“กฤษณพงศ์” ชี้ ร.ร.เล็กที่มีคุณภาพ อย่ายุบ ติงสื่อรายงานไม่ครบ ทำสังคมตกใจ
ดร.กฤษณพงศ์ มองนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กในปัจจุบัน เป็นผลสะท้อนแนวโน้มประชากรวัยเด็กที่ลดลง ผู้เรียนในระบบการศึกษาเด็กไม่เพียงพอ
วันที่ 10 พ.ค. ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) (คนที่ 2) กล่าวในการประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ที่จัดโดย สสค. ที่โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส ถึงนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กว่า ตามที่มีข่าวออกมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สังคมอาจเกิดความสับสนจากการรายงานข่าวอย่างไม่ครบถ้วนของสื่อ ส่วนตัวคิดว่าโรงเรียนขาดเล็กที่มีคุณภาพ หรืออยู่ในถิ่นห่างไกลไม่ควรถูกยุบ ทั้งนี้ต้องปรึกษากับชุมชนด้วยว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมได้หรือไม่ คงไม่ได้หมายความว่าจะปิดทั้งหมด แต่มีจะมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ใช้พิจารณา
“ผมไม่แน่ใจว่าท่านรัฐมนตรีไม่ได้พูดออกมาทั้งหมดหรือสื่อจับความไม่ได้หมด จับแต่ประโยคแรกว่า จะยุบแล้วเอาไปเป็นประเด็นข่าว สังคมเลยตกอกตกใจ ถ้ามีการยุบโรงเรียนไปเฉย ๆ คนจะตกใจ โรงเรียนที่มีคุณภาพไม่ควรถูกปิด หรือโรงเรียนที่อยู่บนภูเขาจะไปปิดไม่ได้ ต้องดูรายละเอียดในระดับจุลภาค ส่วนกรณีต่างประเทศ เช่น ประเทศตะวันตก อาจมีโรงเรียนขนาดเล็กบ้าง แต่ไม่มาก หมู่บ้านของเขาไม่ได้อยู่กระจัดกระจาย ต่างกับของไทย และหมู่บ้านแต่ละแห่งของเขามีอินเทอร์เน็ตเข้าถึง ถนนหนทางดี จึงต้องดูในบริบทของประเทศไทยด้วยว่าเป็นอย่างไร” ดร.กฤษณพงศ์กล่าว
รองประธานคณะกรรมการ สสค. กล่าวอีกว่า นโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กในปัจจุบันเป็นผลสะท้อนของแนวโน้มประชากรวัยเด็กที่ลดลง ผู้เรียนในระบบการศึกษาเด็กไม่เพียงพอ เนื่องจากการศึกษาไทยยึดตามกลุ่มอายุ เด็กโตไม่สามารถเรียนระดับเดียวกับเด็กเล็ก ทำให้โรงเรียนระดับล่างมีแนวโน้มจะเริ่มร้างลงเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับคนวัยทำงาน ซึ่งปัจจุบันมีประชากรในวัยทำงานราว 35-40 ล้านคน ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มีคุณภาพให้แก่คนวัยทำงาน โดยผ่านการศึกษา การฝึกอบรม และการเรียนรู้ต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราไม่เคยให้ความสำคัญเลย การจัดการศึกษาสมัยใหม่ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ใช้เงินราวสี่แสนกว่าล้านบาทกับประชากรในวัย 6-12 ปีเพียง 13 ล้านคน และเกือบไม่ได้ใช้เงินเลยกับคนทำงานกว่า 35 ล้านคน
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวด้วยว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ 2.35 ล้านล้านบาท ในการขนส่งระบบรางและการบริหารจัดการน้ำ ประมาณการว่าจะเกิดการจ้างงานราวห้าแสนคน แต่ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้คิดให้ความสำคัญกับการเตรียมพัฒนาคน ทั้งในช่วงก่อนก่อสร้าง ช่วงดำเนินการ และช่วงบำรุงรักษา ที่จะมาทำหน้าที่อัพเกรด ซ่อมบำรุง โครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น ในที่สุดงานเหล่านั้นจะต้องตกไปอยู่กับคนต่างชาติ
“ในแคลิฟอร์เนียเคยมีโครงการสร้างทางรถไฟคล้าย ๆ ของไทย แต่ที่นั่นมีการแบ่งสัดส่วนชัดเจนว่าจะมีการจ้างแรงงานและบุคลากร จากท้องถิ่นและภายนอกเท่าใด ทำให้เกิดการพัฒนาคนอย่างเป็นระบบ แต่โครงการของไทยเน้นการจ้างงานจากภายนอก รวมถึงชาวต่างชาติ” รองประธานคณะกรรมการ สสค. กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุมเสวนาดังกล่าวในหัวข้อ “การพัฒนาทักษะอาชีพและโลกของการงาน” เกศรา อมรวุฒิวร ผู้จัดการโปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา สถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวรายงานถึงสถานการณ์วิกฤตการศึกษาไทยตอนหนึ่งว่า เสียงจากผู้ประกอบการสะท้อนว่า แรงงานไทยอ่อนทักษะหลายด้าน โดยเฉพาะทักษะภาษาอังกฤษ ไอที คณิตศาสตร์ การสื่อสาร และการแก้ปัญหา ทั้งนี้การศึกษาไทยถูกจัดอันดับว่าด้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยคุณภาพการจัดการศึกษาโดยรวมของไทย อยู่อันดับที่ 78 ด้อยกว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์.
ที่มาภาพ http://bit.ly/133XJ5e