุย การใช้คณะทำงานย่อยพูดคุยทางลับน่าจะเป็นวิธีการที่ทำให้การพูดคุยต่อไปปลอดภัย สามารถเลือกกลยุทธ์หลายรูปแบบในการชิงความได้เปรียบ
9.ข้อเสนอนี้อาจนำไปสู่ความเห็นต่าง การวิพากษ์วิจารณ์ทางลบต่อแนวทางของรัฐบาล ควรรีบทำความเข้าใจกับฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายการเมือง และสังคม
10.รัฐบาลอาจถูกถามเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบต่อแนวทางการรับมือกับข้อเสนอของบีอาร์เอ็น ซึ่งน่าจะตอบได้ว่าเป็นเรื่องปกติของการพูดคุยที่ต้องมีข้อเสนอ ข้อต่อรอง แต่รัฐบาลยืนยันมาโดยตลอดว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นไม่ใช่หนทางไปสู่สันติสุข แต่เป็นความแข็งกร้าวที่นำความปลอดภัยของประชาชนเป็นตัวประกัน และรัฐบาลเป็นฝ่ายยื่นไมตรีไปแล้ว ถ้าขบวนการไม่สนองตอบประชาชนในพื้นที่จะตัดสินใจได้เองว่าใครที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ใครที่ต้องการให้สันติสุขเกิดขึ้นในพื้นที่ และใครเป็นอุปสรรค
เปิดให้แสดงตัวไม่ใช่เคลียร์หมายจับ - พ.ร.ก.ยังไม่เลิก
สำหรับท่าทีของแกนนำคณะพูดคุยสันติภาพนั้น ในทางเปิด พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุุตร เลขาธิการ สมช. ได้เตรียมดำเนินการหลายเรื่องดังนี้
1.การอำนวยความยุติธรรมเรื่องหมายจับ ที่ประชุม ศปก.กปต.เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พ.ค.2556 มีมติให้ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ถูกออกหมายจับ ทั้งหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) และหมาย ป.วิอาญา (ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) มามอบตัว หรือจะสื่อสารเพื่อแสดงความประสงค์จะเข้ามาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ก็ได้ ซึ่งสามารถแสดงตัวได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขณะนี้มีการรายงานตัวผ่านกองทัพภาคที่ 4 มาบ้างแล้ว
2.ลดพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และทางจังหวัด โดยเบื้องต้นอาจยกเลิกประกาศจังหวัดละ 1-2 อำเภอ
3.ข้อเสนอให้ตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อพูดคุยในทางลับ พล.ท.ภราดร บอกว่า ในทางปฏิบัติคณะผู้แทนที่ไปพูดคุยมีหลักการร่วมกันอยู่แล้วว่าสามารถตั้งคณะย่อยเพื่อดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้ แต่ตอนนี้ยังใช้คณะหลักพูดคุยอยู่ ส่วนการเจรจาทางลับคงเป็นโอกาสต่อไป
ดันออกแถลงการณ์ "ไทย-บีอาร์เอ็น" ร่วมสร้างสันติสุข
อย่างไรก็ดี มีการเคลื่อนไหวหารือในทางปิดของแกนหลักคณะพูดคุยสันติภาพ สรุปว่าจะมีการดำเนินการเพิ่มเติมดังนี้
1.ผลักดันให้เกิดการออกแถลงการณ์ร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการสร้างสันติสุขในพื้นที่ด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันของสังคมต่อปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ที่ยังไม่ลดระดับลง และเพิ่มแรงกดดันไปยังบีอาร์เอ็น แม้จะยังไม่ส่งสัญญาณชัดให้ลดเหตุรุนแรงก็ตาม
2.ตั้งคณะทำงานย่อยจากนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนาอิสลาม และอัตลักษณ์มลายู เพื่อถอดรหัสในข้อเรียกร้องของแกนนำบีอาร์เอ็นในเรื่อง "สิทธิความเป็นเจ้าของ" และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน
3.เดินหน้าโครงการย้ายนักโทษคดีความมั่นคงกลับไปคุมขังยังเรือนจำในภูมิลำเนาของตน และประสานอัยการสูงสุดพิจารณาเรื่องถอนฟ้องและเพิกถอนหมายจับคดีความมั่นคงบางส่วน โดยอาจเริ่มจากขั้นวางกรอบการพิจารณา
4.ประสานฝ่ายความมั่นคงเรื่องการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางพื้นที่ และลดความเข้มในปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม
5.ตั้งคณะทำงานชุดเล็กเพื่อประสานใกล้ชิดกับคณะทำงานชุดเล็กของบีอาร์เอ็นที่จะมีการจัดตั้งขึ้นเช่นกัน เพื่อทำงานในแง่แลกเปลี่ยนข้อมูลและกำหนดประเด็นก่อนถึงวาะการประชุมของคณะพูดคุยชุดใหญ่
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การประชุมนอกรอบของคณะผู้แทนพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย ที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออต กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ก่อนการพูดคุยกับผู้แทนฝ่ายบีอาร์เอ็น